ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เริ่มแล้ว “แบงก์ชาติ” ออกเกณฑ์คุมเข้ม ห้ามธนาคารโฆษณาชักจูงก่อหนี้ ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม


หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งหนังสือเวียนให้กับสถาบันการเงินภายใต้กำกับทุกแห่ง เรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lendling) โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา

โดยเหตุผลที่ออกเกณฑ์ดังกล่าว ต้องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lendling) เนื่องจากหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามลำดับจากเดิมอยู่ที่ 76% ต่อ GDP ในปี 2555 มาอยู่ที่ 84% ต่อ GDP ในปี 2562 และถูกซ้ำเติม
รุนแรงขึ้นในช่วงโควิด 19 ที่ 95% ต่อ GDP ในปี 2564

ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อยกระดับการปฏิบัติตามหนังสือเวียน เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ให้มีความครอบคลุมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยใช้เป็นหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารจัดกรด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct)

โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรการเป็นหนี้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การพัฒนาและการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ การให้สินเชื่อใหม่อย่างมี คุณภาพ การดูแลช่วยเหลือหนี้เดิมโดยเฉพาะหนี้เรื้อรังและหนี้เสีย จนถึงการดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายหนี้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกค้า (nudge) ตลอดวงจรหนี้และส่งเสริมวินัยทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว

ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ให้บริการมีการจัดการด้านการให้บริการอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ผู้ให้บริการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

สำหรับหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ( Responsible Lending) เป็นหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ประกอบด้วยหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อ ตลอดวงจรการเป็นหนี้ ครอบคลุม 8 ด้าน ดังนี้

  1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ
  2. การโฆษณา
  3. กระบวนการขาย
  4. การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (affordability)
  5. การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในช่วงเป็นหนี้
  6. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง
    (Persistent Debt)
  7. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (non-NPL ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (pre-emptive DR) และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (TDR)
  8. การดำเนินตามกฎหมายและการโอนขายหนี้
    ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น