ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

สคช. ร่วมถกวงเสวนาผ่านไทยพีบีเอส เนื่องในวันช้างไทย พร้อมร่วมผลักดันดูแลสวัสดิภาพช้างให้ดีขึ้น พร้อมยกระดับควาญช้างให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ


ที่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.) หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมเสวนาเนื่องในวันช้างไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีโอกาสนี้ นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมในการเสวนา “ในรอบปีที่ผ่านมากับปัญหาช้างไทย” ซึ่ง มี ผู้แทนกรมปศุสัตว์ , คุณธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย , รศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม อาจารย์จากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ อาจารย์จากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลับเกษตรศาสตร์ ร่วมในวงเสวนา

 

 

นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความผูกพันกับช้างอย่างลึกซึ้ง ตามที่เรามักจะเคยเห็นตามร่องรอยหลักฐาน ที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพัน ระหว่างคนกับช้าง ล้วนแล้วแต่เปี่ยมล้นไปด้วยความผูกพัน ความเชื่อ ความศรัทธา อีกทั้ง ช้าง ยังมีบทบาทสำคัญต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน แน่นอนว่าสถานการณ์ช้าง ไม่ว่าจะเป็นช้างป่า หรือช้างบ้าน ที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานพยายามที่จะผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติช้าง ที่เราเชื่อว่าจะเป็นการคุ้มครอง และรักษาดูแลช้าง ให้ได้รับการเลี้ยงดูที่และมีการจัดสวัสดิภาพที่เหมาะสม ช้างเป็นเหมือนจุดเด่นของประเทศไทย ที่เมื่อนึกถึงช้าง ต้องไทยแลนด์ เช่นเดียวกับมวยไทย หรืออาหารไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยต้องให้ความสำคัญ และหากมองลึกลงไป จะเห็นว่า บุคคลที่มีส่วนสำคัญและอยู่ใกล้ชิดกับช้างมากที่สุด ที่เราเรียกกันว่า “ควาญช้าง” ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญมากๆ เปรียบเสมือน “พ่อ” หรือ “ครู” ของช้าง เพราะมีหน้าที่ดูแลช้าง เป็นผู้ที่สั่งสอนและเลี้ยงดู เรียกว่าตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น หากควาญช้างมีคุณภาพดี ก็จะส่งผลไปถึงการดูแลช้างที่ดีด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับความสำคัญของควาญช้างด้วย

 

 

ตั้งแต่ปี 2564 สถาบันฯ ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพ ด้วยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาบุคลากรควาญช้างและการรับรองสมรรถนะควาญช้างให้ได้ตามมาตรฐานอาชีพ โดยผู้ที่จะมีคุณสมบัติในการประกอบอาชีพนี้ต้องประกอบด้วย ความรู้ด้านทฤษฎี และมีทักษะในการดูแลเลี้ยงช้าง สามารถดูแลสุขอนามัยของช้าง มีทักษะในการทำความสะอาดช้าง สามารถตรวจสภาพทั่วไปของช้าง ผิวหนัง และร่องรอยบาดแผล หรือสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับช้าง การรักษาพยาบาลช้างเบื้องต้นได้ เราจึงมุ่งหวังว่าการที่ช้าง โดยเฉพาะช้างบ้าน จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ควาญช้างควรมีความรู้และมีทักษะในการดูแลสุขภาพช้าง สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้คนว่าควาญช้างสามารถดูแลช้างโดยปราศจากการปฏิบัติอย่างทารุณ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างมาตรฐานอาชีพให้กับผู้ประกอบอาชีพควาญช้าง เป็นการสร้างอาชีพให้ผู้ที่สนใจอยากจะสืบทอดการเป็นควาญช้างจากรุ่นสู่รุ่น เป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตานักท่องเที่ยว ที่สำคัญยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาควาญช้าง เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทยและเชิดชูควาญช้างไทย

 

 

ด้าน นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีช้างบ้านรวมกันทุกปางในประเทศไทยราวๆ 3,800 เชือก เท่ากับมีควาญช้างในจำนวนเท่าๆกัน จึงจะพยายามยกระดับควาญช้างให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อสร้างมาตรฐานในการดูแลสวัสดิภาพช้างให้เหมาะสม และเชื่อมโยงให้สอดรับกับมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างต่อไป