เข้าสู่ฤดูหนาวแบบนี้แน่นอนว่าเมนูยอดนิยมรับลมหนาวคงหนีไม่พ้น “หมูกระทะ” แล้วรู้หรือไม่ว่าการเปิดร้านหมูกระทะต้องใช้งบลงทุนเท่าไหร่ และต้องเตรียมอะไรบ้าง วันนี้ ชี้ช่องรวย จะมาบอกรายละเอียดงบลงทุนโดยประมาณซึ่งจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย มาดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง จำนวน 10 โต๊ะ (ร้านขนาดเล็ก) เป็นเกณฑ์ งบลงทุนทั้งหมดทุกสิ่งอย่างอยู่ที่ 50,000 – 100,000 บาท (จะมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับการตกแต่งร้าน)
สำรหรับต้นทุนอุปกรณ์ทั้งหลายจะไม่ขอลงรายละเอียดมากนักแต่โดยรวมแล้วจะอยู่ที่ไม่เดิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็น เตา กระทะ โต๊ะ เก้าอี๊ และอื่นๆ เมื่อรู้เบื้องต้นแล้วก็จะเข้าสู่ต้นทุนการบริหารจัดการ โดยผู้ประกอบการควรกำหนดยอดขายต่อวันตั้งไว้ เพื่อจะได้ทราบถึงต้นทุนวัตถุดิบ ในทีนี้กำหนดให้ยอดขายต่อวันอยู่ที่ 10,000 บาท แบ่งออกเป็นต้นทุนดังนี้
- ต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหาร 2,500 บาท
- ต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ 1,500 บาท
- ต้นทุนคงที่อยู่ที่ 1,000 บาท
- ต้นทุนผันแปรอยู่ที่ 1,000 บาท
จะเห็นได้ว่าต้นทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ 6,000 บาท ต่อวัน ดังนั้น กำไรโดยประมาณจะอยู่ที่วันละ 4,000 บาท ซึ่งการตั้งเป้า “ยอดขาย” จะทำให้ประมาณการได้ว่าเราจะมีกำไรต่อวันเท่าไหร่ แต่ถึงอย่างไรยอดขายจะมากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับราคาด้วย เพราะต้องขึ้นอยู่กับ ค่าเช่าสถานที่ ค่าตกแต่งร้าน ค่าการตลาด ค่าราคาวัตถุดิบในแต่ละวัน รวมถึงคู่แข่งที่อยู่โดยรอบ สิ่งเหล่านี้ผู้ลงทุนต้องอาศัยความชำนาญในการหาเทคนิคลดต้นทุนตัวเองให้ได้มากที่สุดเพื่อโอกาสในการมีกำไรที่มากขึ้น
เทคนิคสำคัญทำให้ร้านหมูกระทะมีกำไร
1.ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่าที่สุดที่มากินร้านเรา
ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจที่ราคามากนัก หาวัตถุดิบที่ได้ทานน่าสนใจหรือรู้สึกว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ดังนั้นไม่ว่าเราจะตั้งราคาเท่าไหร่ 129 159 189 299 สิ่งสำคัญอยู่ที่การเสิร์ฟความคุ้มค่าให้ลูกค้ามากที่สุด
2.เก็บรายละเอียดพัฒนาการบริหารต้นทุน
แน่นอนว่าในช่วงแรกเราไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ว่าต้นทุนไหนจะมากหรอน้อย โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบ ดังนั้นการเก็บข้อมูลประมาณการถือเป็นสิ่งสำคัญเราต้องรู้ก่อนว่าในแต่ละเมนูมีต้นทุนเท่าไหร่ มีส่วนประกอบอะไรบ้าง อย่างละกี่กรัม เมนูไหนออกมากหรือออกน้อย การรู้ความต้องการของลูกค้าที่สัมพันธ์กับเมนูสามารถลด food costs ได้
3.ลดต้นทุนของเสียให้มากที่สุด
ในส่วนนี้หากเป็นร้านที่ขายในรูปแบบชุด ควรเน้นการจัดเซ็ตที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนักแต่ต้องเหมาะสมกับราคา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าได้สั่งเพิ่มในเมนูอื่นๆ ในส่วนของร้านบุฟเฟ่ต์ ต้นทุนของเสียอาจไม่มากเท่าไหร่นัก เพราะการขายแบบบุฟเฟต์จะมีจำนวนของวัตถุดิบที่ปล่อยออกมาจำนวนมาก หรือ มีการสต็อกวัตถุดิบเอาไว้ซึ่งนั่นหมายถึงวัตถุดิบที่ขายไม่หมดสามารถเก็บรักษาไว้ได้
4.รสชาติต้องดี วัตถุดิบมีคุณภาพ
พึงระลึกไว้เสมอว่าแม้จะเป็นร้านอาหารแนวบุฟเฟ่ต์ก็ตาม สิ่งที่ลูกค้าอยากได้รับก็คืออาหารที่รสชาติอร่อยและได้คุณภาพด้วย ในไลน์อาหารปรุงสำเร็จคุณต้องควบคุมรสชาติให้คงเส้นคงวาเสมออย่าให้พลาด และในไลน์ของอาหารสด วัตถุดิบคุณก็ต้องสดจริง อย่าได้เอาของค้างเก่าหลายวันมาให้บริการเด็ดขาดเพราะนอกจากคุณภาพจะลดลงไปแล้ว มันก็ยังมีโอกาสเน่าเสียได้อีกด้วย ถ้าแม้แต่คุณเองยังไม่ทานของเน่าเสียหรือของไม่อร่อยและไม่มีคุณภาพ ลูกค้าเขาก็คิดไม่ต่างจากคุณเช่นกัน
5.ใส่ใจเรื่องความสะอาด
ร้านหมูกระทะ ถือ เป็นร้านอาหารแบบบริการตัวเอง ไม่ว่าจะแบบบุฟเฟต์หรือแบบชุด จุดอ่อนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องของความสะอาดไม่ว่าจะเป็นตัวสถานที่ หรืออาหารทั้งอาหารสดและปรุงสำเร็จมันมีกรณีเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับการไม่สนใจเรื่องความสะอาดและท้ายที่สุดก็จบไม่สวยสักร้าน
6.คิดให้ดีก่อนจัดโปรโมชั่น
การทำโปรโมชั่น ถือเป็นวิธีการเพิ่มยอดขายได้ดี โดยเฉพาะพวกโปรลดราคา หรือมา 3 จ่าย 2 อะไรพวกนี้แม้จะดึงดูดลูกค้าได้แต่โอกาสเสี่ยงเจ๊งก็มีสูง วิธิที่ดีที่สุดคือเราต้องรู้ตัวเองว่าขายอะไรและขายใคร โปรโมชั่นอาจทำให้ได้ลูกค้าใหม่แต่ก็อาจเสียฐานลูกค้าเก่าได้เช่นกัน ดังนั้นโปรโมชั่นจึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและไม่ควรมีบ่อยมากจนเกินไป