เกือบทุกครัวเรือนในประเทศมักมีสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคลายเหงาสำหรับทุกเพศวัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเด็กและวัยสูงอายุ โดยสัตว์เลี้ยงมีหลายประเภท เช่น สุนัข แมว กระต่าย และนก เป็นต้น แต่สัตว์เลี้ยงที่เรียกได้ว่าได้รับความนิยมมาก คือ สุนัขและแมว
จากการสำรวจของสำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9 ในปี 2559 พบว่าทั่วประเทศมีจำนวนสุนัขและแมวกว่า 10.4 ล้านตัว ในขณะที่ปี 2561 ได้มีการสำรวจล่าสุดจาก ฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว (Pet Register) ของกรมปศุสัตว์ สำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่รวมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีจำนวนสุนัขและแมวทั้งสิ้น 5,573,166 ตัว
ในจำนวนนี้เป็นสุนัขและแมวที่มีเจ้าของ 5,549,905 ตัว หรือคิดเป็น 99.58% และเป็นสุนัขและแมวที่ไม่มีเจ้าของ 23,261 ตัว คิดเป็น 0.42 % โดยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสุนัขมากกว่าแมวเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และมีจำนวนของสุนัขและแมวในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมกันมากกว่า 60% ของจำนวนสุนัขและแมวที่มีเจ้าของทั้งหมด
ภาพรวมของธุรกิจสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มเติบโตทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบการเงิน 2560 ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีรายได้สูงสุดในรอบ 5 ปี (ปี2556 -2560) และมีอัตราเติบโตถึง 51 % เมื่อเทียบกับปี 2556
นอกจากนี้ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยงก็มีแนวโน้มการขยายตัวจัดตั้งธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2561 มีการจัดตั้งธุรกิจจำนวน 13 ราย เพิ่มขึ้น 18.18% เมื่อเทียบกับปี 2560 ในส่วนของมูลค่าทุนจดทะเบียนปี 2561 ที่มีมูลค่า 18 ล้านบาท ลดลง 21.74% เมื่อเทียบกับปี 2560
รายได้ของธุรกิจเติบโตในอัตราที่เร่งขึ้นตลอดช่วงปี 2558-2560 และในปี 2560 มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 35.17% ทั้งจากจำนวนผู้ประกอบการซึ่งจดทะเบียนเป็นธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในตลาด และด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่างไรก็ตามธุรกิจยังประสบภาวะขาดทุนในบางปี ซึ่งมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยของธุรกิจที่กำไร:ขาดทุนที่ 50:50ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดทุนในปีแรกของการจัดตั้งธุรกิจ
ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยง ที่ดำเนินกิจกำรอยู่ จำนวน 59 ราย มูลค่าทุน 94.18 ล้านบาท ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบบริษัทจำกัดจำนวน 45 ราย คิดเป็น 76.27% มีมูลค่าทุนอยู่ที่ 76.27 ล้านบาท คิดเป็น 83.18% โดยทั้งหมดมีมูลค่าทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท ธุรกิจนี้มีการเพิ่มทุนสูงขึ้นในช่วงปี 2561 เป็น 23 ล้านบาท จากเดิม 0.50 ล้านบาท ในปี 2560 คิดเป็น 45 เท่า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจรองรับความต้องการของผู้บริโภค
ผลประกอบการธุรกิจ (ปี 2558-2560) รายได้ของธุรกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 มีรายได้รวม 40.14 ล้านบาท เติบโตคิดเป็น 35.37% ซึ่งเติบโตทั้งจำนวนผู้ประกอบการที่เข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเภทธุรกิจนี้มากยิ่งขึ้น และเติบโตจากรายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งการเติบโตของรายได้ของนิติบุคคลนี้สะท้อนการขยายตัวของธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
แนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงและดูแลสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้รายได้ของธุรกิจเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นตลอดช่วงปี 2558-2560 โดยเพิ่มขึ้น 8.12% ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 19.01% ในปี 2559 และเพิ่มขึ้น 35.37% ในปี 2560 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยต่อรายของนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงิน พบว่าปี 2559 มีรายได้เฉลี่ยต่อรายที่ 1.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 9.09% ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่ารายได้รวมในขณะที่ในปี 2560 มีรายได้เฉลี่ยต่อรายที่1.15 ล้านบาท ลดลงคิดเป็น 7.18% จากการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังมีรายได้ไม่สูงนักในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ รวมถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น
เทคนิคการทำการตลาด
การที่สัตว์เลี้ยงที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่จะตอบสนองต่อแนวโน้มนี้ทั้งในด้านสินค้าและบริการโดยเฉพาะธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยงที่ได้รับอานิสงค์ไปด้วย อย่างไรก็ตามในอนาคต อาจมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆเข้ามาในธุรกิจมากขึ้น
ดังนั้นผู้ประกอบการต้องอาศัยการให้ความสำคัญและใส่ใจกับกลุ่มผู้ใช้บริการ เพื่อสร้างฐานลูกค้าของตัวเอง เนื่องจากผู้ใช้บริการในกลุ่มนี้ต้องการความไว้วางใจ ความสะอาดและปลอดภัยให้แก่สัตว์เลี้ยง ให้ได้รับการดูแลเปรียบได้กับสมาชิกของครอบครัว การเลือกทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการเดินทางของผู้นำสัตว์เลี้ยงมาฝาก รวมถึงการสร้างพันธมิตรในเครือข่ายกลุ่มธุรกิจเดียวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง มีการเข้าร่วมกลุ่มเพื่อจัดงานแสดงสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยง
ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า หรือการใช้เทคโนโลยี สื่อออนไลน์ และ Social Media เข้ามาช่วยในการเพิ่มช่องทางการประสัมพันธ์ การจองเพื่อเข้าใช้บริการ หรือการติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มลูกค้าและผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงให้สามารถติดตามการดูแลสัตว์เลี้ยงได้อย่างใกล้ชิดกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในการใช้บริการมากขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมพัฒนาธุรกิจ