เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 ที่มีความชัดเจนว่า ในปีนี้ภาคการส่งออกไม่สามารถเป็นแกนนำในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากสารพัดปัจจัยลบในต่างประเทศรุมเร้า ทั้งปัญหาดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตลอดทั้งปี เป็นผลกระทบมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กดดันให้เศรษฐกิจโลกไม่ขยายตัว รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่ระดับ 3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ปรับลดการคาดการณ์ปี 2567 ลงจากเดิม 3.0% เหลือ 2.9% IMF ระบุว่า การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) แต่ IMF กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน ความแตกแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอีกครั้งจึงปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ลงเหลือ 2.9%
ส่งออกปี 2567 ฟื้น ช่วยดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า แม้หลายหน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจจะมองตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยเดิม ๆ แต่ดัชนีชี้วัดสภาวะส่งออกล่วงหน้า (EXIM Index) เริ่มมีการขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยล่าสุด EXIM Index ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 100.04 จาก 99.6 ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสที่ดัชนีมีค่ามากกว่า 100 สะท้อนมูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาสถัดไป คือ ไตรมาส 4 ปี 2566 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ซึ่งโมเมนตัมการส่งออกที่มีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 เป็นต้นไปจะช่วยหนุนให้การส่งออกปี 2567 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวและกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง
“การส่งออกจะพลิกกลับมาเติบโตได้ กลายเป็นดาวอุปถัมภ์เศรษฐกิจไทยอย่างโดดเด่นได้ เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรได้รับผลบวกจากเอลณีโญ่ ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันสูงขึ้น ปัญหาด้านอุปทานคลี่คลาย ค่าระวางเรือลดลง สถานการณ์ขาดแคลนชิปดีขึ้น ความต้องการสินค้าไทยยังมีโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารได้รับผลบวกจาก Food Security” ดร.รักษ์ กล่าว
สำหรับความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ของโลกที่ผ่านมามักจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าผลเสีย โดย Trade War ระหว่างสหรัฐฯ และจีนช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนในไทยจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ส่วนความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดวิกฤติราคาอาหารและพลังงาน ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนสถานการณ์สงครามอิสราเอลและฮามาสยังต้องรอติดตามดู แต่ปัจจุบันทำให้ราคาน้ำมันและทองคำปรับตัวสูงขึ้น หากยืดเยื้ออาจเป็น New Wave ของปัญหาเงินเฟ้อได้
เตือนผู้ส่งออกรับมือการกีดกันทางการค้าผ่านมาตรการสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด
ดร.รักษ์ กล่าวว่า แม้การส่งออกไทยในปี 2567 ดูจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายใหม่ที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ สารพัดมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่นานาประเทศต่างหยิบยกขึ้นมาใช้อย่างเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในขณะนี้มีการออกมาแล้ว 18,000 ฉบับและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นปีละ 12% ทั้งมาตรการตามความสมัครใจอย่างการติดฉลากสิ่งแวดล้อม (Ecolabel) สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีกระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้พลังงานหมุนเวียน และนำของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ซ้ำ และมาตรการบังคับ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งเป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นต่าง ๆ เนื่องจากสาร CFC มีผลทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน รวมถึงการห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลก
“มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากในขณะนี้ คือ การเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งมีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้ในหลายประเทศ เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของประเทศให้เป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) รวมทั้งเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศไม่ให้เสียเปรียบผู้ผลิตจากต่างประเทศที่มาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดน้อยกว่า” ดร.รักษ์ กล่าว
ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ใช้มาตรการภาษีคาร์บอนแล้ว คือ สหภาพยุโรป (EU) ที่เริ่มใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) กับสินค้า 6 ประเภท ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยผู้นำเข้าสินค้า 6 ประเภทดังกล่าวมา EU ต้องรายงานข้อมูลการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อมของสินค้าแก่ EU ทุกไตรมาส แต่ยังไม่ต้องเสียภาษีคาร์บอนไปจนกระทั่ง EU เริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM เต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ CBAM จะต้องเริ่มจ่ายภาษีคาร์บอนผ่านการจ่ายค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี โดยจะคิดจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่นำเข้าคูณด้วยราคาเฉลี่ยรายสัปดาห์ของการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของ EU หักด้วยราคาคาร์บอนที่ชำระในประเทศผู้ผลิตแล้ว หรือหักด้วยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Free Allowances) ตามสัดส่วนที่ EU กำหนด
ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า ยังมีกฏหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Regulation : EUDR) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาด EU โดยครอบคลุมสินค้าโค-กระบือ โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ถั่วเหลือง และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์บางชนิดจากสินค้าเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 และผู้ประกอบการ SMEs ในวันที่ 30 มิถุนายน 2568
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย EUDR คือ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้ามายัง EU ต้องจัดทำเอกสาร Due Diligence ก่อนจำหน่ายสินค้า เพื่อยืนยันว่าสินค้าที่ผลิตไม่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่า โดยมีรายละเอียดตามที่ EU กำหนด เช่น การระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geolocation) ของที่ดินทุกแปลงที่ใช้เพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยว การแสดงภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับที่ดิน รวมถึงการมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินเพื่อยืนยันความถูกต้องตามกฎหมาย
เปิดกลยุทธ์ ‘รับมือ ช่วยเหลือ เติมกำลังใจ’ช่วยผู้ประกอบการ SMEs
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า จากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในปี 2567 สำหรับธุรกิจรายใหญ่ยังไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีฐานทุนและมีความพร้อมในการปรับตัวมากกว่ารายย่อย ที่น่าเป็นห่วงคือจำนวน SMEs ไทยกว่า 3 ล้านราย ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ล้านรายเท่านั้นที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จำนวน 7.4% และมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่แม้ยังไม่ปิดกิจการแต่เริ่มมีสัญญาณที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือที่เรียกว่า Zombie Firms ดังนั้น EXIM BANK จึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้ “รบอย่างมีกลยุทธ์” ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ต่อสู้กับความท้าทายและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งยังเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น โดยดูแลทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่อย่างเต็มที่ และนำเสนอทางแก้ไขปัญหาธุรกิจอย่างครบวงจร (Total Solutions) ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่าง ๆ นโยบายของ EXIM BANK ต่อลูกค้า SMEs คือ การ ‘รับมือ ช่วยเหลือ เติมกำลังใจ’ โดยเจ้าหน้าที่ EXIM BANK ต้องออกเยี่ยมลูกค้า SMEs ทุกราย เพื่อตรวจเช็กสุขภาพธุรกิจและสอบถามความต้องการที่จะให้ EXIM BANK ช่วยเหลือ โดยเฉพาะลูกค้าที่เก่งและดี EXIM BANK พร้อมสนับสนุนการขยายธุรกิจและให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การให้สินเชื่อต้องอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง เงื่อนไขและหลักประกันเหมาะสม มีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม มุ่งยกระดับประสิทธิภาพของภาคธุรกิจตลอดทั้ง Supply Chain อย่างเป็นมืออาชีพ” ดร.รักษ์ กล่าว
EXIM BANK จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ สำหรับลูกค้า SMEs อย่างต่อเนื่องโดยสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า นำผลที่ได้รับจากออกไปเยี่ยมเยียนลูกค้ามาวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำการตลาดของธนาคารในการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่และสนับสนุนช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงและสนับสนุน SMEs ไทยที่มีศักยภาพให้เติบโตและขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย
SMEs ไทยต้องปรับตัว 4 ด้าน เพื่อความอยู่รอด
อย่างไรก็ดี แม้ EXIM BANK จะมีแผนงานและกลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs แต่ผู้ประกอบการเองก็จะต้องตระหนักว่าธุรกิจของตนเองมีภูมิคุ้มกันรองรับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ ๆ อย่างไร ที่ผ่านมาแม้ SMEs ไทยต้องเผชิญคลื่นความไม่แน่นอนและความท้าทายของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจหลากหลายมิติ แต่ก็มี SMEs ไทยจำนวนไม่น้อยที่สามารถฝ่าคลื่นลมอันรุนแรงออกไปแล่นเรือในน่านน้ำแห่งโอกาสได้ โดยใช้จุดแข็งจากความยืดหยุ่นและการปรับตัวที่ค่อนข้างไว ไม่ว่าจะเป็นการจับเทรนด์ผู้บริโภคที่กำลังมาแรง การมองหาตลาด/กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ รวมไปถึงการปรับสินค้าให้สอดรับกับมาตรการทางการค้าต่าง ๆ ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที พร้อมกับไม่พลาดโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดโลก เห็นได้จากทิศทางการส่งออกของ SMEs ในช่วงที่ผ่านมาที่เติบโตได้ดีจนขยายตัวถึง Double Digits ท่ามกลางภาพรวมการส่งออกของไทยที่เผชิญความท้าทาย ล่าสุดภาพรวมมูลค่าส่งออกของ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 25,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวในระดับสูงถึง 26.2%
ดร.รักษ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบทโลกที่มาพร้อมโอกาสและความท้าทายในหลาย ๆ ด้านทำให้ SMEs ไทยต้องเตรียมปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก ดังนี้
ปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : หลายคนอาจมองว่าการลงทุนปรับธุรกิจให้เป็นสีเขียวจะเพิ่มต้นทุนและลดผลกำไรของกิจการ แต่หากประเมินในระยะกลาง-ยาว พบว่าหลายบริษัททั่วโลกมีต้นทุนลดลงและผลประกอบการดีขึ้น จากผลสำรวจของ OECD ชี้ว่ากลุ่มตัวอย่าง SMEs ใน EU ที่ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่า (Circular Business Model) มีต้นทุนการผลิตลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 23% สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Moore Global บริษัทที่ปรึกษาทางบัญชีและธุรกิจ ที่ระบุว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อย่างมากจะมีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรสูงกว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญน้อยถึง 2.2 และ 2.5 เท่า ตามลำดับ สอดคล้องกับแนวโน้มผู้บริโภคยุคใหม่ที่มักซื้อสินค้าและบริการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังสอดรับกับ Global Value Chain ของบริษัทขนาดใหญ่ที่กำหนดให้ Supplier ต้องผ่านมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งการปรับธุรกิจสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถทำได้ตลอด Supply Chain ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการผลิตไปจนสินค้าถึงมือผู้บริโภค ทั้งการจัดการวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต การใช้พลังงาน และการขนส่ง รวมถึงแหล่งที่มาของเงินทุน ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือทางการเงินหลายด้านที่มาตอบโจทย์ในเรื่องนี้ เช่น Climate Finance หรือการจัดหาเงินทุนสำหรับธุรกิจที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ผ่านมา Climate Finance ได้รับการตอบโจทย์จากบริษัททั่วโลกอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554-2564 ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 9% โดยในปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ราว 8.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น คาดว่าภายในปี 2573 จะมีความต้องการ Climate Finance เพิ่มขึ้นอีกราว 6 เท่าจากปัจจุบัน ทั้งนี้ การปรับธุรกิจให้เป็นสีเขียวและมีความยั่งยืน ไม่เพียงตอบโจทย์ผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่ยังสอดรับกับมาตรการทางการค้าทั่วโลก ช่วยให้สินค้าของ SMEs ไทยผ่านด่านต่าง ๆ ที่หลายประเทศวางไว้อย่างเข้มงวดได้
ปรับตัวรับ Supply Chain หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ภาคธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญ คือ Supply Chain Shock การสะดุดลงของห่วงโซ่อุปทานในสายการผลิต โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนทำให้ยอดการผลิตยานยนต์ทั่วโลกลดลงราว 15% ในปี 2563 ทั้งนี้ Supply Chain Shock เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ภัยธรรมชาติ ปัญหาความไม่สงบ โรคระบาด ซึ่งสร้างความเสียหายแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นวงกว้าง โดยข้อมูลจาก McKinsey Global Institution (MGI) ประเมินว่าในทุก 10 ปีปัญหา Supply Chain Shock ทำให้ภาคธุรกิจต้องสูญเสียกำไรเฉลี่ยปีละกว่า 40% หรือในช่วง COVID-19 มีบริษัทกว่า 1 ใน 3 ของโลกต้องเผชิญปัญหาการผลิตหยุดชะงักจากห่วงโซ่อุปทานสะดุด ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์นี้มีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งขึ้น โดย MGI ประเมินว่าอย่างน้อยในทุก 2 ปี จะเกิดปัญหา Supply Chain Shock กินเวลา 1-2 สัปดาห์ เมื่อประกอบกับความร้อนแรงของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก นับตั้งแต่ Trade War & Tech War ระหว่างสหรัฐฯ-จีน สงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อเนื่องมาจนถึงสงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำให้หลายบริษัทเริ่มปรับโมเดลธุรกิจจาก Globalization มาเป็น Deglobalization ลดการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานข้ามโลกมาเป็นในประเทศหรือภูมิภาคเดียวกัน ดังนั้น SMEs ไทยต้องติดตามและพร้อมปรับธุรกิจให้สามารถเชื่อมโยงกับ Supply Chain เส้นใหม่หรือรูปแบบใหม่ได้อย่างทันท่วงที โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ SMEs ไทยสามารถเชื่อมโยงกับ Supply Chain เส้นใหม่ได้ง่าย คือ การยกระดับศักยภาพและมาตรฐานการผลิตให้ได้ตามเกณฑ์ของบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ขับเคลื่อน Supply Chain
ปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล SMEs ไทยต้องมีช่องทางการค้าผ่าน E-commerce เพื่อตอบโจทย์โลกการค้ายุคใหม่และเข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคหลัง COVID-19 สะท้อนจากมูลค่าตลาด E-Commerce ที่เติบโตก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2560-2564 ขยายตัวถึง 14.6% ยิ่งไปกว่านั้น Global Data บริษัทที่ปรึกษา คาดว่าตลาด E-commerce จะยังโตในระดับ 12% ต่อปีไปจนถึงปี 2568 โดยได้แรงหนุนจากรูปแบบการอุปโภคบริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกรวดเร็ว ทั้งการเลือกซื้อ การขนส่ง ไปจนถึงการชำระเงินที่ต้องทำได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere, Anytime) นอกจากนี้ ช่องทางการค้าออนไลน์ยังเป็นทางลัดและเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยให้ SMEs ไทยเข้าถึงตลาดทั่วโลกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปวางจำหน่ายบน E-commerce Platform ชั้นนำที่มีผู้ซื้อจำนวนมากและหลากหลายอยู่ทั่วโลก
ปรับตัวรับความเสี่ยงทางการเงิน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของเศรษฐกิจโลก SMEs จำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถจัดการได้ด้วยเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน เช่น FX Forward ขณะเดียวกันต้องประเมินความเสี่ยงคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ หากมีความไม่มั่นใจกับคู่ค้ารายใดก็อาจใช้เครื่องมือประกันการส่งออก เพื่อลดความเสียหายหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ตลอดจนควรจัดการการเงินในกิจการให้มีความสมดุล ต้องสำรวจเงินในกระเป๋าอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้รายจ่ายมากกว่ารายได้ ควรมีเงินสดสำรองเพียงพอ นอกจากนี้ ควรวางแผนและจัดหาแหล่งเงินทุนสำรอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องและสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ดร.รักษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่จำเป็นต้องตื่นตัวและปรับธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างภูมิต้านทานให้ธุรกิจรองรับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การเตรียมความพร้อมนับเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจของ SMEs เติบโตและกลายเป็นเรือเล็กที่แข็งแรงและพร้อมออกจากฝั่งไปคว้าโอกาสในทุกน่านน้ำทั่วโลก
ทั้งนี้ EXIM BANK มีเป้าหมายเป็น Green Development Bank เพื่อทำหน้าที่กลไกสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน โลจิสติกส์ และภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) โดย EXIM BANK สานพลังกับหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงลูกค้าผู้ประกอบการ เดินหน้าพัฒนาประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งคนตัวเล็กหรือ SMEs ไทยไว้ข้างหลัง พร้อมรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่จะมาถึง บริหารจัดการความเสี่ยงและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของไทยให้ได้มาตรฐานสากล เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกสะอาด ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล