ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

6 เทคนิคการเลือกทำเลสำหรับธุรกิจ “แฟรนไชส์”


อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ลงทุนแฟรนไชส์ควรให้ความสำคัญรองลงมาจากการเลือกแฟรนไชส์ คือ ทำเลที่ตั้ง ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ว่าธุรกิจที่เลือกลงทุนนั้นจะไปรอดหรือไม่  ฉะนั้นการมองหาทำเลหรือการพิจารณา ควรมีหลักการ 6 วิธี ในการเลือกทำเลที่ตั้ง ธุรกิจแฟรนไชส์

1.พิจารณาจากประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์ 

ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าธุรกิจที่ลงทุนนั้นเป็นธุรกิจประเภทอะไร เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายไหน ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ อาหาร เครื่องดื่ม พื้นที่เหมาะสมควรจะเป็นแหล่งชุมชน หรือสถานที่ ที่มีผู้คนผ่านไปผ่านมาจำนวนมาก เพื่อเป็นการเข้าถึงสินค้าได้ง่าย ในส่วนของแฟรนไชส์ประเภทธุรกิจบริการ พื้นที่นั้นๆ ควรจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การเดินทาง ที่จอดรถมากพอ เป็นต้น

2.สำรวจทำเลว่ามีสินค้าประเภทเดียวกันมากน้อยแค่ไหน 

ในพื้นที่นั้นๆ ควรมีสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันไม่ควรเกิน 5 ร้าน หากมีมากกว่านั้นจะส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่ทำการแข่งขันกับร้านที่มีอยู่เดิมมากขึ้นไปอีก อีกทั้งการสร้างฐานลูกค้าจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ฉะนั้นควรเลือกพื้นที่ที่มีสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันให้น้อยที่สุดก่อน และสร้างฐานลูกค้าด้วยความแตกต่างจนเป็นที่ยอมรับ และเริ่มขยายสาขา

3.ควรคำนึงถึงต้นทุนของสถานที่ 

“ทำเลดี ค่าที่แพง” ชุมชน ศูนย์การค้า สถานศึกษา โรงพยาบาล เหล่านี้มักจะค่าเช่าสูง ผู้ประกอบการควรประเมินต้นทุนให้ดี คำนวนให้เหมาะสมกับสิ่งที่จะได้รับ ซึ่งอาจจะเริ่มจากทำเลระดับกลางค่าเช่าที่เหมาะสม ผู้ประกอบการจะได้ไม่แบกภาระค่าเช่ามากเกินไป ซึ่งจะทำให้กำไรจากการขายเหลือมากขึ้นกว่าการเลือกทำเลที่ค่าเช่าราคาแพง

4.กฏหมายและภาษี หรือกฏระเบียบของแต่ละพื้นที่ 

ในบางพื้นที่ไม่สามารถประกอบกิจการบางประเภทได้ เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่สามารถจำหน่ายในเขายพื้นที่ สถานศึกษา สถานที่ราชการ วัด เป็นต้น ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อกฏหมายให้ดี  นอกจากนี้ ยังมีเรื่องภาษีป้ายประชาสัมพันธ์ของธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งเรื่องนี้หลายคนมักมองข้ามไม่ได้ให้ความสำคัญ รู้ตัวอีกทีก็มีเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากรมาเรียกเก็บภาษีแบบทั้งต้น ทั้งดอก

5.การคมนาคมสะดวก ทั้งผู้ประกอบการและลูกค้า 

ในเรื่องนี้มักจะมีผลกับธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ที่เป็นประเภทธุรกิจ ค้าปลีก ค้าส่ง บริการ ที่เป็นรูปแบบร้าน หรือ สินค้า, บริการ ที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ควรจะหาพื้นที่ ที่สามารถเดินทางได้สะดวกเหมาะแก่ผู้ประกอบการเองในการบริหารจัดการสินค้า และอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการด้วย ทั้งนี้พื้นที่ติดถนนใหญ่ใช่ว่าจะขายดีเสมอไปเพราะด้วยสภาพแวดล้อมพื้นที่จำกัด ไม่มีที่จอดรถ อาจทำให้ลูกค้าตัดสินใจไม่เลือกใช้บริการได้เช่นกัน

6.เลือกทำเลที่สภาพแวดล้อมมีความพร้อม 

พื้นที่นั้นๆ ควรจะมีสภาพแวดล้อมที่ไม่แย่เกินไป เช่น พื้นที่ไม่สกปรก ไม่มีน้ำขัง ไม่มีแมลงสาบ หรือแมลงวันชุกชุม รวมไปถึงพื้นที่ที่มี ฝุ่น ควัน อันเกิดจากการก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้กัน พื้นที่ที่มีลักษณะดังกล่าวล้วนเป็นเหตุให้ลูกค้าหลีกเลี่ยงในการเข้ามาซื้อสินค้าหรือบริการมากที่สุด