‘งานหัตถกรรมจักสาน’ นับเป็นอีกหนึ่งเทรนด์แฟชันมาแรงระดับโลก เห็นได้จากแบรนด์แฟชันระดับไฮเอนด์หลายแบรนด์ที่ปล่อยคอลเลกชันกระเป๋าจักสานออกมาเป็นไอเท็มสุดฮอตบนรันเวย์ จนชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อย ต่างพากันตามหาคอลเลกชันงานจักสาน ทั้งกระเป๋า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน มาเก็บไว้เป็นไอเท็มฮอตฮิตอวดเพื่อนๆ ความนิยมงานจักสานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ผลิตงานหัตถกรรมไทยจะเร่งสร้างชื่อเสียงให้กับผลงาน ผ่านการใส่เอกลักษณ์ความเป็นไทย และ “สตอรี่” ที่น่าสนใจ และโดดเด่นไม่เหมือนใครลงไปในผลงาน เพื่อสร้างความแตกต่าง และจุดขายแบรนด์หัตถกรรมไทยให้มีชื่อเสียงระดับโลก
ล่าสุด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนวานีตา หรือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมของสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รวมตัวกันเพื่อผลิตผลงานหัตถกรรมจักสานอันมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ได้ปล่อยคอลเลกชันงานจักสาน 4 คอลเลกชันใหม่ ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของ 4 ชุมชนผู้ผลิตผลงาน มาเล่าเรื่องผ่านสินค้าที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องประดับจักสาน และชุดปิกนิคจักสาน แต่ละคอลเลกชันจะมีคาแรคเตอร์เป็นอย่างไร และไลฟ์สไตล์ของคุณจะเหมาะกับสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวานีตาในคอลเลกชันไหน ไปชมกันเลย!
• คอลเลกชันแต่งบ้านสไตล์เรียบหรู ในลวดลายดอกพะยอม – เรือกอและ จากชุมชนบ้านโคกพะยอม จ.นราธิวาส
ถ้าคุณเป็นคนสุขุม นุ่มลึก และชื่นชอบการแต่งบ้านสไตล์คุมโทนแบบเรียบหรู ดูค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ ขอแนะนำคอลเลกชันแต่งบ้านด้วยงานจักสานกระจูด จากชุมชนบ้านโคกพะยอม จ.นราธิวาส ที่เน้นการใช้สีน้ำเงินและน้ำตาลเข้ม แทนสีของน้ำทะเลยามค่ำคืนที่แทรกด้วยแสงไฟหาปลาหมึกจากเรือกอและ ให้ความรู้สึกนิ่ง สงบ ประกอบกับลวดลายบนงานจักสานเป็นลายดอกพะยอมและเรือกอและ ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านโคกพะยอม ที่อยู่ติดทะเล และมีต้นพะยอมจำนวนมาก ออกมาเป็นเอกลักษณ์ของคอลเลกชันงานจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ ที่ใส่ช้อน ที่รองจาน ที่รองแก้ว ที่ใส่เครื่องปรุงรส เสื่อปูโต๊ะ ฝาชี แจกัน เบาะนั่ง ถังขยะมีฝา
• คอลเลกชันงานจักสานไม้ไผ่ลายมองยง – ยี่หร่า ตกแต่งครัวในสไตล์คันทรี่ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานไม้ไผ่บ้านทุ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
สำหรับสายแต่งบ้านแบบสบายๆ สไตล์คันทรี ที่สนใจเครื่องใช้จักสานในห้องครัว เช่น ที่ใส่ถ้วยแกง ที่ใส่น้ำจิ้ม ถาดใส่ชุดอาหาร ที่รองจาน ที่รองแก้ว ที่ใส่ขวด ฝาชี เป็นต้น จะต้องชื่นชอบเครื่องจักสานไม้ไผ่ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานไม้ไผ่บ้านทุ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี โดยเอกลักษณ์ของคอลเลกชันนี้มีการจักสานโดยใช้ลวดลายโบราณ เช่น ลายมองยง ลายยี่หร่า ที่กำลังจะสูญหายไปเนื่องจากลายดังกล่าวเป็นลายจักสานที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์น้ำตาลมะพร้าว ไม่เคยถูกสานเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น และมีผู้สืบทอดลายนี้เหลือเพียงไม่กี่คน ชาวบ้านจึงเกิดแนวคิดที่จะเรียนรู้และนำมาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้สีจากขมิ้น ที่เป็นพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นของผลงาน
• คอลเลกชันปิกนิค แรงบันดาลใจจากท้องทะเล ก้อนเมฆ ภูเขา บนงานจักสานเตยปาหนันสุดมินิมอล จากกลุ่มปาหนันปูลากาป๊ะ อำเภอเมือง จ. นราธิวาส
อีกหนึ่งคอลเลกชันงานจักสาน ที่ต้องถูกใจคนที่รักงานคราฟท์สไตล์มินิมอล คือ ชุดปิกนิคจักสาน จากกลุ่มปาหนันปูลากาป๊ะ อำเภอเมือง จ.นราธิวาส โดยผลิตภัณฑ์ของชุมชนนี้ใช้วัตถุดิบในการจักสานจากเตยปาหนัน ที่ขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลในหมู่บ้าน ผสมผสานกับแนวคิดการใช้สีจากธรรมชาติรอบตัว เช่น สีขาว เขียว น้ำเงิน หมายถึงก้อนเมฆ ทราย ภูเขา และทะเลออกมาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ในคอลเลกชันของใช้ในชีวิตประจำวัน และชุดปิกนิคจักสาน อาทิ กระเป๋า หมวก ตะกร้า หมอน เสื่อนอน ที่ใส่ขวดน้ำ ซองใส่แว่นตา ซองใส่โทรศัพท์ เป็นต้น
• คอลเลกชันเครื่องประดับจักสานสไตล์โบฮีเมียน ลายใบไม้ 3 สี จากชุมชนบ้านดาฮง จ.นราธิวาส
คอลเลกชันสุดท้าย หันมาเอาใจคนชอบแต่งตัวสไตล์โบฮีเมียน กับการพลิกโฉมงานจักสานย่านลิเภาที่ปกติเราจะรู้จักกันผ่านกระเป๋าย่านลิเภาสุดหรู มาเป็นเครื่องประดับจักสานย่านลิเภารูปแบบทันสมัย โดยชุมชนบ้านดาฮง จ.นราธิวาส ที่ได้รับแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ผลงานมาจากชื่อของหมู่บ้านดาฮง ซึ่งหมายถึงใบไม้ โดยใช้สีธรรมชาติของย่านลิเภาที่มี 3 สี คือสีน้ำตาลเข้มแทนสีใบไม้แก่จัด สีเหลืองแทนใบไม้ที่แก่พอดี และสีเขียวแทนใบอ่อน ซึ่งเกิดจากการสังเกตพื้นที่บริเวณหมู่บ้านที่มีภูเขา ป่าไม้ ลำธาร และต้นไม้นานาชนิด ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นในคอลเลกชันนี้จึงมีส่วนประกอบเป็นใบไม้ มีสี 3 สีทุกชิ้น โดยเครื่องประดับในคอลเลกชันนี้ประกอบด้วยสร้อยคอ จี้สร้อยคอ ต่างหู กำไล ปิ่นปักผม ที่คาดผม เข็มกลัด ที่หนีบเนคไท เป็นต้น
ด้าน มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า ทักษะฝีมืองานหัตถกรรมท้องถิ่นของชุมชนต่าง ๆ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจ และเป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งโครงการ “คราฟท์ติ้ง ฟิวเตอร์” ของบริติช เคานซิล เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนผู้หญิงที่ทำงานในภาคหัตถกรรม ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร โดยสำหรับการทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม “วานีตา” ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ ที่สามารถยกระดับงานหัตถกรรมของชุมชนไปอีกหนึ่งขั้น หัวใจที่สำคัญที่สุดของโปรเจกต์นี้ คือการที่ผลงานใหม่ทั้ง 4 คอลเลกชันที่สะท้อนถึงความเป็นตัวตนของ 4 ชุมชนที่เกิดขึ้นมานั้น เป็นผลงานการออกแบบและพัฒนาของชาวบ้านในชุมชนเอง โดยมีนักออกแบบชาวไทยจากแบรนด์ PATAPiAN เป็นเพียงผู้คอยให้คำปรึกษา เพราะเมื่อชาวบ้านเข้าใจการวางแผน ปรับตัว และพัฒนาธุรกิจงานคราฟท์แล้ว จะสามารถเดินหน้าธุรกิจนี้ต่อได้ด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
“วานีตา” คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมของสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รวมตัวกันเพื่อผลิตผลงานหัตถกรรมจักสาน และสินค้าที่แปรรูปจากผ้าปาเต๊ะ โดยวานีตาเป็นตัวอย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีจุดแข็งในเรื่องสตอรี่ของตัวกลุ่มวิสาหกิจ และตัวผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างคาแรคเตอร์อันโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์แต่ละคอลเลกชัน ซึ่งกว่าที่จะวานีตาจะสามารถดึงเรื่องราวจุดเด่น และเล่าเรื่องราวเหล่านั้นออกมาผ่านตัวผลิตภัณฑ์ ก็ผ่านการลองผิดลองถูก การระดมความคิดกันภายในกลุ่ม และหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา บริติช เคานซิล ได้เล็งเห็นถึงช่องทางในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวานีตา จึงได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาธุรกิจงานคราฟท์จากสหราชอาณาจักร แบรนด์งานจักสาน PATAPiAN ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจระดับนานาชาติ และสำนักวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงพื้นที่เพื่ออบรม และทำงานร่วมกันกับชุมชน โดยโฟกัสไปที่การให้โจทย์ชาวบ้าน ในการดึงอัตลักษณ์ของชุมชน ผสมผสานลงในการออกแบบผลงาน ให้มีคาแรคเตอร์ที่โดดเด่น ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ความชอบที่หลากหลายของผู้ที่นิยมเสพงานคราฟท์
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ และสั่งจองสินค้าเพื่อเป็นของขวัญสำหรับเทศกาลปีใหม่ ในรูปแบบพรีออเดอร์ได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมวานีตา โทร. 086-054-6930 หรือ www.wanita.in.th และเฟซบุ๊ก wanitase ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการ “คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์” ได้ที่ www.britishcouncil.or.th