ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เมล็ดพันธุ์ “SSRC รุ่นที่ 1” ผู้ประกอบการร้านอาหารรุ่นใหม่ไฟแรง


ในที่สุดหลักสูตร The Secrets to Successful Restaurant Chain (กลยุทธ์การขยายสาขาอย่างมืออาชีพ) หรือ SSRC รุ่นที่ 1 จัดโดยสถาบันพีเพิลเทรนนิ่ง และ สถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร (FFI) ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยมีเจ้าของธุรกิจร้านอาหารทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาเข้าอบรมถึง 24 คน ถือเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ในธุรกิจอาหารให้มีความสามารถในการขยายสาขาร้านอาหารได้อย่างมืออาชีพ

 

ระยะเวลาการอบรมทั้งสิ้น 8 ครั้ง สอนโดยคณาจารย์ผู้มากด้วยประสบการณ์ด้านบริหารจัดการธุรกิจอาหารจากบริษัทอินเตอร์แบรนด์กว่า 10 ท่าน อาทิ ดร.วิชัย เจริญธรรมานนท์ President : CRGInternational Food Co., Ltd., วีระชัย สิริธัญญาภัค Foods Business Management : EZ’S International Franchise Co., Ltd., เกียรติศักดิ์ ฉมาภิสิษฐ Assistant Director : True Corporation Public Company Limited, วิทวัส มีสมมนต์ Vice President-Food Services Business : Loxley Public Company Limited เป็นต้น

 

สำหรับเจ้าของธุรกิจร้านอาหารที่ผ่านการอบรมรุ่นแรก ล้วนเป็นผู้ประกอบการหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ธุรกิจร้านอาหารของตนเองประสบความสำเร็จและสามารถขยายสาขาได้อย่างยั่งยืน

 

เมล็ดพันธุ์ SSRC รุ่น 1

หลังปิดการอบรมไปเมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอคองคอร์ด ผู้เข้าอบรมบางส่วนได้ให้ความคิดเห็นและแง่คิดหลังจากผ่านการอบรมหลักสูตร SSRC ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างพวกเขาอย่างไรบ้าง

 

อั้นอรรถกฤต จำปา

แม้ว่าอรรถกฤต จะเป็นหุ้นส่วนของร้าน “นายเม้งบะหมี่ปู เกี๊ยวกุ้งยักษ์” ซึ่งมีถึง 6 สาขาแล้วก็ตาม แต่ก็คิดว่าประสบการณ์ที่มีอยู่นั้นถือว่าเกิดจากการลองผิดลองถูก จึงต้องการมาเรียนเพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกผิดอย่างไร และจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร

 

“สิ่งท่ีได้จากการเรียนหลักสูตร SSRC คือการเติมเต็มในเรื่องทฤษฎีที่เราไม่รู้ ได้เคล็ดลับต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ เช่น การเก็บเงินรายได้ทุกวันและเข้าธนาคารอย่างไร เราก็ทำในรูปแบบของเราอยู่แล้ว แต่พอมาเรียนอาจารย์จะสอนวิธีการแบบบริษัทใหญ่ทำกันอย่างไร เราก็สามารถนำไปปรับใช้ของเราได้ทันที”

 

หลังจากจบหลักสูตรนี้แล้ว อรรถกฤต บอกว่ามีความมั่นใจในการทำธุรกิจมากขึ้น และจะนำความรู้ที่เรียนไปวางแผนปรับใช้กับการขยายสาขาของตัวเอง

 

แอนชมเพลิน ลิ่มทอง

บัณฑิตสาวศึกษาศาสตร์ที่ไม่เดินสู่เส้นทางแม่พิมพ์ของชาติ แต่หันมาทำธุรกิจออกาไนเซอร์ สุดท้ายแอนก็ค้นพบอาชีพที่ใช่สำหรับเธอ ทำแล้วมีความสุข เมื่อเธอตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ร้าน “ตำมั่ว” มาเปิดที่อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อปีที่แล้ว โดยใช้ทุนตกแต่งร้านสูงถึง 10 ล้านบาท

 

“แค่อยากให้สุพรรณบุรีบ้านเกิดมีร้านดีๆ แบบกรุงเทพฯ บ้าง เลยตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ร้านตำมั่ว แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เกิดความรักในธุรกิจนี้ ทำแล้วมีความสุข”

 

หลังจากที่ได้มาเข้าอบรมแล้ว แอนบอกว่า “รู้สึกว่าไม่อยากจะขาดเรียนสักนาทีเดียว” ด้วยเหตุผลว่าเนื้อหาหลักสูตรที่วิทยากรสอนนั้นสามารถนำไปปรับใช้กับงานได้ทันที และประสบการณ์ของวิทยากรแต่ละคนนั้นล้วนมีประโยชน์และไม่สามารถหาอ่านในหนังสือทั่วไปได้”

 

“อีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากการอบรมคือหลักการคิดอย่างมีระบบ ที่วิทยากรทุกคนย้ำอยู่ตลอดเวลา ตอนที่
ตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์มาทำนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอเข้ามาอบรมแล้วรู้เลยว่าก่อนจะตัดสินใจเปิดร้านต้องคิดให้มากกว่าคำว่าอยากทำ โชคดีที่เปิดมาแล้วก็ไม่มีปัญหา”

 

เดบบี้มนัสชนก ชื่นชม

ในบรรดาผู้เข้าอบรม SSRC รุ่นที่ 1 นี้ คนที่มีความเพียรพยายามบากบั่นสูงที่สุดน่าจะเป็นสาวเดบบี้ เพราะทุกวันเสาร์เธอจะต้องเดินทางจากอุตรดิตถ์ การที่เลือกมาเรียนหลักสูตร SSRC นั้นด้วยเหตุผลว่าต้องการหาความรู้เพื่อนำไปปรับใช้กับร้าน Don’t Mind Calorie Cafe’

 

“ตอนเปิดร้านไม่ได้คิดเรื่องกำไร-ขาดทุนเลย คิดเพียงอยากจะเปิดร้านเล็กๆ ที่ทำขนมเค้กอร่อยเพื่อให้คนอุตรดิตถ์ได้กินเหมือนคนกรุงเทพฯ บ้าง แต่หลังจากมาเรียนแล้ว สิ่งที่ได้คือการบริหารจัดการ เรื่องของคน เรื่องต้นทุน การบริหารการเงิน บางเรื่องเราก็มองข้ามไปว่านี่คือต้นทุน และที่สำคัญคือจะต้องกลับไปทำให้ร้านของเราอยู่ได้โดยใช้เงินทุนหมุนเวียน ถ้าจะขยายควรจะเริ่มจากอะไรก่อน คือมีหลักคิดและทฤษฎีมารองรับการตัดสินใจ”

 

นอกจากนี้เดบบี้ยังบอกว่าเมื่อจบหลักสูตรนี้แล้ว อาจารย์ยังกลายเป็นที่ปรึกษาที่ให้ข้อชี้แนะได้ตลอดเวลาโดยการสื่อสารกันทาง LINE ของกลุ่ม

 

เบนนี่จักรพันธ์ แกล้วกล้า

จักรพันธ์เพิ่งเริ่มผันตัวเองมาทำร้านขายซูชิพรีเมี่ยมในรูปแบบ Take Away และ Delivery ได้เกือบปีแล้ว และที่ตัดสินใจมาเรียนหลักสูตรนี้ด้วยเหตุผลว่า

 

“หลักสูตรส่วนใหญ่เน้นเรื่องพัฒนาหรือสร้างแบรนด์ แต่ปัญหาของธุรกิจอาหารคือ การบริหารจัดการมากกว่า และผมว่าหลักสูตรนี้ดีมาก เพราะดูรายชื่อวิทยากรแล้วแต่ละท่านมีประสบการณ์จริงจากอินเตอร์แบรนด์ทั้งสิ้น เหมือนกับเราไม่ต้องไปคิดใหม่อีกแล้ว แต่สามารถต่อยอดจากประสบการณ์ที่อาจารย์ถ่ายทอดมาได้เลย และข้อดีอีกประการคือ วิทยากรทุกคนเอาใจใส่ผู้เรียนอย่างมาก”

 

หลังจบหลักสูตรนี้แล้ว จักรพันธ์สรุปถึงเป้าหมายของการเรียนว่า “สิ่งที่ได้จากหลักสูตรนี้คือเรื่องการบริหารจัดการ เกินกว่าเป้าหมายที่เราต้องการ รวมถึงการทำ Business Plan ที่เจาะจงเฉพาะธุรกิจร้านอาหารโดยตรง ซึ่งถ้าเราไปเรียนที่อื่นๆ จะสอนหลายๆ ธุรกิจรวมกัน”

 

ตบท้ายเขากล่าวว่าสิ่งที่จะต้องรีบกลับไปปรับปรุงร้านคือ การพัฒนาทีมงานให้แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นหัวใจของการทำร้านอาหารแบบแฟรนไชส์