จักรยานญี่ปุ่นมือสองได้รับความนิยมเพราะคิวซีดี อะไหล่และชิ้นส่วนประกอบต่างๆ มีมาตรฐานสูง จึงทนทาน ไม่ค่อยเสีย ความจริงจักรยานมือสองนั้นมีหลายเกรด บางร้านขายรถตามสภาพให้ไปซ่อมเองก็มี แต่ด้วยการแข่งขันสูงในตลาดจักรยานญี่ปุ่นมือสอง ทำให้คุณณัฐพาส ต้องใส่ใจกับรถสองล้อทุกคันที่วางจำหน่ายในร้าน
ด้วยพื้นเพของครอบครัวทำธุรกิจกลุ่มเซียงกงมาก่อน ชายหนุ่มที่เติบโตมาในวงการนี้เลยต่อยอดทำเป็นธุรกิจส่วนตัวได้ไม่ยาก อาศัยมีความรู้เรื่องอะไหล่และแหล่งซื้อ-ขายของมือสองสัญชาติญี่ปุ่น คุณภาพดี ราคาไม่สูง เมื่อบวกกับเทรนด์การปั่นจักรยานที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจได้รับการตอบรับที่ดี
“ในท้องตลาดก็มีจักรยานญี่ปุ่นมือหนึ่งจำหน่าย แต่ไม่เยอะ ราคาจะต่างกันมาก ถ้ามือหนึ่งราคา 18,000 บาท มือสองจะอยู่ที่ 8,000 บาท อันนี้พูดถึงตลาดจักรยานระดับราคาประมาณ 20,000 บาท แต่ถ้าเป็นจักรยานแม่บ้าน อย่างของบริดจสโตนจะไม่มีมือหนึ่งขายในเมืองไทยมีเป็นตลาดมือสองไปเลย”
ที่ร้าน S Jitensha มีจักรยานญี่ปุ่นมือสองหลายร้อยคัน หลากหลายประเภท อาทิ จักรยานพับ จักรยานแม่บ้าน จักรยานวินเทจ จักรยานเสือภูเขา ประเภทที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ จักรยานพับและจักรยานแม่บ้าน ซึ่งมีราคาไม่แพง ประมาณ 2,000-4,000 บาท แต่รูปแบบสวย เท่ ขี่ไปไหนก็สะดุดตา
ร้านนี้เน้นขายปลีกหน้าร้านอย่างเดียว ไม่ขายส่ง ที่ผ่านมาก็ขายได้เรื่อยๆ เฉลี่ย 100-200 คันต่อเดือน อย่างใกล้หน้าหนาวจะขายดี มีลูกค้าแวะเวียนมาตลอด โดยจะเลือกซื้อจักรยานตามฟังก์ชั่นการใช้งาน คนหนึ่งจะมีไม่ต่ำกว่า 1 คัน นอกจากนี้ร้านยังมีจักรยานรุ่นหายากอย่างจักรยานวินเทจ ราคาตั้งแต่ 3,000-10,000 บาท กลุ่มลูกค้าผู้หญิงเกินครึ่งชอบจักรยานวินเทจ เพราะ
รูปลักษณ์ค่อนข้างน่ารัก ส่วนผู้ชายจะฮิตเสือหมอบ
คุณณัฐพาส บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักร้านผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยร้านจะโพสต์รูปจักรยานดึงดูดคนให้เข้ามาเลือกซื้อจักรยานที่ร้าน จากนั้นก็ชวนลูกค้าที่มาอุดหนุนถึงที่ถ่ายรูปกัน และโพสต์ลงเฟซบุ๊กอีกเช่นกัน เป็นการกระตุ้นให้คนอื่นๆ อยากจะเดินทางมาเลือกชมเลือกซื้อที่ร้านบ้าง ซึ่งปัจจุบันมียอดไลค์กว่า 80,000 ไลค์
สมัยก่อนธุรกิจร้านจักรยานอาจเงียบเหงา แต่ไม่ใช่กับยุคสมัยนี้ที่ธุรกิจนี้กำลังเป็นเทรนด์นิยม หนึ่งเสียงที่ยืนยันคือเจ้าของร้านจักรยานญี่ปุ่นมือสอง S Jitensha ที่มองว่าเดี๋ยวนี้คนปั่นจักรยานมากขึ้น ในอนาคตหากมีเลนสำหรับจักรยานพร้อม มีที่จอดรถโดยไม่ต้องกังวลว่าจะหาย ผู้คนก็จะยิ่งหันมาใช้งานจักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวันมากขึ้นไปอีกเหมือนเช่นที่ประเทศญี่ปุ่น
“เมื่อตลาดขยายตัว แน่นอนว่าคู่แข่งย่อมเยอะขึ้น อย่างตอนนี้ก็มีคนเปิดร้านขายจักรยานกันให้พรึบ ทั้งของเก่า ของใหม่ จากจีน ไทย ญี่ปุ่น ฝรั่ง แต่ผมเชื่อว่าเรายังอยู่ได้ เพราะยังมีกลุ่มคนที่ชอบความวินเทจ และเชื่อมั่นในสินค้าญี่ปุ่น เท่าที่พูดคุยกับลูกค้า ใครที่มีประสบการณ์ซื้อจักรยานคุณภาพไม่ดีมาก่อน รถจะค่อนข้างพังเร็ว เกิดจากวัสดุที่ใช้ไม่แข็งแรง คนขี่จะรู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคงในเวลาปั่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้”
สำหรับผู้ที่คิดจะเข้ามาในตลาดจักรยานญี่ปุ่นมือสอง คุณณัฐพาส ให้คำแนะนำว่า เจ้าของธุรกิจต้องแอคทีฟพอสมควร ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้น การแย่งกันขายอาจนำมาซึ่งการตัดราคากันเอง ความจริงถือเป็นเรื่องปกติของสินค้ามือสองที่แข่งกันที่ราคา แต่สุดท้ายก็จะเหนื่อยกันทุกคน หากหันมาแข่งขันเรื่องคุณภาพสินค้า แล้วขายในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่เพียงลูกค้าจะได้ปั่นของดี แต่ยังจะกลับมาซื้อซ้ำคันที่ 2,3 หรือแนะนำบอกต่อนี่น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ร้านค้าจักรยานญี่ปุ่นมือสองเป็นที่ 1 ในใจลูกค้า และอยู่รอดได้ในระยะยาว