Love Andaman หนึ่งในธุรกิจที่มองเห็นช่องทางธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ ต่อพงษ์ วงศ์เสถียรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิฟอันดามัน จำกัด ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในการทำ Digital Market จนทำให้ชั่วโมงนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก “Love Andaman” ธุรกิจโอเปอร์เรเตอร์เรือนำเที่ยว หากต้องการเดินทางออกไปแตะขอบฟ้ายังเกาะตาชัย เกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ และเกาะไม้ท่อน
Love Andaman เป็นธุรกิจที่มีการกำหนดกลยุทธ์ และกำหนดจุดยืนที่ชัดเจนในการทำธุรกิจว่าเป็น Premium Service นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เปิดตัว และเน้นนำเสนอจุดขายในเรื่องงานบริการมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยพนักงานทุกคนที่สวมเสื้อภายใต้แบรนด์ Love Andaman ล้วนผ่านการเทรนนิ่งในเรื่องการดูแล เทคแคร์ ลูกค้าอย่างละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว ส่วนเรื่องการดีไซน์บรรยากาศทุกๆ เกาะ ก็ตกแต่งสไตล์ Eco Premium ด้วยหัวใจที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม
“ห้องพักบนเกาะแต่ละเกาะเราเสิร์ฟความแตกต่างให้กับลูกค้า เช่น เกาะไม้ท่อน ยามบ่าย เราเสิร์ฟเมนูโอ้เอ๋ว ซึ่งเป็นขนมหวานพื้นเมือง มีลักษณะเป็นวุ้นเหนียวราดน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็งไส เสิร์ฟไอติมแป๊ะป๋อง ไอติมโบราณทำมานานกว่า 60 ปี โดยเราพยายามสรรหาความสุขทุกๆ สิ่ง เพื่อตอบโจทย์คำว่าความสุขให้ลูกค้าได้สัมผัสมากที่สุด”
ต่อพงษ์ เล่าถึงงานบริการของเขาว่า นอกจากการได้ลิ้มรสชาติอาหารที่ได้ถูกคัดสรรมาแล้ว ยังได้สัมผัสกลิ่นอายของวัฒนธรรมอาหาร
ของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย “เราก็พยายามสร้าง Human Touch สร้างความใกล้ชิดและเข้าถึงลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่าเราห่างเหิน ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของเรา”
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ Love Andaman สามารถสร้างจุดขายของตนเองออกมาได้อย่างชัดเจน ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจในการบริการที่เพอร์เฟค จนกลายเป็นกระแส Word of Mouth บนโลกโซเชียลมีเดีย ชนิดที่เรียกว่าใครจะไปเที่ยวทั้ง 4 เกาะที่กล่าวไปข้างต้น ต้องจองทัวร์ไปกับ Love Andaman เท่านั้น โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ซึ่งเป็นช่องทางที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงและสัมผัสกับ Love Andaman ได้อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้บริหารวัย 31 ปี เล่าว่า ส่วนใหญ่ลูกค้ารู้จักธุรกิจของเขาผ่านช่องทางเฟซบุ๊กมากที่สุด โดยเฉพาะเกาะตาชัยเป็นเกาะที่มีการพูดถึงมากที่สุดในเพจ ชั่วโมงนี้มีแฟนเพจราว 350,000 คน ขยับขึ้นแท่นอันดับหนึ่งบนเฟซบุ๊ก ในฐานะโอเปอร์เรเตอร์นำเที่ยวเกาะทะเลใต้
“ผมยอมรับว่า การตลาดบนโลกโซเชียล สามารถเคาะประตูบ้านลูกค้าได้ทุกหลังคาเรือนจริงๆ และเป็นช่องทางพีอาร์ธุรกิจที่ในชั่วโมงนี้
เราลุยเป็นหลัก เหตุที่เฟซบุ๊กเรามีแฟนเพจมากได้ขนาดนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากการร่วมโพส ร่วมแชร์ ร่วมแชท จากลูกค้าที่เคยร่วมทริปกับเรา นอกจากนี้ลูกค้าก็ได้นำเรื่องราวที่ประทับใจไปโพสลงบนเฟซบุ๊กของลูกค้าด้วย ก็ยิ่งทำให้เราเป็นที่รู้จัก นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเราทำการตลาดแบบ Digital Marketing”
เมื่อเจาะเข้าไปถึงวิธีการทำการตลาดบนเฟซบุ๊กของ Love Andaman พบว่าหลักๆ จะเน้นถ่ายทอดความเป็นตัวตนของธุรกิจออกมาให้ลูกค้าได้เข้าใจมากที่สุด ตอบคำถามทุกๆ ข้อ และมีการอัพเดทข่าวสารทุกวันๆ ละ ประมาณ 4-5 ครั้ง ในรูปแบบการรายงานสด โดยมีพนักงานในส่วนอัพเดทข้อมูล 3 คน พนักงานขายในส่วนโซเชียลมีเดีย 7 คน
หลายคนมองว่าข้อดีของการทำธุรกิจบนโซเชียลคือ การไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่แท้ที่จริงแล้ว Love Andaman มีส่วนที่ต้องลงทุน อยู่เบื้องหลังมากเช่นเดียวกัน เช่น ลงทุนตกแต่งเรือให้มีความโดดเด่น ด้วยการเปลี่ยนพื้นใหม่ด้วยไม้สักทอง ลงทุนจ้างเชฟที่มีชื่อเสียง เพื่อการปรุงแต่งอาหารและตกแต่งจานในแต่ละเมนูให้ดูน่ารับประทาน เป็นต้น
“การลงทุนกับสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ถูกฉายภาพออกไปยังเบื้องหน้า แต่การทำการตลาดบนโซเชียลผ่านโดยตัวลูกค้าเอง ซึ่งในส่วนนี้เป็นเรื่องที่ไม่ต้องลงทุน และมีคุ้มค่าอย่างมาก” เขาเล่าว่าอานุภาพของการตลาดดิจิตอลที่เกิดขึ้นช่วยให้ธุรกิจของเขาเติบโตอย่างก้าวกระโดด
“ปัจจุบันเรามีเรือสปีดโบ๊ทให้บริการลูกค้าทั้งหมด 17 ลำ มีพนักงานในส่วนสต๊าฟ 200 คน ไกด์และผู้ช่วยไกด์ประมาณ 30 คน” ส่วนมูลค่าธุรกิจและรายได้ต่อปีเท่าไหร่นั้น ชายหนุ่มเปิดเผยได้แต่เพียงว่าห้องพักเต็มตลอดปีเท่านั้นเอง