ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

สุพจน์ อาวาส“อัศวิน NPL” ควบ SME Bank เข้ายุคสินเชื่อ Startup


และหากต้องดำเนินกิจการต่อไป ใครกัน? ที่จะเข้ามาเป็น “หัวเรือใหญ่” วางนโยบายล้างหนี้เน่า ให้แบงก์แห่งนี้ก้าวพ้นจากวิกฤตการณ์ต่อไปได้ และแล้ว “อัศวิน” ก็เผยตัวออกมานำทัพ และล้างหนี้เน่า เพื่อ “ต่อลมหายใจ” ให้ SME Bank อีกครั้ง

 

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่า ล่าสุดทางคณะกรรมการ SME Bank ได้พิจารณาคัดเลือก “สุพจน์ อาวาส” ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานสินเชื่อชุมชน กลุ่มสินเชื่อรายย่อย ขึ้นแท่น “กรรมการผู้จัดการ” คนใหม่ ซึ่งเอ็มดี ได้เปิดใจกับ “SME ชี้ช่องรวย” ถึงการเข้ารับตำแหน่ง (อย่างไม่เป็นทางการ) และยุคแห่ง SME Bank ภายใต้การนำของเขา

 

ขออาสาเพราะท้าทาย

สุพจน์ อาวาส ให้เหตุผลที่ทำให้ตัวเองยอมสละเก้าอี้ธนาคารออมสิน แล้วเข้ามาสมัครเป็นเอ็มดี SME Bank ว่า “ธรรมชาติการทำงานของผม เป็นคนที่ชื่นชอบความท้าท้าย ซึ่ง ณ ขณะนี้ผมยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้น ถึงขั้นเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าจะสามารถนำประสบการณ์ในการทำนโยบายเชิงรุกที่ถนัด มาบริหารงานสินเชื่อเพื่อรายย่อยให้กับ SME Bank ได้ และเมื่อมองไปถึงภาคีและเครือข่ายมหาศาลที่ีผมมีอยู่ ไม่ว่าหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชน หรือบุคคลที่มีความรู้ คนฐานราก ก็จะเข้ามาช่วยทำให้ SME Bank ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้”

 

จับหนี้เป็นกอง สร้างกลไกซัพพลายเชน

“การเข้ามาสู่ SME Bank ในครั้งนี้ ประการแรก ที่จะต้องทำคือ การสร้างความเชื่อมั่นของพนักงานให้กลับคืนมา เพราะบุคลากรหลายคนขวัญเสีย เนื่องจากไม่รู้ทิศทางของแบงก์ ซึ่งตอนนี้น่าจะมั่นใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว ประการที่สอง SME Bank จะต้องทำแผนฟื้นฟู ดังนั้นเราจึงต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ แยกหนี้ลักษณะต่างๆ ออกมาเป็นกองๆ นำหนี้ที่ขายได้ออกมาจับโยนใส่ตะแกรง ซึ่งตอนนี้จัดการไปได้ 500 ล้านบาทแล้ว”

 

“โดยผมมองว่าฐาน SME นับเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันประเทศให้มีรากทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง ดังนั้นเราจึงต้องมีการสร้างกลไกของซัพพลายเชน (Supply Chain) หรือการสร้างห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการในธุรกิจ SME ให้เต็มรูปแบบขึ้น ต้องไม่มีกิจการใดกิจการหนึ่งถูกผูดขาดไปกับองค์กรเดียว ผลักดันให้ SME ทุกคนต้องช่วยกันทำงานและต่างคนต้องช่วยกันเติบโต และเมื่อมีความไว้ใจเข้ามากู้กับแบงก์เจ้าหน้าที่ก็ต้องไม่ปล่อยปละละเลย ต้องหาคนเข้ามาดูแลตั้งแต่วันแรก และนำกระบวนการตรวจสอบทางสินเชื่อเต็มรูปแบบไปช่วยดูแลลูกค้าด้วย”

 

มั่นใจล้าง NPL 4 หมื่นล้านบาท

“ณ วันนี้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง กำลังมีนโยบายที่จะต้องการจะทำเวนเจอร์แคปปิตอล (Venture Capital : VC) เพื่อทำการรวมทุนในด้านธุรกิจเข้ามา ซึ่งผมมองว่าเราสามารถใช้นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลมาเป็นเครื่องมือในการทำให้ธุรกิจเติบโต ประกอบกับได้มีการพูดคุยกับกรมพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทยแล้ว ซึ่งทางนั้นก็จะช่วยในเรื่องของการจัดกลุ่มผู้ค้าที่เป็นโอทอป มาเป็นคู่ค้ากับเรา

 

เมื่อนำมาคัดกรองร่วมกับกลุ่ม SME ไทยที่มีจำนวนมากถึง 2.7 ล้านราย ที่กระจายอยู่ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ธุรกิจในกลุ่มอาหาร และธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มว่ากำลังไปได้สวย ผลักดันให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องสอดคล้องกับการทำประชาสัมพันธ์ให้มาก สร้างภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งทำให้ผมมีความมั่นใจว่าการล้าง NPL 4 หมื่นล้าน ไม่ได้สูงไปเลย”

 

ปล่อยกู้ 5 แสนบาท ดึงฐานรากเข้าระบบ

“ปัจจุบันชาวบ้านรายเล็กๆ การเข้าถึงแบงก์ได้ยากมาก อีกทั้งพนักงานเราเองก็มีน้อย ผมจึงวางแผนว่าจำเป็นจะต้องหาเครือข่ายสาขาจำลอง เกาะเกี่ยวไปกับองค์กรในท้องถิ่น หรือองค์กรพัฒนาชุมชนที่เอื้อประโยชน์กับการช่วยดูแลและคัดกรองลูกค้าให้เรา และจะเน้นปล่อยกู้ตั้งแต่ 5 แสนบาท ซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ อัพขึ้นไปสูงสุดไม่เกิน 200 ล้านบาท ส่วนกลุ่มที่เราจะเน้น คือ คนที่กู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทให้มากที่สุด และพัฒนารูปแบบธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ นอกจากนี้จะใช้ภาคีที่เป็นสาขาจำลองเป็นกลยุทธ์เพื่อให้สามารถเข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายขึ้น

 

แนวคิดข้างต้น อาจจะมองว่าซ้อนหรือคล้ายกับที่ธนาคารออมสินกำลังทำอยู่ แต่เราจะแตกต่างตรงที่ SME Bank ไม่เน้นรายย่อยที่เป็นประเภทกลุ่มอุปโภคบริโภค (หาบเร่ แผงลอย) อย่างที่ธนาคารออมสินทำ แต่เราจะเน้นผู้ที่มาทำธุรกิจเพื่อที่จะโตในอนาคตข้างหน้า เน้นผู้ที่เข้ามากู้เป็นรายเล็กที่เป็นฐานราก แต่มีจำนวนมากๆ ดึง SME ไทยที่มีมากกว่า 2.7 ล้านราย เข้ามาอยู่ในระบบ การอยู่นอกระบบทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงมาก นั่นคือสิ่งที่ผมถนัด เพราะไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ 5 ล้านบาท หรือสินเชื่อ 5 แสนบาท กระบวนการพอกัน เพราะฉะนั้นผมยอมเหนื่อยแล้วจะช่วย SME ได้ทุกมิติด้วย”

 

เส้นทางนโยบายจะเป็นจริงหรือไม่ “อัศวิน NPL” มีเวลา 4 ปี ที่จะพิสูจน์คำพูดที่ว่า “สินเชื่อรายย่อยคือสิ่งที่ผมถนัด