เจาะตลาดสินค้าอาหาร FOCUSบนเส้นทาง AEC
เมื่อฉบับที่แล้ว AEC FOCUS ได้นำเสนอถึงแนวทางการเจาะตลาดสินค้าแฟชั่นไทยในตลาด AEC ในฉบับนี้เลยขอเอาใจผู้อ่านที่เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกตลาดสินค้าอาหารกันบ้างเนื่องจากตลาดสินค้าอาหารนับว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยปีละกว่าหลายแสนล้านบาท และยิ่งหากมีการศึกษาข้อมูลที่ดี ก็จะมีส่วนที่ทำให้สามารถการเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น และช่วยแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดมาครอบครองได้ ภายใต้ศักยภาพการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นโดยการจะเจาะตลาดสินค้าอาหารในAEC ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้ส่งออกไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลด้านวัฒนธรรม ประเพณี และรสนิยมของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศสมาชิกให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่ง AEC FOCUS ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอาหารและรสนิยมการกินดื่มมาให้ได้ทำความเข้าใจ ดังต่อไปนี้
ประเทศกัมพูชาสินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดกัมพูชาจะเป็นสินค้าจำพวกเครื่องดื่มผลไม้กระป๋อง อาทิน้ำส้มกระป๋อง น้ำองุ่นกระป๋อง และน้ำสับปะรดกระป๋อง สาเหตุเพราะปัจจุบันกัมพูชายังนับว่าเป็นประเทศที่มีกำลังในการผลิตเครื่องดื่มที่ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรในประเทศ จึงนับเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ในกลุ่มสินค้าดังกล่าวใน AEC ที่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ประเทศอินโดนีเซียในดินแดนอิเหนาแห่งนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมชมชอบทานของหวาน อีกทั้งวิถีชีวิตประจำวันก็เป็นไปอย่างเร่งรีบ สินค้าที่ถูกป้อนเข้าสู่ตลาดแห่งนี้จึงต้องใส่ความสะดวกสบาย และประหยัดเวลาในการบริโภคลงไป โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ขนมหวาน ประเภทลูกตาลลอยแก้วแช่แข็ง เป็นต้น
ประเทศลาวขณะที่ประเทศบ้านพี่เมืองน้องของไทยอย่างประเทศลาวนั้น มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ใกล้เคียงกับไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งในประเทศลาวยังมีคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก และจากข้อมูลที่สำคัญก็คือประเทศลาวยังไม่มีผู้ผลิตขนมเปี๊ยะ ซึ่งเป็นขนมยอดนิยมของคนจีน เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าดังกล่าวก็น่าจะใช้โอกาสแบบนี้รีบเข้าไปช่วงชิงพื้นที่ทางการตลาดได้ประเทศเมียนมาร์
ประเทศเมียนมาร์นิยมบริโภคสินค้าจากประเทศไทยไม่แพ้ผู้บริโภคประเทศลาว โดยเฉพาะสินค้าประเภทชา ซึ่งเกี่ยวสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวเมียนมาร์ ที่ชื่นชอบการดื่มชาหรือกาแฟเพื่อการผ่อนคลายเป็นอย่างมาก ดังนั้นผลิตภัณฑ์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการนำใบชาหรือเมล็ดกาแฟมาใช้เป็นวัตถุดิบ ก็จะสามารถได้รับความนิยมในตลาดได้ไม่ยาก
ประเทศฟิลิปปินส์นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิตยังไม่ทันสมัย ทั้งยังมีประชากรในประเทศจากการสำรวจล่าสุดกว่า 100 ล้านคนสินค้าประเภทอาหารที่ผลิตจึงมีจำนวนไม่มากพอเท่ากับความต้องการของผู้บริโภค โดยอาหารนำเข้าที่สำคัญของฟิลิปินส์ที่ผู้ส่งออกไทยควรจะทำตลาดส่งออกไปให้มากขึ้น ก็คือ ผลไม้อบแห้ง และขนมขบเคี้ยวที่มีความหวานในปริมาณสูง และที่สำคัญผู้ประกอบการจะต้องทำการจดทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วยซึ่งนับเป็นกฎเหล็กสำคัญของการนำเข้าของแดนตากาล็อกแห่งนี้
ประเทศสิงคโปร์สำหรับประเทศอย่างสิงคโปร์ จากข้อมูลพบว่าอาหารแช่แข็งเป็นสินค้าอันดับต้นๆ ที่มีการนำเข้า และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสินค้าที่สะดวกต่อการรับประทาน และสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน เพราะฉะนั้นหากผู้ส่งออกไทยที่ต้องการจะเข้าทำตลาดที่ประเทศสิงคโปร์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาด ซึ่งมีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าไทยของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
ประเทศเวียดนามด้านประเทศเวียดนามก็เป็นอีกประเทศที่ชื่นชอบและนิยมสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคชาวเวียดนามต่างก็หันมาบริโภคอาหารที่ดูแลสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์อาหารไทยที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบประเภทธัญพืชจากเกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ ซึ่งให้คุณค่าทางอาหารสูง และมีรสชาติที่ดี จะมีความเหมาะสมอย่างมากที่จะเข้าไปใช้ทำการบุกตลาด
นอกจากผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวแล้วสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าขนมขบเคี้ยว และสินค้าอาหารฮาลาลก็ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยในการทำตลาดส่งออกของไทยในปี 2558 นี้ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์อาหารที่ใส่ใจต่อสุขภาพ เนื่องจากตลาดในอนาคตกำลังเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ฉะนั้นหากผู้ประกอบการสามารถหาวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติและพัฒนารสชาติให้ถูกปาก ก็น่าจะทำตลาดได้ไม่ยาก
นักผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยท่านใดที่ต้องการจะหาคอร์สอบรมด้านการส่งออกที่สถาบันองค์ความ รู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้นอยู่เป็นประจำ สามารถติดต่อสมัครขอเข้ารับฟังการสัมมนา เรื่อง “ตลาดอาหารขบเคี้ยวในกลุ่มประเทศอาเซียน” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15 มกราคม 2558 โดยส่งใบสมัครเพื่อสำรองที่นั่งได้ที่ โทรสาร 0-2513-2446,0-2513-1904, 0-2511-5501 หรือ Email : [email protected] รับจำนวน 100 ท่าน (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายละเอียดของหัวข้อการสัมมนา สามารถโทรสอบถามได้ที่0-2512-0093 หรือ 0-2513-1909 ต่อ 604, 363
ขอขอบคุณ ข้อมูลจากจุลสาร DITP ชี้ช่องการค้า เดือนมกราคม 2558
///////////////////////////