หลายคนเข้าใจว่าเศรษฐกิจดิจิตอล เป็น “อีคอมเมิร์ซ” บ้าง ไม่ก็ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ก็ไม่ถึงกับเข้าใจผิดเสียทีเดียว เพราะอันที่จริง 3 สิ่งนี้เป็นเพียงแค่ “จิ๊กซอว์” ชิ้นเล็ก ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลในภาพใหญ่ นั่นก็คือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เป็นตัวเชื่อมโยง
ในเศรษฐกิจดิจิตอลนั้น ความสำคัญของ ICT มิใช่ “ตัวเทคโนโลยี” หรือเครื่องมือในการทำงาน แต่เป็น “ข้อมูลข่าวสาร” ต่างหากที่มีอิทธิพล และควบคุม “การดำเนินธุรกิจ” และ “วิถีชีวิตของผู้คน” ดังปรากฏการณ์ที่เห็นชัดในปัจจุบันว่า “ข้อมูลคือทุกสิ่งทุกอย่าง (Data Rules)” เช่น กระแสของ Big Data ที่บ่งบอกถึงความสำคัญและอำนาจของมัน ในเศรษฐกิจดิจิตอล ข้อมูลข่าวสารจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันไม่ว่าจะในระดับองค์กรหรือระดับประเทศก็ตาม
โดยคลังข้อมูลจะถูก “เชื่อมโยง” ให้เข้าถึงง่ายขึ้นด้วย ICT ซึ่งประเทศต่างๆ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อ “ต่อติด” กับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การค้าและการบริการ การเงินการธนาคาร สรุปง่ายๆ ก็คือ เศรษฐกิจดิจิตอลเป็นเรื่องของ “เทคโนโลยีกับความรู้ของบุคคล” สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพกว่าระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ยิ่งถ้าประเทศนั้นมีทั้ง “know how” และ “know who” เศรษฐกิจก็จะเติบโตแบบทวีคูณ ดังเช่นสหรัฐอเมริกา Digital Economy อุบัติขึ้นหลังจาก “ระบบอินเทอร์เน็ต” ได้เปลี่ยนโลกการผลิต เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนอเมริกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อปี 1995 แจ้งเกิดธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการถือกำเนิดของธุรกิจ Tech Startup มีทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หนึ่งในนั้นคือ Google ที่วันนี้สร้างมูลค่าตลาดสูงถึง 12.5 ล้านล้านบาท หรือเกือบเท่า GDP ของประเทศไทย
จะเห็นว่าเศรษฐกิจในโลกดิจิตอลมีมูลค่ามหาศาล หลายๆ ชาติจึงเจริญรอยปฏิวัติโครงสร้างพื้นฐานภายใน หวังใช้เทคโนโลยี ICT เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดด เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน รวมถึงประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังมุ่งเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างจริงจัง เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนและพลิกโฉมเศรษฐกิจชาติ
Digital Economy ในอาเซียน
ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ C ASEAN ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอาเซียน ยกตัวอย่างประเทศในอาเซียนที่มีการกำหนดนโยบายในการพัฒนา ICT ออกมาอย่างชัดเจนคือ สิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ประเทศที่น่าจับตามองในเวลานี้คือ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่าง “เวียดนาม” แม้มิได้เป็น “คำฮิต” ให้พูดถึงเหมือนบ้านเรา แต่ก็มีการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำหรับรองรับระบบเศรษฐกิจในอนาคต”ประเทศใดผลักดัน Digital Economy ก่อนหรือหลังใคร กำหนดเป็นนโยบายหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องก้าวขึ้นบันไดไปตามขั้น แต่สามารถก้าวกระโดดไปตามความล้ำหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบันได้เลย ดังนั้นจึงไม่ต้องตกใจหากเมียนมาร์ที่เพิ่งจะเปิดประเทศ จะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีในระดับเดียวกับไทยแล้ว” เอ็มดี C ASEAN กล่าว
โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ
พูดถึงยุทธศาสตร์การวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิตอลให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของประเทศเข้าสู่ยุคดิจิตอล จะได้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมาภายใต้กรอบระยะเวลา 1 ปีเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับ Digital Economy จำนวน 13 ฉบับ เน้นหนักเรื่องความมั่นคงปลอดภัย (Security) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) แต่ประเทศไทยยังแก้ปัญหาอาชญากรรมและแฮกเกอร์ในโลกออนไลน์ไม่ได้ ขณะเดียวกันก็จัดตั้งคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมากำหนดนโยบายด้านดิจิตอลในภาพรวม พร้อมปรับบทบาทและเปลี่ยนชื่อกระทรวง ICT เป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สิ่งจำเป็นที่รัฐบาลเร่งดำเนินการอยู่คือ “การสร้างโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ” จุดอ่อนที่ทำให้ไทยเดินหน้านโยบายต่อไม่ได้ เพราะระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียงประมาณ 30 ล้านคน รัฐบาลตั้งธงไว้ว่าในระยะเวลา 1 ปี อินเทอร์เน็ตจะเข้าทั่วถึงทุกหมู่บ้าน และภายใน 3 ปีจะเข้าถึงทุกครัวเรือน
ทั้งยังจะเร่งการเปิดประมูลระบบ 4G และพัฒนาระบบ 3G ให้มี “ความเสถียร” ซึ่งเป็นหัวใจของการใช้งาน ทุกคนจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยค่าบริการที่ถูกลง นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีศูนย์กลางบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Center) เพื่อจัดเก็บข้อมูลทุกประเภท ก่อนนำมาบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
4 สาขาธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจดิจิตอล
รากฐานของ Digital Economy ภายในประเทศจะแข็งแกร่ง หากมีการพัฒนาหรือพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมใน 4 สาขาธุรกิจ ซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักของเศรษฐกิจดิจิตอลที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของ GDP ในปี 2556 ดังนี้ ธุรกิจฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เกี่ยวเนื่องกับการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ดิจิตอลโดยตรง ทั้งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์สื่อสารดิจิตอล อุปกรณ์โทรคมนาคมดิจิตอล การบริการและการดูแลรักษา ตลอดจนการวางระบบ การให้คำปรึกษา
ธุรกิจบริการด้านโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ประกอบด้วยการบริการวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ การกระจายสัญญาณ การให้บริการอินเทอร์เน็ต และการบริการทางด้านธุรกิจต่างๆ เช่น ธนาคารแบบออนไลน์ ถือเป็นรากฐานสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือการค้าขายผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บไซต์ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงบริการชำระเงินหรือการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ บริการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็น Value Chain ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์ ความนิยมในการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดความต้องการเนื้อหาหรือข้อมูลที่น่าสนใจ ถือเป็นธุรกิจที่กำลังพัฒนาและขยายตัว สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง หากดิจิตอลคอนเทนต์ดังกล่าวได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก
ต่างคนต่างทำ ดิจิตอลไทยไม่เกิด
ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีทุกองค์ประกอบที่จะรวมเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลได้ แต่ปัญหาคือ “ต่างคนต่างทำ” แบบแยกส่วนกันอยู่ หรือเกิดการซ้ำซ้อนกันในแง่ของการทำงาน เช่น สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับซอฟต์แวร์พาร์ค ทำหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์เหมือนกัน เป็นต้น ฟากฝั่งภาคเอกชนก็มีชมรม มีสมาคม ผู้ประกอบการด้านไอซีทีเต็มไปหมด แต่ละคนก็มีความทับซ้อนกันบางส่วนงานหินก็คือ จะต้องรวมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายดิจิตอลทั้งหมดยุบรวมเป็นหน่วยงานเดียวและทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Digital Economy เช่นเดียวกับภาคเอกชนจะรวมตัวผู้ประกอบการด้านไอซีทั้งหมด เพื่อผลักดันสภา ICT ขึ้น พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ระบบเงินออนไลน์ไม่เอื้อ
แม้อีคอมเมิร์ซประเทศไทยจะเติบโตมีมูลค่ากว่า 744,419 ล้านบาท แต่การทำธุรกรรมการเงิน “นอกระบบ” ออนไลน์ ไม่ได้ชำระผ่าน Internet Banking, Mobile Banking สะท้อนถึงการขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และวางใจที่จะชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน “ตู้เอทีเอ็ม” หรือเคาน์เตอร์ธนาคารมากกว่าด้านผู้ประกอบการที่เปิดช่องทางขายแบบอีคอมเมิร์ซก็ไม่นิยมให้ลูกค้าชำระผ่านบัตรเครดิตด้วยเหตุผลที่ว่ารอบในการได้รับเงินนานกว่า 45 วัน เจ้าของธุรกิจที่ “สายป่านสั้น” ก็เลือกที่จะรับเงินสดโอนจากลูกค้ามากกว่า เหล่านี้เป็นโจทย์ของภาครัฐที่จะต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในธุรกรรมออนไลน์ อีกทั้ง SME ต้องได้เงินจากระบบให้เร็วยิ่งขึ้น
“งานช้าง” นี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน หากประสบผลสำเร็จ ประเทศไทยจะ
ก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประชาชนได้รับความสะดวกและรวดเร็วในการใช้ชีวิต เช่น การติดต่อหน่วยงานราชการด้วยสมาร์ทการ์ด หรือใช้ทำธุรกิจการค้ากับคนทั้งโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ SME ทั่วประเทศกว่า 2.7 ล้านราย ที่จะใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันกับนานาประเทศ Digital Economy จึงถือเป็นความหวังใหม่ของ SME
SME ปรับตัวรับวิถีดิจิตอล
จากข้างต้นเราจะเห็นภาพใหญ่ของ Digital Economy กลับมาที่ SME คนตัวเล็กที่ไม่มีทั้ง know how และ know who จะรับมือกับเทคโนโลยีที่ “ไหลบ่า” เข้ามากระทบกับวิถีธุรกิจเดิมอย่างไร?
อุดม ไพรเกษตร รองกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการแผนก Digital Management Solution บริษัท พีเพิลมีเดีย จำกัด กล่าวสำทับว่าปัญหาสำคัญของ SME ในเวลานี้คือ “การพัฒนาบุคลากร” ที่มีอยู่เดิมให้มีทักษะความรู้ด้านไอทีมากขึ้น พร้อมรองรับการใช้งานโซลูชั่นใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ เช่น อีคอมเมิร์ซ เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่นธุรกิจ หรือลดค่าใช้จ่ายในองค์กร เช่น โปรแกรมบัญชี เป็นต้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจ
ตัดสายสะดือ Tech Startup ไทย
จากนี้ไปเราคงจะได้ยินคำว่า Tech Startup หรือผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่มากขึ้น ทุกวันนี้รูปแบบการทำธุรกิจทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เน้นใช้ไอเดียสร้างสรรค์ผสมผสานกับเทคโนโลยี ทำให้ SME รายเล็ก สามารถต่อกรกับผู้ประกอบการรายเดิม หรือยักษ์ใหญ่ในตลาดอย่าง Microsoft, Apple, Google ต่างก็เคยเป็น Tech Startup มาก่อนสำหรับเมืองไทยนั้นมีผู้ประกอบการเทคโนโลยีเช่นกัน ทั้งยังมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น “สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Tech Startup)” ด้วยหวังจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ Tech Startup แจ้งเกิดในบ้านเรามากขึ้น โดยมี ไผท ผดุงถิ่น เป็นนายกสมาคมฯ
นิยาม Tech Startup ในมุมมองของเขา มิใช่เพียงแค่บริษัทผลิตซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์เท่านั้น แต่เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นรากฐานในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจเดิมๆ ให้เติบโตมากขึ้นได้ การเข้าถึงองค์ความรู้มีความจำเป็นสำหรับ Tech Startup สมาคมฯ จึงหวังที่จะลดระยะเวลาการเรียนรู้ ลดความเสี่ยงที่จะล้มเหลวให้กับ Tech Startup รุ่นต่อไป ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกกว่า 100 ราย ในรูปแบบบุคคลและนิติบุคคล
“Tech Startup ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ ผมเคยทำฐานข้อมูลพบว่ามี Tech Startup ไม่ต่ำกว่า 500 รายทั่วประเทศ สามารถระดมทุนได้กว่า 2,000 ล้านบาทในปี 2557 เพียงแต่ผู้เริ่มต้นต้องหารูปแบบธุรกิจที่ชัดเจนก่อน สมการความสำเร็จไม่รู้ บอกกันไม่ได้ ต้องทดลองเอง ทำตลาดตัวเองให้ได้ แล้วเรียนรู้ที่จะขยายไปยังตลาดอื่น กุญแจแห่งความสำเร็จคือ เรียนรู้ สร้างรูปแบบสินค้าหรือบริการให้ไว ให้ผู้ใช้ได้ใช้งานมากๆ วัดผลได้ และพร้อมจะปรับพัฒนาตลอดเวลา” ไผทกล่าว
ในปีนี้ธุรกิจ Tech Startup มีโอกาสโตอีกมาก เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบาย Digital Economy คงเห็นทิศทางที่ดีและชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การตั้งกองทุนสนับสนุนนวัตกรรม การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างผู้ประกอบการ บริษัทรุ่นพี่หรือบริษัทใหญ่ๆ ต้องเป็นตัวจักรเรื่องเงินทุน สนับสนุนให้ Tech Startup ได้แจ้งเกิด แทนที่จะไปหานักลงทุนในมาเลเซียหรือสิงคโปร์ ปัจจุบันธุรกิจเทคโนโลยีใช้เงินน้อยกว่าในอดีตมาก เพราะไม่ต้องตั้งเซิร์ฟเวอร์ ทุกคนเช่าหมด ถ้ามีคนใช้เยอะค่อยขยายเป็น Cloud
เว็บแอปฯ Builk.com เพื่อธุรกิจก่อสร้าง
ในบทบาทของผู้ประกอบการ ไผทดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เริ่มจากการผลิตซอฟต์แวร์บริหารธุรกิจก่อสร้าง นอกจากจะพัฒนาขึ้นมาใช้เองแล้ว เขายังให้ฝ่ายขายนำไปเสนอติดตั้งวางระบบให้กับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างด้วยกัน“การทำธุรกิจเทคโนโลยีทำให้เราเรียนรู้ว่า หากมี Business Model ที่เหมาะสม มันสามารถขยายธุรกิจได้ อย่าง Facebook, Google ไม่ต้องมีคนอยู่เมืองไทย ก็สามารถขยายธุรกิจได้ทั่วโลก จึงคิดต่อยอดจากธุรกิจเดิมด้วยวิธีการใหม่ เพื่อให้บริการแก่ SME กลุ่มก่อสร้างที่มีอยู่ 80,000 ราย”
แต่สภาพตลาดเมืองไทยตอนนั้น ผู้ประกอบการต้องการเข้าถึงเครื่องมือแต่ไม่มีกำลังจะจ่าย ไผทจึงตัดสินใจเปิดตัวซอฟต์แวร์ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชั่น Builk.com ให้ใช้งานกันฟรีๆ กว่า 18 เดือนที่เขาไม่มีรายได้ และใช้เวลาหมดไปกับการให้ความรู้ เปลี่ยนคนในวงการก่อสร้างจากก่ออิฐถือปูน มาลองใช้ระบบไอทีบริหารธุรกิจ อนุมัติเอกสาร ควบคุมต้นทุน ทำงานก่อสร้างออนไลน์ผ่านเว็บแอปพลิเคชั่นบนมือถือและแท็บเล็ต“รายได้ก้อนแรกได้มาจากงบ CSR ต่อมาเราพยายามนำเสนอว่า Builk เป็น Media ในวงการก่อสร้าง เป็นช่องทางการตลาด ช่องทางหาลูกค้าของทั้งผู้รับเหมา ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งผู้ให้บริการอื่นๆ ในอุตสาหกรรม เช่น ธนาคาร ที่อยากจะเข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มนี้ Builk ถึงได้มีรายได้จากการเป็นช่องทางการตลาดและการขายสินค้าของแบรนด์วัสดุก่อสร้าง” ไผท เล่าถึงช่องทางรายได้
ในปี 2555 ไผทได้นำ Builk ไปประกวดที่สิงคโปร์ และไปชนะใจกรรมการด้วยการเป็นโซลูชั่นเฉพาะอุตสาหกรรมในลักษณะ B2B (Business to Business) ไม่ใช่แอปของผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของวงการ Startup ช่วงนั้น จนได้รับรางวัลสตาร์ทอัพยอดเยี่ยมของเอเชียกลับมา เวทีนี้ทำให้เขาได้รับมุมมองทางธุรกิจใหม่ๆ จากนักลงทุน และ Tech Startup ที่ประสบความสำเร็จไผทมั่นใจว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในภูมิภาคนี้ สิ่งที่ขาดคือ Big Data ไผทจึงเพิ่มการทำวิจัยตลาดเพื่อรวบรวมข้อมูลของอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งหมด เพื่อให้เห็นเทรนด์และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรม ทำให้การลงทุนแม่นยำขึ้น ตอบโจทย์ตลาด ภายใต้การสนับสนุนของข้อมูล
จากนั้นแนวคิดการขยายรูปแบบธุรกิจไปทำซ้ำที่ประเทศอื่นจึงเกิดขึ้น ปัจจุบันมีการใช้งานแอปฯ Builk แล้ว 4 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และลาว สำหรับประเทศไทยนั้นมีสมาชิกอยู่ 4,000 บริษัท 16,000 คน รวมมูลค่างานก่อสร้าง 17,000 ล้านบาทสำหรับยุคที่ 3 ของธุรกิจ เขาตั้งใจจะเพิ่มประสิทธิภาพของ Builk ให้เป็น Market Place ด้วยการสนับสนุนจาก บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ PPS เข้ามาร่วมลงทุนด้วย Builk จึงยิ่งแข็งแกร่งและเห็นแนวทางการทำธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น
2015 ยุคแห่ง Internet of Things
Intel Thailand เผยถึง “เทรนด์เทคโนโลยีไอทีปี 2015” โลกจะก้าวไปสู่ยุค “อุปกรณ์ทุกอย่างคุยกันเองได้หมด (Internet of Things)” เป็นการผสมผสานบูรณาการของเทคโนโลยีทุกอย่าง ทำให้ชีวิตดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้น บริการดีขึ้น และลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งต้องมี Gateway, Network, Data Center, Cloud, Big Data ด้วยคาดว่าภายในปี 2020 อุปกรณ์ที่เป็น Connected Device อยู่ที่ 50 ล้านตัว แต่ถ้ารวมกับ Internet of Things ด้วย ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านตัว โดย IDC คาดการณ์ว่าตลาด Internet of Things ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2013 เป็น 7.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 หรือโตขึ้นถึง 3.7 เท่าภายใน 7 ปี
Sanook.com บริหาร Big Data รองรับทุกแพลตฟอร์ม
ด้วยความสามารถในการผลิตและรวบรวม Local Content ที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด ทำให้ Sanook.com อยู่ยั่งยืนมานานกว่า 15 ปี มีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เพราะเป็นเว็บไซต์แรกที่คนไทยคลิกเข้าไปอ่านข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ไม่ต่างจากการอ่านหนังสือพิมพ์ประจำวัน
กฤตธี มโนลีหกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด ย้อนวันวานของ Sanook ให้ฟังว่า สมัย 15-20 ปีที่แล้วที่อินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้น หลายคนมีโฮมเพจของตนเอง แต่หากันไม่เจอ เว็บพอร์ทัลจึงเกิดขึ้นมาด้วยแนวคิดที่จะรวบรวมเนื้อหาทั้งหมดมาไว้ที่เดียวกัน เช่น หาเพื่อน หาข้อมูลบนเว็บ ซึ่งบริการเว็บพอร์ทัลของ Sanook ก็พัฒนาขึ้นมาจากจุดนี้ แต่วันนี้ผู้ใช้งานต้องการมากกว่านั้น อยากจะรู้ว่ากระแสปัจจุบันคืออะไร Sanook จึงได้พัฒนาเพิ่มคอนเทนต์ให้อ่านครบทุกหมวด เช่น ข่าว บันเทิง-ดารา กีฬา รถยนต์ ภายในเว็บเดียว“ปัจจุบันเรามี Visitor ประมาณ 35 ล้านคนต่อเดือน หรือ 70-80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในเมืองไทย นอกจากคนไทยในประเทศ ยังมี Visitor จากต่างประเทศ เช่น อเมริกา ลาว ออสเตรเลีย คาดว่าเป็นคนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น แล้วอยากรู้ว่าเมืองไทยเป็นอย่างไร” ผู้บริหาร Sanook กล่าว
ธุรกิจบริการเว็บพอร์ทัลนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยความมหาศาลของข้อมูลหรือที่เรียกว่า Big Data เพราะข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น มีมากกว่าข้อมูลที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้เสียอีกกฤตธีจึงให้ความสำคัญกับการจัดเก็บ Data พวกนี้ เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานในเมืองไทยว่าต้องการอ่านคอนเทนต์อะไร ทราฟฟิกมาจากไหน เราสามารถวัด Heatmap ได้ว่ามีคนคลิกข่าวนี้กี่คน โดยสามารถดูได้แบบ Real Time แล้วนำผลไปบริหารจัดการคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ความต้องการมากยิ่งขึ้นการออกแบบเว็บให้ใช้งานง่าย โหลดได้เร็วก็มีความสำคัญ ผู้ใช้งานของ Sanook 50% อยู่ต่างจังหวัด ต้องสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ง่าย เมื่อคลิกแล้วจะต้องดาวน์โหลดได้ภายใน 5 วินาที แต่บางจังหวัดอาจจะช้ากว่านี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงข่ายโทรคมนาคมในแต่ละพื้นที่ด้วย
นอกจากการบริหารจัดการคอนเทนต์แล้ว ยังต้องรองรับทุกแพลตฟอร์มที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจอคอมพิวเตอร์ จอมือถือ จอแท็บเล็ต ซึ่งกฤตธีเผยว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้งาน เข้าเว็บไซต์ Sanook.com จากมือถือ (Mobile Web) ในปีนี้เขาจึงตั้งใจจะพัฒนา Mobile App ต่อ หลังเปิดตัวไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว“ความสำเร็จของเราอยู่ที่เรื่องความผูกพันกับเว็บไซต์ (Engagement) มากกว่าจำนวนคนที่ดาวน์โหลด Sanook เป็นแอปข่าวที่มีการดาวน์โหลดอย่างน้อย 50% ต้องมาใช้แอปของเราทุกวัน กุญแจสำคัญคือ ต้องทำข่าวให้ดี แอปดูน่าใช้ และทำอย่างไรให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดีในการใช้ Engagement ก็จะเพิ่มขึ้น”แน่นอนว่าผลจากการบริหารจัดการคอนเทนต์อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึง เข้าใจผู้ใช้งานที่เข้ามาอ่าน Sanook ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ สิ่งที่บริษัทได้รับกลับมาเกือบจะ 100% คือ รายได้จากการขายโฆษณา อย่างไรก็ดี หากจำกันได้ในปี 2551 ธุรกิจ MVAS หรือบริการโหลดเกมมือถือ ริงโทน ดูดวง ผลบอล เคยทำรายได้หลักให้กับ Sanook ถึง 30-40% แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟน ธุรกิจเหล่านี้ก็ล้มหายตายจาก เพราะคนเลิกใช้กัน
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มาลงโฆษณาในเว็บ Sanook ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ที่เน้นสื่อสารตลาด Mass ในตำแหน่งหน้าแรกของเว็บ แต่ถ้าจะเลือกโฆษณากับเซกเมนต์ที่ต้องการ เช่น โฆษณารถ โฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานเป็นผู้ชาย สื่อดิจิตอลก็สามารถทำได้ดี เพราะมีตัวเลขวัดผลชัดเจน ในขณะที่สื่อหลักทำไม่ได้ ซึ่งอนาคตของธุรกิจโฆษณา สื่อใดที่สามารถเจาะเซกเมนต์กลุ่มเป้าหมายได้ จะได้รับความสนใจกฤตธีบอกว่าแม้รายได้โฆษณาของสื่อดิจิตอลในปี 2557 มีสัดส่วนเพียง 1% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 950 ล้านบาทของงบโฆษณาทั้งประเทศกว่าแสนล้านบาท ถึงจะเป็นสัดส่วนที่น้อยแต่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ยิ่งบริษัทพัฒนา Sanook Mobile App ขึ้นมา แอปพลิเคชั่นนี้จะกลายเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ทำรายได้โฆษณาให้กับบริษัท ซึ่งในมุมมองของนักการตลาดแล้ว โฆษณาบนมือถือนั้นน่าจับตา เพราะตามติดตัวผู้ใช้งานไปตลอด อีกอย่างโฆษณาออนไลน์สมัยใหม่ก็พัฒนาให้เข้ากับคอนเทนต์มากขึ้น จนผู้อ่านไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด
“ธุรกิจนี้ไม่มีขอบเขต มันคือ Blue Ocean ไม่ได้แข่งขันกันดุเดือด ไม่มีใครเป็นคู่แข่งกับเราโดยตรง ผู้ประกอบการทุกคนช่วยๆ กันทำให้ขอบเขตมันขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ อย่าง Facebook, Google ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่โฆษณาคอนเทนต์ของ Sanook” ในมุมมองของคนที่ทำงานกับเทคโนโลยีมาตลอด กฤตธีมองว่าเทคโนโลยีคือ สะพานที่เชื่อมโยงระหว่าง “คนกับคอนเทนต์” และ “คนกับคน” ด้วยกัน เพราะคนที่ต้องการเสพคอนเทนต์หรือคนที่ต้องการทำธุรกิจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ศูนย์กลางของประเทศอีกต่อไป แต่ข้ามจังหวัด ข้ามประเทศ Digital Economy จะทำให้ระบบธุรกรรมออนไลน์ ระบบโลจิสติกส์ และระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศดียิ่งขึ้น
“เราต้องพยายามวิ่งให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สำหรับ SME ผมว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ยิ่งใกล้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การแข่งขันจะเพิ่มขึ้น และลูกค้าก็จะมากขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ SME ต้องใช้อินเทอร์เน็ต ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้ Facebook ดึงลูกค้าจากต่างประเทศมาซื้อสินค้า หรืออย่างคนจีนก็นิยมใช้ We chat ในการติดต่อซื้อขายสินค้ากัน เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน”
บัดนาว Loyalty Programสะสมแต้มแลกรางวัลออนไลน์
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลของไทย คือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะความเร็วและความเสถียรในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียหรือสิงคโปร์การทำธุรกิจจะปราศจากพรมแดน การนำเข้า-ส่งออกจะมากขึ้น การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ การรับส่งข้อมูล เอกสาร โอนเงินกันข้ามซีกโลกจะเกิดขึ้นชั่วพริบตา จากนี้ไปรูปแบบการทำธุรกิจอาจไม่ได้ยึดติดกับการซื้อ-ขายสินค้าเฉพาะในท้องถิ่นอีกต่อไป
ดร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ Chairman of the Board and Co-founder บริษัท บัดนาว จำกัด ผู้พัฒนาระบบบัตรออนไลน์ bud เพื่อยกระดับ SME ไทย ซึ่งมีความชำนาญด้านระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) กล่าวว่า“เทคโนโลยีคือสิ่งที่ทำให้ SME แข่งขันได้ หากไม่มีก็ต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม มันไม่ใช่ข้ออ้างว่าไม่มี know how แล้วจะอยู่เฉยๆ ทำอย่างที่เคยทำมาในอดีต แล้วธุรกิจจะรอด มันจะไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป”
ยิ่งประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะมีบริษัทใหญ่น้อยจากประเทศเพื่อนบ้านรุกตลาดขยายธุรกิจเข้ามา SME จะต้องสู้ด้วยการหาจุดเด่นของตนเอง รู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็นเพื่อลดต้นทุน ลดเวลา และทำให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น Social Media ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน สามารถเป็นช่องทางในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น SME ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา“หากพูดถึงเครื่องมือการตลาดด้วยดิจิตอลในปัจจุบัน สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ การสื่อสาร เรามี E-mail มี Chat มี VDO Call อย่าง Skype หรือ Facetime ที่ช่วยลดค่าโทรศัพท์ทางไกล หากธุรกิจไหนมีการเก็บข้อมูลจะเห็นได้ชัดเจนว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงเดือนละเท่าไร”
กรณีการเข้าถึงลูกค้าใหม่ ก็มีทั้ง Google, Facebook และเว็บไซต์ต่างๆ ที่ให้บริการอยู่มากมาย วิธีการเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ
ดร.วิลาสแนะนำว่าต้องเข้าใจลักษณะการใช้งานของเครื่องมือแต่ละอย่าง และคำนวณความคุ้มค่า เช่น ใช้ Google Adwords เมื่อรู้ว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ SME มักจะค้นหาคำว่าอะไร จากนั้นลองดูว่าคำ Keyword ดังกล่าวต้องใช้เงินในการโฆษณาเท่าไร หากคำนวณแล้วคุ้มที่จะลงทุน ก็เลือกใช้เครื่องมือตัวนั้น
จากนั้นต้องรู้จักรักษาฐานลูกค้าประจำที่มีอยู่ มีนักวิเคราะห์การตลาดประเมินว่าลูกค้าที่ซื้อซ้ำสามารถสร้างรายได้ประมาณ 5-15 เท่า มากกว่าลูกค้าที่ซื้อครั้งแรกหรือซื้อครั้งเดียวเสียอีก และธุรกิจกว่า 75% ไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อสร้างความภักดีของลูกค้า วิธีการง่ายๆ ที่ SME ทำได้คือ การเพิ่ม Loyalty Program เข้าไปในธุรกิจ เช่น การสะสมแต้มแลกของรางวัลทางออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบัตรพลาสติกหรือกระดาษสำหรับทำแคมเปญ ซึ่งมีต้นทุนสูงและไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
“ผมอยากให้ภาครัฐเปิดกว้างให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากขึ้น อย่างร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายใหม่เข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่ติดต่อสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตศาลและไม่มีกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งเป็นการคุกคามสิทธิความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และอาจส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสารย้ายธุรกิจออกจากประเทศไทย
ปัจจุบันผมเข้าใจว่าที่บริการใหญ่ๆ อย่าง Google หรือ Facebook ไม่มีการตั้งเซิร์ฟเวอร์ในไทย ก็เพราะกลัวกฎหมายบ้านเรา ถ้าเราสามารถปรับจุดนี้ได้จะทำให้เกิดการลงทุนด้านนี้อีกมากในประเทศไทย”
Zocial incเปลี่ยนเสียงออนไลน์ กลายเป็นเงิน
ในมุมมองของนักการตลาด ดร.เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม กล่าวว่าเทคโนโลยี ICT ทำให้โลกการค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในขณะที่เราสามารถทำการค้ากับคนได้ทั้งโลกแบบ 24 ชั่วโมง แต่ผู้บริโภคก็มีความ “เป็นตัวของตัวเอง” มากขึ้น และมีอำนาจในการกำหนดการรับข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตนเอง “ไม่รอ” และ “ไม่รัก” แบรนด์ใดแบบฝังใจเหมือนในอดีต SME จึงต้องปรับตัวรับกับพฤติกรรมดังกล่าว
“ทฤษฎีและหลักการตลาดต่างๆ ยังคงใช้ได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องปรับเอาเครื่องมือดิจิตอล เช่น Social Media, Sticker Line, Hashtag เป็นต้น มาบูรณาการใช้ในการทำการตลาด ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และสร้างการมีส่วนร่วม (Customer Engagement) ให้ลูกค้าภูมิใจ เกิดความรักหวงแหนต่อสินค้าหรือบริการแบรนด์นั้นๆ แต่ก่อนอื่น SME ต้องมีแบรนด์เนม จะเป็นแบรนด์สินค้า หรือตัวผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงก็ดี ย่อมดึงดูดให้ลูกค้าเลือกเข้ามาเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายง่ายกว่าตอนโนเนม” แม้ SME จะเลือกไม่ทำการตลาดด้วยสื่อดิจิตอล ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบริหารชื่อเสียงของธุรกิจตัวเองในโลกออนไลน์ ซึ่งบริษัท Zocial inc ถือเป็นผู้นำเรื่องการจับเสียงคนออนไลน์มาสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจ
ธีรนิติ์ เจียรพัฒนาคม General Manager Zocial inc ยกตัวอย่างเสียงคนออนไลน์กรณีที่กรมการขนส่งทางบกแจ้งว่าบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือของ Uber นั้นผิดกฎหมาย หลังจากข่าวนี้ออกมา คนออนไลน์จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กรมการขนส่งทางบกชี้มูล แล้วยืนยันจะใช้บริการ Uber ต่อ
ทั้งนี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าจะใช้เสียงคนออนไลน์สร้างกำไรให้กับธุรกิจได้อย่างไร แต่ Zocial inc จะช่วยเหลือธุรกิจของลูกค้าใน 2 ขั้นตอน หนึ่ง รวบรวมเสียงคนออนไลน์ สอง ให้คำปรึกษาปรับปรุงธุรกิจ ซึ่งสมัยก่อนบริษัทใหญ่ๆ จะใช้วิธีให้คนจำนวนมากไล่หาสิ่งที่คนพูดถึงตัวเองในอินเทอร์เน็ต แต่ Google ไม่ใช่คำตอบ เพราะไม่เอื้อต่อการค้นหาข้อมูลที่คนพูดถึงใหม่ๆZocial inc จึงพัฒนาเครื่องมือมาทดแทนการทำงานลักษณะนี้ โดยใช้คอมพิวเตอร์กวาดข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหมด รวบรวมสิ่งที่คนชอบหรือไม่ชอบแบรนด์ของลูกค้า ในทางกลับกันก็รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับคู่แข่งได้เช่นกัน เท่ากับช่วยให้บริษัทได้เป็นเจ้าของข้อมูลที่มากขึ้น เร็วขึ้น ด้วยต้นทุนที่ลดลง
ในขั้นตอนที่สอง นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ผลลัพธ์ที่ได้คืออาจแบ่งส่วนการตลาดใหม่ได้ อาจพบความต้องการของลูกค้าที่ทั้งเราและคู่แข่งยังทำไม่ได้ อาจพบคำแนะนำดีๆ ของลูกค้า โดยบริษัทมีบริการทำวิจัยและให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้นำข้อมูลจากสื่อดิจิตอลมาใช้ประโยชน์ได้จนถึงที่สุด
“วิธีการทำการตลาดที่มาแรงคือ การทำ Real Time Marketing เป็นการปรับแผนการตลาดทุกวัน เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด จะรอเอเจนซี่สรุปผลหลังจากแคมเปญการตลาดสิ้นสุดแล้ว มันช้าไป เหมือนโค้ชฟุตบอลบอกว่าต้องปรับแผนอย่างไร หลังการแข่งขันจบแล้วก็ไม่มีประโยชน์ เราต้องใช้งบการตลาดให้คุ้มทุกบาททุกสตางค์ โดยจับเสียงคนออนไลน์ควบคู่กับการวัดผลออนไลน์ ผมไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขกำไรจากแนวทางการตลาดแบบนี้ของลูกค้าได้ สิ่งที่บอกได้คือ มีการปรับแคมเปญการตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่งของแผนเดิม และเกิดการบอกต่อปากต่อปากเชิงบวกในโลกออนไลน์เหนือกว่าคู่แข่ง”
ธีรนิติ์มองว่า Digital Economy จะช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานการค้าทางดิจิตอลแข็งแรง และการทำธุรกรรมกับภาครัฐง่ายขึ้น ทว่าความคาดหวังของเขาต่อนโยบายนี้มีมากกว่านั้น โดยต้องสามารถช่วยให้ธุรกิจ SME ประสบความสำเร็จ ภาครัฐต้องส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ ใช้โครงสร้างพื้นฐานใหม่ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วย จึงจะมีประโยชน์จริง ถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต้องทำจนเกิดผลสำเร็จในวงกว้าง
Panicloset ขายเสื้อผ้าออนไลน์ร้อยล้าน
กว่า 3 ปีที่ทำธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ Panicloset ได้สร้างปรากฏการณ์หลายอย่าง เช่น ยอด Like ใน Facebook ที่ใกล้แตะ 1.5 ล้านคน ที่สำคัญคือ รายได้หลักร้อยล้านบาท จุดประกายความหวังให้ SME คนอื่น ๆ ใช้เป็น “ต้นแบบ” ของธุรกิจที่รวยได้จริงจากการเปิดร้านค้าออนไลน์ขายตลอด 24 ชั่วโมงธุรกิจออนไลน์นับเป็นทางเลือกในยุคดิจิตอลที่เหมาะสำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ และไม่พร้อมจะหาทำเลเปิดหน้าร้าน อย่าง Facebook ที่กำลังบูมเมื่อ 2 ปีก่อน ณัฐปภัฑ วุฒิกร นำมาใช้เป็นช่องทางในการทำธุรกิจ ขายเสื้อผ้าสไตล์วินเทจกับน้องสาว ปนิดา ศรีชัย ซึ่งถือเป็นช่องทางที่แทบไม่มีต้นทุนใดๆ
“เสื้อผ้าของ Panicloset มีเอกลักษณ์สูง เราออกแบบตัดเย็บเองอย่างประณีต แบบเสื้อผ้าจึงไม่ซ้ำใครในตลาด การขายของออนไลน์ คุณภาพและบริการหลังการขายสำคัญที่สุด ที่จะสร้างความประทับใจ ความเชื่อใจให้เกิดกับลูกค้า ถ้าเสื้อผ้าไม่สวยเหมือนในรูป ไซส์ไม่ตรง คุณภาพไม่ดีตามที่โฆษณาไว้ เขาก็จะไม่ซื้ออีกเลย เพราะลูกค้ามีตัวเลือกเยอะ แต่ถ้าชอบใจก็จะติดตามและซื้อกันเรื่อยๆ แถมบางครั้งยังช่วยแก้ต่างแทนเรา เมื่อมีคนมาโพสต์ในเชิงลบที่เกี่ยวกับแบรนด์เรา”นอกจากรายได้จากการขายเสื้อผ้าแล้ว Panicloset ก้าวไปอีกขั้นสู่การเป็น Media Digital ให้กับแบรนด์ดังๆ ซื้อพื้นที่โฆษณาในเพจได้ โดยมีฐานลูกค้ากว่า 1 ล้าน Like เป็นแรงดึงดูด หรือไม่ก็ร่วมจัดแคมเปญกับลูกค้า
ในช่วงที่ Facebook เริ่มมีผู้ใช้น้อยลง แอปพลิเคชั่น Line ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ณัฐปภัฑก็เพิ่มช่องทางการขายผ่านทาง Line Shop โดยคาดหวังว่า Panicloset จะเป็นร้านค้ายอดนิยมอันดับ 1 ใน Line Shop เหมือนที่ทำได้กับ Facebook เนื่องจากฐานลูกค้าของ Line ประเทศไทยมีราว 30 ล้าน ID“หน้าร้านที่ใช้ขายเป็นหลักคือ Facebook และ Line Shop ถือเป็นช่องทางที่เสริมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะ Line Shop น่าจะเป็นช่องทางที่เติบโตได้ดีในอนาคต เพราะตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในมือถือที่เปรียบเสมือนอวัยวะที่ 33 หากยังไม่นอนก็สามารถเข้าถึง สอบถาม สั่งซื้อ โอนเงิน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยลูกค้าจะออเดอร์หลัง 2-3 ทุ่มมากที่สุด”
ณัฐปภัฑเล่าต่อว่า ตอนนี้ Facebook จะเน้นการทำ CRM มากขึ้น โดยมี Admin คอยสร้างความเคลื่อนไหวในเพจ อัพเดทข่าว พูดคุยเรื่องราวทั่วๆ ไป เพื่อสร้างความสนิทสนมกับคนบนโลกดิจิตอลในฐานะเพื่อน ไม่ใช่ลูกค้า หากถูกใจมีคนกด Like ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระจายให้คนอื่นๆ รู้จัก Panicloset มากขึ้นสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจออนไลน์ ณัฐปภัฑเล่าถึงวิธีการว่า จะแบ่งหน้าที่ให้ทีมงานดูทั้ง Line, Facebook, E-mail แยกชัดเจนไปเลย โดยต้องตอบสนองลูกค้าให้เร็วที่สุด ก่อนลูกค้าจะเปลี่ยนใจ ส่วนระบบหลังบ้านมีการใช้เทคโนโลยี Barcode มาช่วยในการจัดการระบบสต็อกสินค้า
“คำแนะนำสำหรับ SME ที่ต้องการช่องทางการขายแบบออนไลน์ อย่างแรกคือต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ดี มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน มีแพลตฟอร์มที่ใช้ เช่น Web, Facebook เป็นช่องทางให้ได้มาซึ่งจำนวนคนที่จะเข้ามาดู ซึ่งสำคัญมากในการทำการตลาดออนไลน์ ตอนที่เราขายบน Facebook เราเริ่มต้นจากเพื่อนๆ ก่อน แล้วเกิดการแชร์ขยายวงกว้างมากขึ้น จากเพื่อนสู่เพื่อนของเพื่อนถึงจุดหนึ่งหากมันไปต่อไม่ได้ ต้องหาลูกค้าทางอื่นเพิ่ม โดยเรียนรู้ที่จะเปิดโฆษณากับ Facebook เพื่อให้ได้ผลลัพธ์มากที่สุด รวมทั้งทำโปรโมชั่นให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ อาจต้องมีค่าโฆษณา แต่ลงทุนโฆษณาออนไลน์คุ้มกว่าออฟไลน์ และมีคนเห็นมากกว่าแน่นอน”
ณัฐปภัฑบอกว่าสิ่งสำคัญอีกอย่างของการค้าขายออนไลน์คือ การมีอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างรวดเร็วทันใจ ตลอด 24 ชั่วโมง ผลพวงจากนโยบาย Digital Economy คาดว่าจะทำให้คนไทยเข้าถึงระบบสื่อสารโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง และเอื้อต่อการทำธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งตัวเธอนั้นก็ได้พัฒนาเว็บไซต์ Panicloset ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เพื่อพร้อมเจาะตลาดต่างประเทศรอไว้แล้ว
JM Cuisine ร้านก๋วยเตี๋ยวดิจิตอล
ด้วยพลังของสื่อดิจิตอล ทำให้ธุรกิจ SME มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องง้อสื่อกระแสหลัก “ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้ง” จ.เพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น JM Cuisine เป็นตัวอย่างของ SME ที่นำ Social Network มาปรับใช้เป็นธุรกิจแรก และทำให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดเครื่องมือที่ ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ เจ้าของ JM Cuisine ใช้ทำการตลาดออนไลน์จากของฟรีที่หาได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต เช่น Hi5, Facebook, Youtube จากการโพสต์ภาพเมนูอาหาร พร้อมสอดแทรกโลโก้ร้านเข้าไป อาศัยกระแสแนะนำบอกต่ออย่างรวดเร็วในสังคมออนไลน์ ร้านก๋วยเตี๋ยวห้องแถวธรรมดามีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ และเติบโตขึ้นทุกปี จาก 25 ที่นั่งเป็น 250 ที่นั่ง และขยายสาขาที่ 2 รองรับได้ 1,000 ที่นั่ง
ไม่เพียงเติบโตในเรื่องจำนวนที่นั่ง JM Cuisine ได้ขยายรูปแบบการให้บริการ นอกจากลูกค้าที่เดินเข้ามาที่ร้าน ยังมีบริการรับจัดเตรียมอาหารสำหรับกรุ๊ปทัวร์ บริการรับจัดอาหารเช้า เสิร์ฟลูกค้าที่เดินทางมาจากทั่วทุกภาค มีบริการเดลิเวอรี่ บริการจัดเลี้ยงอาหารพระเพล ซึ่งลูกค้าสามารถฝากทำบุญออนไลน์ได้ โดยทางร้านจะนำอาหารไปถวายพระที่วัดให้ แล้วถ่ายรูปรายงานทาง Line เพื่อให้ลูกค้ากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
“บริการนี้กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ถึงขนาดลูกค้าสั่งบริการจากเราเป็นรายปี ตรงนี้ไม่ได้ทำเพราะหวังกำไร แต่มีเป้าหมายให้ลูกค้ารู้จักเรามากขึ้น อย่างการนำอาหารไปถวายที่วัด พระ เด็กวัด สมภาร จะรู้จักเรา ถ้าวัดจะจัดงาน ส่วนใหญ่จะเรียกใช้บริการจากร้าน JM Cuisine ถือเป็นผลพลอยได้ที่สืบเนื่อง” ธีรศานต์เล่าถึงบริการใหม่
ธีรศานต์เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าว่าต้องการข้อมูลเดี๋ยวนั้น เขาได้นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจ การอัพข้อมูลขึ้นระบบ Cloud รอไว้แล้ว กรณีลูกค้าโทรมาขอข้อมูล รูปเมนู และพื้นที่ร้าน ก็สามารถส่งลิงก์ข้อมูลให้ลูกค้าดาวน์โหลดได้ทันที ทำให้เขาสามารถปิดการขายได้ก่อนที่ลูกค้าจะโทรหาร้านอื่นต่อไป
ปัจจุบัน JM Cuisine มีช่องทางเข้าถึงอย่างหลากหลาย ทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, Line, Foursquare, Google Map ธีรศานต์ยังนำ JM Cuisine ไปลิงก์กับ Garmin ช่วยนำทางลูกค้ามาที่ร้านได้โดยสะดวก“สิ่งสำคัญในการทำการตลาดออนไลน์ คือ เชื่อมโยงทุกช่องทางถึงกัน ไม่เว้นกระทั่งการจัดเก็บข้อมูลจากใบคอมเมนต์ที่เสียบอยู่กับโต๊ะมาลงระบบ เพื่อเชื่อมโยงออฟไลน์เข้ากับออนไลน์ 7 ปีที่ผ่านมา JM Cuisine มีฐานลูกค้าทั้งสิ้น 80,000 ราย ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับ Netnography หรือการวิจัยเชิงกายภาพผ่านช่องทางออนไลน์ เราจะมีการมอนิเตอร์ความคิดเห็นและจำนวนคนที่เข้าถึงเราผ่าน Social Media ที่มีอยู่ทั้งหมด รวมทั้งใช้งาน Google Alert เพื่อจับความคิดเห็นของลูกค้าทั้งแง่บวกและลบ เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจต่อ อย่างบริการทำบุญออนไลน์ เราก็ได้แนวคิดมาจากคอมเมนต์ของลูกค้า”
สำหรับ SME ที่อยากจะเริ่มต้นนำเครื่องมือดิจิตอลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ ธีรศานต์มีคำแนะนำว่า ต้องสังเกตพฤติกรรมลูกค้า และเลือกเครื่องมือที่เหมาะสม ณ เวลานั้นเพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย“โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สมัยก่อน Hi5 นิยมมาก ต่อมาเป็น Facebook แต่ทุกวันนี้คนเล่น Facebook น้อยลง Line เริ่มมีอิทธิพล ส่วนใหญ่คนมักจะขายของผ่านทาง Instagram แต่ปิดการขายกันที่ Line สิ่งสำคัญคือ SME ต้องลองใช้เครื่องมือเหล่านี้และเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งแทบไม่มีต้นทุนในการใช้ แต่ถ้าธุรกิจเริ่มเติบโตมากขึ้น ต้องมีทีมงานคอยมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวบน Social Media นำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจในอนาคต”