ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ความเชื่อมั่นครัวเรือน 3 เดือนข้างหน้า ร่วงต่ำสุดในรอบ 27 เดือน เหตุกังวลเรื่อง “งาน”ในอนาคต


ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือนพ.ย. 2562 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 43.5 ในการสำรวจช่วงเดือนต.ค. 2562 มาอยู่ที่ระดับ 42.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 27 เดือน โดยครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำของตนเองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับการปรับลดและปลดพนักงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนพ.ย. 2562 อยู่ที่ระดับ 42.0 ขยับขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 41.8 ในเดือนต.ค. 2562 จากความกังวลที่ลดลงของครัวเรือนต่อประเด็นเรื่องระดับราคาสินค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาอาหารและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ส่วนหนึ่งมาจากการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาระหนี้สินลดลง ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในช่วงต้นเดือนพ.ย. 2562 อย่างไรก็ดี มุมมองของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปัจจุบันน่าจะเป็นเพียงผลระยะสั้น ซึ่งในระยะยาว ครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเอง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/2563 ยังเปราะบางและเผชิญความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะเรื่องรายได้และการจ้างงานในประเทศที่อาจจะกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือน และทำให้การบริโภคภาคเอกชนซบเซาลง แม้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 5-6 บาท/วัน ในเดือนม.ค. 2563 ก็ตาม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่อาจจะกระทบต่อรายได้ครัวเรือนเกษตรและระดับราคาอาหารสดภายในประเทศ

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 43.5 ในการสำรวจช่วงเดือนต.ค. 2562 สู่ระดับ 42.1 ในการสำรวจช่วงเดือนพ.ย. 2562 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 27 เดือน โดยครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นมากต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำของตนเองในช่วงระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือนธ.ค. 2562-เดือนก.พ. 2563) ดังจะเห็นได้จากตัวเลขดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองของครัวเรือนต่อรายได้และการมีงานทำของตนเองในระยะ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากระดับ 55.8 ในการสำรวจช่วงเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 49.4 ในการสำรวจช่วงเดือนพ.ย. 2562 นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ที่ดัชนีฯ อยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 สะท้อนมุมมองในเชิงลบของครัวเรือนต่อรายได้และการมีงานทำของตนเองในอนาคต

ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัดในเดือนพ.ย. 2562 อยู่ที่ระดับ 42.0 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 41.8 ในเดือนต.ค. 2562 เนื่องจากครัวเรือนไทยมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาอาหารสดอย่างผักผลไม้และเนื้อสัตว์ที่ถูกลงตามปริมาณผลผลิตที่ทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยว รวมถึงราคาเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่ครัวเรือนมองว่าถูกลง เนื่องจากร้านค้าออฟไลน์และออนไลน์จำนวนมากจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าภายใต้แคมเปญ 11.11 (Single day/วันคนโสด) นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สิน ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ช่วยผ่อนเบาภาระหนี้สินของครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี ครัวเรือนกลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำในปัจจุบัน เนื่องจากนายจ้างบางส่วนลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (โอที) ของลูกจ้างเพื่อประคับประคองบริษัทให้อยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ ลูกจ้างบางส่วนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าจะถูกเลิกจ้างกะทันหัน

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ 2 (G-Wallet 2) ของครัวเรือนไทยที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ทั้ง 3 เฟส พบว่า ร้อยละ 20.3 ของครัวเรือนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่ทำการสำรวจวางแผนที่จะใช้จ่ายในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ 2 เพื่อเครดิตรับเงินคืนร้อยละ 15-20 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่ร้อยละ 43.0 ของผู้เข้าร่วมโครงการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 1 วางแผนจะใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ 2 โดยสาเหตุหลักๆ ที่ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ไม่ใช้จ่ายในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ 2 เนื่องจากมองว่า มีขั้นตอนวิธีการใช้ที่ยุ่งยากและไม่อยากใช้เงินสดก้อนใหญ่ในการซื้อสินค้าและบริการ

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน (KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลของครัวเรือนที่ลดลงต่อประเด็นเรื่องราคาสินค้า และภาระหนี้สิน หลังธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงต้นเดือนพ.ย. 2562 ในขณะที่ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 27 เดือน จากความกังวลของครัวเรือนต่อความไม่แน่นอนของรายได้และการมีงานทำในอนาคตเป็นสำคัญ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ยังเปราะบางและเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งครัวเรือนที่ประกอบกิจการส่วนตัวและครัวเรือนที่เป็นลูกจ้าง แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงเดือนม.ค. 2563 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือนลูกจ้างชั่วคราวที่อาศัยค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็เพิ่มความท้าทายให้ผู้ประกอบการในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs นอกจากนี้ ยังต้องติดตามภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรกที่อาจจะส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนเกษตรและระดับราคาสินค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะอาหารสด