เทศกาลตรุษจีนในปีนี้ ตรงกับวันที่ 25 มกราคม 2563 ถือเป็นปีหนึ่งที่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เผชิญความท้าทายจากปัจจัยด้านกำลังซื้อ ที่เป็นข้อจำกัดของการใช้จ่ายในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ที่ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุด ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่อาจน้อยกว่ากิจกรรมด้านอื่นๆ นอกจากนี้ อาจต้องติดตามประเด็นทางด้านภัยแล้ง ซึ่งหากส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น มากกว่าการปรับขึ้นโดยปกติในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีก่อนๆ ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องเซ่นไหว้ จำเป็นต้องวางแผนรับมือความท้าทายทางด้านกำลังซื้อ และความท้าทายจากความอ่อนไหวด้านราคา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อระดับรายได้ปานกลาง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 13,150 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยให้น้ำหนักกับภาวะกำลังซื้อที่ไม่เอื้อเหมือนเช่นปีก่อนๆ ส่งผลให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่มีลำดับความสำคัญน้อย และสามารถปรับลดลงได้ จะมีสัดส่วนการหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูง และมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเม็ดเงินค่าใช้จ่ายรวม ได้แก่ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ ซึ่งนอกจากผลทางด้านกำลังซื้อแล้ว บางส่วนยังเพิ่งทำกิจกรรมนี้ไปเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ขณะที่เม็ดเงินการแจกแต๊ะเอีย ซึ่งปรับลดลงทั้งในส่วนของจำนวนคนที่ให้และจำนวนเงินเฉลี่ยต่อคน คาดว่าจะกระทบต่อความคึกคักของธุรกิจที่พึ่งเม็ดเงินส่วนนี้ อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และร้านทอง สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมหลักของเทศกาล ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่ากิจกรรมอื่นๆ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถูกตัดทอนลงจนเหลือเท่าที่จำเป็นแล้ว
จากผลสำรวจที่เกิดขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินเม็ดเงินค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 ของคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยแยกเป็นเม็ดเงินที่เกี่ยวกับเครื่องเซ่นไหว้ 5,900 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ 3,750 ล้านบาท และเงินค่าแต๊ะเอีย 3,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เทศกาลตรุษจีนในปีนี้ ประเด็นที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะการจำหน่ายเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนมากที่สุด ต้องจับตาเพิ่มเติมก็คือ ปัญหาภาวะภัยแล้งในปีนี้ที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งหากส่งผลให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผลไม้ที่ใช้ในเทศกาล เพิ่มขึ้นสูงกว่าการปรับราคาในช่วงเทศกาลปีก่อนๆ (ปกติราคาเครื่องเซ่นไหว้ประเภทผลไม้จะปรับสูงขึ้นประมาณร้อยละ 15-20 ก่อนเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์อาจปรับขึ้นน้อยกว่า) ทั้งนี้จากการติดตามประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ พบว่าระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งในปีดังกล่าว ราคาผลไม้ที่นิยมใช้เซ่นไหว้ปรับสูงขึ้นก่อนช่วงเทศกาลถึงร้อยละ 25-30 จึงคาดว่าราคาผลไม้บางรายการในปีนี้จะปรับสูงขึ้นมากกว่าช่วงตรุษจีนปีก่อนๆ ที่ไม่มีภัยแล้ง สำหรับในส่วนของเนื้อสัตว์นั้นน่าจะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากความต้องการจากทั้งในและต่างประเทศที่สูง ภายหลังการเกิดโรคระบาดในสุกรในหลายประเทศ
ทั้งนี้ราคาสินค้าที่อาจปรับขึ้นสูงกว่าปกติ อาจไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง หรือกลุ่มที่ได้เตรียมงบประมาณไว้แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้มีสัดส่วนร้อยละ 53.7 ของกลุ่มที่ตอบแบบสอบถาม แต่ปัจจัยดังกล่าว จะมีผลสำหรับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 46.3 โดยกลุ่มนี้เลือกที่จะปรับลดงบประมาณในสินค้าทุกกลุ่ม ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก/ผลไม้ ขนม ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจอาจจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวัง ประเด็นการตั้งราคาสินค้า ที่ต้องสื่อให้เห็นถึงความประหยัดคุ้มค่าคุ้มราคา โดยอาจพิจารณาจำหน่ายชุดเซ่นไหว้ที่ประหยัด ลดทอนขนาดหรือปริมาณลง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนรายได้ระดับปานกลาง ที่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นด้านกำลังซื้อค่อนข้างสูง
ช่องทางการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ ต้องอำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจด้านคุณภาพ
ปัจจุบันธุรกิจเครื่องเซ่นไหว้มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยเชื้อสายจีนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในกลุ่มค้าปลีกรายดั้งเดิม อาทิ ร้านค้า/ตลาดสดใกล้บ้าน รวมถึงผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ ที่หันมาให้บริการสั่งสินค้าล่วงหน้า หรือมีบริการจัดส่งถึงที่พัก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มที่ไม่มีเวลา หรือไม่ต้องการเผชิญปัญหาการจราจรที่ติดขัด สอดคล้องกับการสำรวจที่พบว่า ร้อยละ 41.3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า การจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ในปัจจุบัน มีความสะดวกและง่ายกว่าอดีต
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางด้านคุณภาพสินค้า ยังคงเป็นประเด็นที่ผู้ซื้อเครื่องเซ่นไหว้ให้ความสำคัญค่อนข้างสูง ส่งผลให้ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยังคงสนใจแยกซื้อเครื่องเซ่นไหว้ตามร้านต่างๆ ที่ซื้อประจำ มากกว่าที่จะซื้อสินค้าทั้งหมดในที่เดียว โดยเหตุผลหลักก็คือ ต้องการเลือกซื้อเองเพื่อความมั่นใจด้านคุณภาพสินค้า ซึ่งแหล่งที่ซื้อก็ขึ้นอยู่กับความสะดวก โดยอาจซื้อจากตลาดสด/ร้านค้าใกล้บ้าน หรือร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย และมีคุณภาพในระดับราคาไม่แตกต่างกับตลาดสดมากนัก
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเครื่องเซ่นไหว้ เริ่มมีการอำนวยความสะดวก โดยการจัดชุดเครื่องเซ่นไหว้ รวมถึงมีบริการจัดส่งถึงที่พัก และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นข้อกังวลสำหรับผู้ที่ยังไม่นิยมซื้อชุดเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ถึงกว่าร้อยละ 65.2 ก็คือ ทัศนคติต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพหรือความสดของสินค้า ซึ่งโดยข้อเท็จจริงอาจไม่มีความแตกต่างจากการแยกซื้อตามร้านค้าทั่วไปมากนัก
ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า หากผู้ประกอบการที่มีการจัดชุดเครื่องเซ่นไหว้ รวมถึงมีบริการจัดส่งถึงที่พัก สามารถสร้างจุดแข็งเพื่อตอบโจทย์ผู้ซื้อ ซึ่งประกอบไปด้วย การสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้า ที่ไม่ต่างจากการเลือกซื้อตามร้านค้าทั่วไป ลำดับต่อมาคือ การมีสินค้าให้เลือกหลากหลายราคา เพื่อให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของแต่ละกลุ่ม และ ราคาสินค้าต้องต่ำกว่าการเดินทางไปรวบรวมเครื่องเซ่นไหว้เอง ซึ่งหากมีปัจจัยดังกล่าวนี้ ก็คาดว่าผู้ประกอบการที่ให้บริการจัดชุดเครื่องเซ่นไหว้ ทั้งร้านค้าดั้งเดิมและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ จะได้รับความสนใจและเพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้น
มองไปข้างหน้า การรับมือกับมุมมองต่อเทศกาลที่เปลี่ยนแปลง…เป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
เทศกาลตรุษจีน แม้ว่าจะเป็นเทศกาลที่คนไทยเชื้อสายจีนให้ความสำคัญเป็นลำดับ 1 ในบรรดาเทศกาลทั้งหมด แต่ก็ไม่อาจฝ่ากระแสการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ ที่มีต่อความเชื่อในเทศกาลที่บรรพบุรษเคยถือปฏิบัติได้ ทั้งนี้แม้ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยังคงมุ่งมั่นที่จะสืบทอดเทศกาลตรุษจีนต่อ แต่ก็คาดว่าจะมีการปรับตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และมีบางส่วนที่ติดขัดอุปสรรคหลายประการทำให้อาจไม่สามารถสืบทอดต่อได้ (กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.3 ของผู้ตอบแบบสอบถาม) ซึ่งสัดส่วนของกลุ่มที่ไม่สืบทอดเทศกาลต่อนี้ อาจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น หากสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสืบทอดมีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่อาจมีข้อจำกัดด้านที่พักอาศัย หรือไม่เข้าใจขั้นตอนประเพณี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้มูลค่าตลาดอาจหดตัวลงในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ การดึงคนรุ่นใหม่ให้ยังคงสนใจสืบทอดเทศกาลตรุษจีนต่อจากบรรพบุรุษ จะช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังคงรักษามูลค่าตลาดนี้ไว้ได้ เบื้องต้นคือการนำเสนอคุณค่าความสำคัญของเทศกาลที่ลึกซึ้ง เพื่อให้การสืบทอดเกิดจากความต้องการของตนเอง มากกว่าการทำตามบรรพบุรุษ ซึ่งนอกจากการนำเสนอความเป็นสิริมงคลต่อครอบครัว ยังเป็นวันรวมญาติอีกด้วย ลำดับถัดมาคือการขจัดอุปสรรคที่มีผลต่อการไม่สืบทอดเทศกาล โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางด้านการจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายก็ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การจัดชุดเครื่องเซ่นไหว้ การให้บริการและการจัดส่งสินค้าถึงที่พัก แต่อาจต้องเพิ่มเติมทางด้านคุณภาพสินค้า รวมถึงปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เช่นชุดเครื่องเซ่นไหว้ที่เน้นสุขภาพ ผลิตแบบออร์แกนิก หรือขนมเทียน ขนมเข่ง ขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่ ที่มีความหวานน้อย รวมถึงอาจลดขนาดของชุดเครื่องเซ่นไหว้ เน้นของที่เป็นมงคล เพื่อให้เหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดด้านที่พักอาศัย เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป เทศกาลตรุษจีนในปีนี้ แม้ว่าหลายๆ ปัจจัยจะบ่งชี้ว่าเม็ดเงินที่ใช้อาจให้ภาพไม่สดใสเช่นปีก่อนๆ แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล ยังคงสนใจที่จะเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่หลากหลายและมียอดขายในช่วงสั้นๆ ก่อนเทศกาลเกือบ 6 พันล้านบาท ทั้งในส่วนของร้านค้าทั่วไป/ตลาดสด ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยในปีนี้น่าจะเห็นการจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายของร้านค้าต่างๆ ผ่านกลยุทธ์การจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ที่หลากหลายราคา เพื่อรับมือกับภาวะกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องติดตามปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางราคาสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ที่ปรับสูงขึ้น ทั้งปัจจัยทางด้านภัยแล้ง รวมถึงปัจจัยทางด้านราคาพลังงาน ที่ปรับสูงขึ้นจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง จนอาจกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ได้