ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ชี้ช่องรวย แนะ สิ่งที่ พ่อค้า แม่ค้า ต้องรู้! ขายของออนไลน์ ต้องเสียภาษีอย่างไร ?


การจ่ายภาษีคือหน้าที่ของประชาชนทุกคนทุกประเทศ ทว่าในปัจจุบันหลายคนยังเข้าใจว่าหากทำการขายของผ่านช่องทางออนไลน์นั้นไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ซึ่งคงต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าอย่างไรก็ต้องเสียภาษีในรูปแบบของภาษีเงินได้

ภาษีของการขายของออนไลน์นับเป็นภาษีเงินได้จากการค้าขาย แบ่งออก ดังนี้

1.จ่ายภาษีแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล เมื่อมีการค้าขายสินค้าออนไลน์เกิดขึ้น ภาษีจะมีการแบ่งการคำนวณเป็นสองประเภทตามรูปแบบธุรกิจ คือ

1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวิธีการคำนวณ 2 แบบ คือ

  • (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย วิธีนี้สำหรับรายได้ที่ไม่ถึง 1 ล้านบาทต่อปี
  • รายได้ x 0.5% วิธีนี้จะใช้สำหรับรายได้ที่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี

แล้วนำทั้ง 2 แบบมาเปรียบเทียบ แบบไหนได้ตัวเลขมากกว่าให้ใช้แบบนั้นยื่นภาษี

1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่ร้านค้ามีการจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล วิธีการคำนวณภาษีคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้มีรายได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบร้านค้า หรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยผู้ประการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท

และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนเป็นต้นไป

3. ภาษี E-PAYMENT เป็นการส่งข้อมูลยอดเงินของเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่เปิดทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ให้แก่สรรพากร โดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้สรรพากรคือ

– มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี ไม่ดูจำนวนเงิน

– มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และ จำนวนเงิน (นับเฉพาะฝั่งเงินรับฝากเข้า) รวมเกิน 2 ล้านบาท

ดังนั้น ธนาคารจำเป็นต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร ถ้าหากบัญชีของเรามีเงินเข้าบัญชีตามเงื่อนไขดังที่กล่าวไปแล้วข้อใดข้อหนึ่ง ในทางกฎหมาย ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องเตรียมรับมือกับข้อมูลรายได้ที่อาจถูกธนาคารส่งให้กับสรรพากรด้วย

ข้อควรรู้ : กรณีที่พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ (ย้ำนะคะว่ารายได้ ไม่ใช่กำไร) เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วยนะคะ โดยปัจจุบันยังจัดเก็บอยู่ที่ 7%
ค่าใช้จ่ายที่นำมาคิดภาษีสำหรับร้านค้าออนไลน์มีกี่แบบ ?

  1. หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่ซื้อมา ขายไป ไม่ได้ผลิตเอง
  2. หักค่าใช้จ่ายตามจริง สำหรับร้านค้าที่ผลิตสินค้าเอง แต่กรณีนี้ต้องมีเอกสารที่ต้องใช้ยื่นเย๊อะมว้าาาาาก
  3. หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ คิดภาษี 0.5% หากคุณมีรายได้จากการขายของออนไลน์มากกว่า 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท)

พ่อค้าแม่ค้าต้องทำอย่างไรบ้าง

  1. สำหรับการเตรียมตัวไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด โดยปกติแล้วการค้าขายออนไลน์จะต้องมีการบันทึกข้อมูลลูกค้า การใช้จ่าย ลงทุน รวมถึงการรับเงินอยู่แล้ว สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าทุกคนต้องทำเพิ่มขึ้นมาก็คือ
  2. บันทึกทุกอย่าง ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อสามารถตรวจสอบได้ว่าเรามีรายรับรายจ่ายประเภทใด อย่างไรบ้าง
  3. ไม่ทิ้งหลักฐานที่เกี่ยวกับการค้าให้หายไป เมื่อทางกรมสรรพากรมีคำถามเกี่ยวกับรายรับรายจ่าย นอกจากจะได้เห็นบันทึกรายรับรายจ่าย ยังมีหลักฐานทางธุรกรรมเพื่อยืนยันว่าเราได้ดำเนินการโอนรับ จ่าย หรือลงทุนตามจริงด้วย
  4. ติดตามข่าวการเงิน โดยเฉพาะด้านภาษีที่มีการอัปเดตในแต่ละปีตามการไหลเวียนของเงินในประเทศและต่างประเทศ แต่หากไม่มีความรู้ด้านการเงินอาจทำให้พลาดเสียเงินมากเกินความจำเป็นหรือจ่ายภาษีซ้ำซ้อนได้
  5. หาความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อที่จะสามารถจัดการรายรับรายจ่ายในแต่ละปี รู้ว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ลดหย่อนภาษีได้ด้วยวิธีใดบ้าง

ยื่นภาษีออนไลน์ออนไลน์อย่างไร ?

นอกจากการตรวจสอบสิ่งต่างๆ ในโลกออนไลน์แล้ว ทางกรมสรรพากรเองก็ยังดำเนินการอำนวยความสะดวกให้เหล่าผู้เสียภาษีเงินได้ โดยสามารถเข้าไปยื่นแบบภาษีตามกำหนดการรายปีได้ที่ ยื่นแบบ-ชำระภาษีออนไลน์ ซึ่งภายในจะมีรายละเอียดต่างๆ ระบุไว้อย่างครบถ้วน พร้อมให้ประชาชนยื่นแบบภาษีเงินได้ในเวลาไม่กี่นาที ผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์