ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ดัชนี SMESI ก.ค. 67 หดตัวต่ำกว่าฐานเป็นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน จากผลของกำลังซื้อชะลอตัว หนี้สินภาคครัวเรือนสูงขึ้น

ดัชนี SMESI ก.ค. 67 หดตัวต่ำกว่าฐานเป็นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน จากผลของกำลังซื้อชะลอตัว หนี้สินภาคครัวเรือนสูงขึ้น
การเข้ามาตีตลาดของสินค้าจากต่างประเทศ ยิ่งสะท้อนถึงความกังวลต่อการประกอบธุรกิจของ SME

 

 

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME หรือ ดัชนี SMESI ประจำเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 49.9 ลดลงจากระดับ 52.0 ของเดือนก่อนหน้า ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่น (ค่าฐานที่ 50) เป็นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน เป็นผลจากการชะลอตัวของกำลังซื้อในเกือบทุกภาคธุรกิจ และความเสี่ยงจากหลายปัจจัย เช่น หนี้สินในภาคครัวเรือนสูง ความตึงตัวของสินเชื่อธุรกิจ การเข้ามาแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศ เป็นต้น ในขณะที่ภาคก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ปรับดีขึ้น จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐฯ และภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวที่ยังได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำหรับดัชนีองค์ประกอบปัจจุบันในเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า องค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ การลงทุนโดยรวม การจ้างงาน และกำไร อยู่ที่ระดับ 53.6 52.0 50.0 50.2 และ 52.5 ลดลงจากระดับ 60.2 56.3 51.9 50.9 และ 54.6 ของเดือนก่อนหน้า ยกเว้นองค์ประกอบด้านต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 41.0 จากระดับ 38.2 ของเดือนก่อนหน้า

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME รายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคการผลิต หดตัวลดลงสูงที่สุด อยู่ที่ระดับ 49.7 ลดลงจากระดับ 52.7 ของเดือนก่อนหน้า ซึ่งชะลอตัวลงอย่างชัดจนและอยู่ต่ำกว่าระดับเชื่อมั่น ผลจากการชะลอตัวลงของคำสั่งซื้อในกลุ่มธุรกิจกลุ่มการผลิตยางและพลาสติกรวมถึงยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงจากภาคการส่งออกของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เป็นสำคัญ ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 49.3 ลดลงจากระดับ 51.7 ของเดือนก่อนหน้า โดยระดับความเชื่อมั่นอยูู่ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคธุรกิจอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของภาคธุรกิจนี้ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ยกเว้นธุรกิจบริการก่อสร้างที่ได้รับอานิสงส์จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ 2567 ของภาครัฐ ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 50.3 ลดลงจากระดับ 51.6 ของเดือนก่อนหน้า โดยในภาพรวมชะลอตัวลง จากกลุ่มการขายสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ทั้งภาคการค้าปลีกและการค้าส่ง รวมถึงกลุ่มการค้าและบริการยานยนต์ ในขณะที่ภาคการค้าสินค้าวัสดุก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นตามภาคการก่อสร้างของภาครัฐ สำหรับภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 53.9 มีแนวโน้มทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับความเชื่อมั่นอยู่ที่ 54.0 สาเหตุจากสินค้าหลายประเภทยังมีราคาสูง แต่บางชนิดเริ่มมีราคาลดลง เช่น ยางพารา นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มประมงยังได้รับผลกระทบภายนอกจากการระบาดของปลาหมอคางดำ ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามกำหนด

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค พบว่า ภาคใต้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 51.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.3 ผลจากภาคเศรษฐกิจชะลอตัวลง จากภาคการผลิตเป็นสำคัญ ถึงแม้จะมีแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดที่ผ่านมา รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในขณะที่ภาคธุรกิจการเกษตรปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 49.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.4 ภาพรวมธุรกิจชะลอตัวลง จากภาคการผลิต การค้า และการบริการ ในขณะที่กิจกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เช่น กลุ่มร้านอาหาร และบริการขนส่งไม่ประจำทางยังปรับตัวดีขึ้นแม้ไม่สูงมากนัก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 48.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.0 ภาคธุรกิจชะลอตัวลงทั้งหมด โดยกำลังซื้อในพื้นที่ลดลง คนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กลุ่มอัญมณี เครื่องประดับ และกลุ่มผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ อีกทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่น้อย ภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 49.9 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.2 ภาคการผลิตชะลอตัวลงชัดเจน โดยเฉพาะกับภาคการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางและพลาสติก ที่ยอดคำสั่งซื้อเร่งตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่ภาคธุรกิจการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มแพปลาปรับตัวดีขึ้น จากการที่คู่แข่งในพื้นที่อื่นได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ ภาคกลาง ค่าดัชนีอยู่ที่ 47.9 ปรับตัวลดลงชัดเจนจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.4 และอยู่ต่ำกว่าระดับเชื่อมั่น สะท้อนความกังวลต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความกังวลในด้านผลประกอบการของภาคธุรกิจ จากผู้ประกอบการภาคการผลิต และภาคการบริการเป็นสำคัญ ในขณะที่ภาคการก่อสร้างปรับดีขึ้นตามการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 51.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.4 ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอลงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พุ่งสูงไปในเดือนก่อนหน้า ยกเว้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวชาวจีน ในขณะที่พื้นที่อื่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงทั้งหมดยกเว้นภาคธุรกิจการเกษตรในกลุ่มสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ ที่ยังสามารถส่งขายได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 54.7 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 53.6 ของค่าคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่ามาตรการกระตุ้นการบริโภคด้วยนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่เดิมจะออกมาในช่วงเวลาดังกล่าวจะสร้างผลดีให้กับกลุ่มธุรกิจภาคการค้า รวมถึงการผลิตในสาขาผลิตอาหาร และเสื้อผ้าได้ ในขณะที่ภาคการบริการคาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงเริ่มต้นฤดูของการท่องเที่ยวปลายปี

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สร้างความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจให้กับ SME เป็นอย่างมาก ดังนั้น สิ่งที่ SME ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเร่งด่วนคือการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะต้นทุนราคาสินค้า/วัตถุดิบ ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น รวมถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งมาตรการกระตุ้นค่าใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้การเข้ามาแข่งขันของธุรกิจหรือสินค้า/วัตถุดิบจากต่างประเทศทั้งในรูปแบบ Offline และ Online ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของ SME ลดลง ดังนั้น ภาครัฐควรมีการควบคุมการเข้ามาดำเนินธุรกิจของชาวต่างชาติ การจำกัดการนำเข้าของประเภทสินค้าและวัตถุดิบอย่างเข้มงวด และส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ SME ไทย ให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพเทียบเท่ากับสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าของไทยมากขึ้น ซึ่ง สสว. มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ในการบริการให้คำปรึกษาและการตรวจประเมินมาตรฐาน เช่น มาตรฐานด้านอาหาร มาตรฐานด้านบริการการท่องเที่ยว การประเมิน Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ โดย SME สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ https://bds.sme.go.th/ หรือค้นหาองค์ความรู้เพิ่มเติม เช่น การบริหารจัดการต้นทุน กิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ได้ที่ https://www.smeone.info หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร โทร. 1301