ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน
การเงิน

ชี้ช่องรวย แนะ 7 วิธีวางแผนการเงินแบบง่าย ๆ ฝึกนิสัยการออม เพื่ออนาคตทางการเงินที่มั่นคง

การวางแผนทางการเงินถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน แต่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม ใช้จ่ายกันอย่างไม่มีระเบียบแบบแผน วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะมาแนะนำ 7 วิธีวางแผนการเงินแบบง่าย ๆ ฝึกนิสัยการออม เพื่ออนาคตทางการเงินที่มั่นคง ให้ไปลองทำตามกัน เรามาดูกันเลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

เงินทุน

1. ออมทีละน้อยค่อยตั้งเป้าหมายใหญ่

วินัยออมเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเป็นตัวตัดสินว่าแผนการเงินนั้นจะเป็นไปได้ และประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ ซึ่งวินัยออมเงินที่ดี คือ “เก็บเงินอย่างสม่ำเสมอ”ไม่ว่าเงินจำนวนเล็กน้อย 5 บาท 10 บาท ต่างก็มีมูลค่าทั้งนั้น เงินจำนวนเพียงเล็กน้อยสามารถกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ เมื่อตั้งเป้าหมายอย่างแน่วแน่

หากชื่นชอบการออมเงินทีละน้อย แนะนำให้ใช้ตารางออมเงินเป็นผู้ช่วย จะทำให้การวางแผนการเงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะตารางดังกล่าวออกแบบให้ออมเงินตั้งแต่วันละ 5 บาท จนไปถึงหลักร้อยบาทเลยทีเดียว ไม่กี่วันก็ได้จับเงินหมื่นแล้ว ถ้ามุมานะ ตั้งใจเก็บเงินอย่างจริงจัง ไม่ควรพลาดกับตารางออมเงินอย่างยิ่ง

2. ออมเงินทันทีเมื่อมีรายรับ

นอกจากการเก็บเงินทีละน้อย และมีวินัยออมเงินอย่างสม่ำเสมอแล้ว การออมเงินทันทีเมื่อเงินเดือนออก เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรพลาด เพราะการเก็บเงินทีละน้อยทุกวัน มีโอกาสที่เราอาจหลงลืมได้ ที่สำคัญเมื่อวางแผนให้เก็บเงินทันทีเมื่อได้รับเงินเดือน จะช่วยให้มีเงินออมแน่นอน ลดการบริโภคเกินความจำเป็น และให้เราเข้มงวดต่อตนเองกับแผนที่วางเอาไว้ด้วย

3. บัญชีรายรับรายจ่ายไม่ควรมองข้าม

ถ้าหาวิธีเก็บเงินที่เหมาะสมกับตนเองได้แล้ว การทำบัญชีรายรับรายจ่าย เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้มือใหม่ผู้สนใจเริ่มต้นออมเงิน วางแผนถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เพราะช่วยให้เราทราบว่ามีเงินส่วนใดใช้จ่ายอย่างผิดปกติ และหาทางป้องกันไม่ให้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยจนเกินไป

4. แบ่งเงินเป็นสัดส่วน

เมื่อจัดสรรเงินอย่างเป็นระบบ แบ่งเงินอย่างชัดเจนว่าส่วนใดคือ รายจ่าย-เงินเก็บ จะทำให้การวางแผนง่ายขึ้น เพราะหลายคนเมื่อได้เงินเดือนมาก็หมดไปกับรายจ่ายที่รออยู่ตรงหน้าไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ-ค่าไฟ ฯลฯ รู้ตัวอีกทีก็เหลือเงินเพียงหลักร้อย แต่ต้องใช้จ่ายตลอดทั้งเดือน

ซึ่งสัดส่วนการแบ่งเงินที่แนะนำ คือ “60 – 30 – 10” โดยกำหนดให้

60 คือค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ หนี้สิน ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ

30 เท่ากับ รายจ่ายรายวันที่เกี่ยวกับค่าเดินทาง ค่าอาหาร

10 หมายถึงจำนวนเงินออมที่ควรเก็บในแต่ละเดือน

ดังนั้นรายจ่ายทั้งหมดไม่ควรเกิน 90% ของรายได้ หากเกินกว่านี้จะตึงตัวเกินไป

หากสมมติให้รายได้อยู่ที่ 2 หมื่นบาท รายจ่ายทั้งหมดไม่ควรเกิน 18,000 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำ 12,000 บาท ค่าใช้จ่ายรายวันอยู่ที่ 6,000 บาท และเงินออมควรเก็บได้เท่ากับ2,000 บาท

อย่างไรก็ตามการกำหนดให้ออมเงิน 10% ของรายได้ อาจเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับผู้มีภาระหรือผู้ที่มีรายได้ไม่มากเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็น หากเป็นเช่นนี้ สามารถปรับให้เก็บเงินเพียง 2% หรือ 5% ของรายได้ ตามสถานการณ์ก็ได้เช่นกัน

5. วางแผนสำหรับเกิดเหตุฉุกเฉิน

เชื่อว่าหลายคนลืมวางแผนสำหรับเรื่องฉุกเฉินไว้เสียสนิท และมักเผลอใช้เงินเก็บทั้งหมดสำหรับดาวน์บ้าน ซื้อรถ ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น จ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือตกงานกะทันหัน ต่างต้องหาเงินด่วนด้วยการกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ทางแย่ลงไปอีก

แต่ปัญหาจะหมดไปเมื่อเราเก็บเงินก้อนส่วนหนึ่งไว้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยแนะนำว่าควรมีเงินเก็บสำหรับสถานการณ์ดังกล่าวเท่ากับ รายได้ 6 เดือนรวมกัน เพราะจะช่วยให้เราอยู่ได้แม้ยังตกงานในระหว่างนี้ และเป็นเงินก้อนใหญ่มากพอกับค่ารักษาพยาบาล

ที่สำคัญอย่าลืมทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพเอาไว้ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงค่าใช้จ่ายรักษาในกรณีที่เป็นโรคร้ายแรง และการทำประกันชีวิต จะช่วยให้คนข้างหลังไม่ลำบาก เมื่อขาดเสาหลักครอบครัวไปอีกด้วย

6. รู้จักการบริหารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเป็นหนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เมื่อรู้จักการวางแผนและบริหารหนี้อย่างเหมาะสม โดยให้จัดลำดับความสำคัญของหนี้แต่ละประเภทตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยิ่งดอกเบี้ยเยอะ กำหนดจ่ายเร็ว ต้องชำระหนี้ส่วนนั้นก่อนเป็นอันดับแรก ไม่อย่างนั้นแล้วจะโดนค่าปรับ และทบยอดให้ต้องจ่ายหนี้นานขึ้น จำนวนเงินมากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้บัตรเครดิตเรื้อรัง เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 16% ต่อปี การผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตเพียงไม่กี่ครั้ง ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมาอาจเท่ากับเงินต้นได้แล้ว การปิดหนี้บัตรเครดิตก่อนหนี้ประเภทอื่น เป็นอีกคำแนะนำสำหรับการบริหารหนี้อย่างเหมาะสม

7. นำเงินไปลงทุนต่อยอด

การสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวไม่ใช่การมีเงินเก็บมากที่สุด แต่เป็นการสร้าง Passive income ที่ให้เงินช่วยทำงานแทนเรา ซึ่งการวางแผนเพื่อสร้าง Passive income  จำเป็นต้องมีวินัย และความรู้อย่างดีเยี่ยม โดยมือใหม่สามารถเริ่มได้ ด้วยการศึกษาการลงทุนทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น หุ้น ทองคำ กองทุนรวม ฯลฯ เพื่อเลือกการลงทุนที่เหมาะกับเราต่อไป

เมื่อเลือกรูปแบบการลงทุนที่ต้องการได้แล้ว ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรเพื่อรักษาเงินต้นเอาไว้ให้ได้ และไม่ขาดทุนจนออกจากตลาดไป มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยไม่ประสบความสำเร็จจากการลงทุน เพราะการลงทุนบางอย่างให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูง เราจึงต้องบริหารความเสี่ยงให้ดีด้วยนั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก Make by Kbank

เงินทุน


อ่านบทความ How to เพิ่มเติมได้ที่ คลิก