อีกหนึ่งธุรกิจที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานคงหนีไม่พ้น “ร้านขายของชำ” หรือ ร้านโชห่วย ถึงแม้ปัจจุบันจะมีร้านสะดวกซื้อแบรนด์ใหญ่ เข้ามาตีตลาดในแทบทุกพื้นที่ แต่ร้านขายของขนาดเล็กก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะมาแนะนำธุรกิจนี้ให้กับคนที่สนใจ หรือคนที่กำลังหาขอมูลเพื่อที่จะเปิดร้านเล็ก ๆ ไว้ขายของในหมู่บ้านสร้างรายได้แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เรามาดูกันเลยดีกว่าว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องใช้งบลงทุนประมาณเท่าไร
1.ศึกษาตลาดหรือสำรวจพฤติกรรมกลุ่มลูกค้าในพื้นที่นั้น ๆ
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไหนเราจำเป็นต้องสำรวจตลาดและความต้องการของลูกค้าก่อนเสมอ เช่นเดียวกันกับร้านขายของสิ่งที่เราสามารถทำได้ง่ายที่สุดคือการสังเกตพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า
- ช่วงเวลาที่ผู้คนในบริเวณนั้น นิยมออกมาซื้อของกัน
- เป็นพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับอะไร เช่นโรงเรียน อาจต้องขายของที่เด็กชอบ หรือแหล่งชุมชนผู้สูงอายุ ต้องเป็นของเพื่อสุขภาพ ยี่ห้อดั้งเดิม
- ดูคู่แข่ง หากเป็นพื้นที่ที่มีร้านค้าปลีกเยอะอยู่แล้ว เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น โลตัส เราอาจไม่สามารถแข่งขันในด้านความหลากหลายของสินค้า อาจเปลี่ยนแนวไปขายของเฉพาะทางที่ เซเว่นฯ ไม่มีก็เป็นไปได้
2.วิเคราะห์ทำเลให้เป็น ขายดีกว่าคู่แข่งแน่นอน
ซึ่งในข้อนี้จะแตกย่อยออกมาจากในหัวขอแรก ปัจจัยเหล่านี้สามารถใช้ได้ทั้งกับการเลือกทำเลสำหรับร้านใหม่ และนำไปวิเคราะห์กับร้านค้าเดิมที่มีทำเลที่ตั้งอยู่แล้วอีกด้วย โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- สภาพแวดล้อมทางกายภาพโดยรอบ
- รู้จักลูกค้าของเราอย่างแท้จริงเพื่อวิเคราะห์หาโอกาสเพิ่มยอดขาย
- การวิเคราห์ศักยภาพของทำเลที่ตั้ง
- กำหนดการสร้างยอดขายในแต่ละกลุ่มสินค้า
สามารถอ่านรายละเอียดพร้อมวิธีการของแต่ละหัวข้อได้ที่ คลิก ชี้ช่องรวย แนะ ธุรกิจ “ร้านโชห่วย” วิเคราะห์ทำเลให้เป็น ขายดีกว่าคู่แข่งแน่นอน
3.คำนวณงบประมาณที่จะต้องใช้ พร้อมเงินทุนหมุนเวียน
งบประมาณขั้นต่ำในการเปิดร้านขายของชำ คือ ประมาณ 50,000 – 100,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับขนาดของร้าน แต่หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจร้านขายของชำ คือ ต้องมั่นใจว่าเรามีเงินหมุนในแต่ละเดือนด้วย ฉะนั้นอาจคำนวนไปเลยว่า 70% ของเงินที่จะใช้ลงทุนงบประมาณในการเปิดร้านขายของชำ เป็นเงินเริ่มต้นสร้างร้านโชห่วย ส่วนที่เหลืออาจให้เป็นเงินเก็บไว้หมุนเวียน หรือเงินทุนสำรอง
โดยจากงบประมาณ 50,000 – 100,000 บาท จะนำไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ดังนี้
- ชั้นวางของ ประมาณ 20,000 บาท
- โต๊ะเก็บเงิน ประมาณ 1,000 บาท
- เครื่องคิดเงิน POS ประมาณ 10,000 บาท
- เก้าอี้ ประมาณ 500 บาท
- ตู้แช่ 2 ประตู 1 ตู้ ประมาณ 16,000 บาท
- ตู้ไอศครีม 1 ตู้ 9,900 บาท
- ค่าสินค้าสำหรับขายครั้งแรก 30,000 – 70,000 บาท
- เงินทุนสำรอง 30,000 บาท
เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเปิดร้านขายของ โดยราคาอาจมีการผันแปรขึ้นอยู่กับจำนวนหรือปริมาณที่เราจะเลือกลงทุน รวมไปถึงหากเป็นสถานที่เช่า อาจะต้องคิดต้นทุนของค่าเช่าที่เข้าไปด้วย
4.เรื่องของใบอนุญาต และการเสียภาษีของร้านค้าปลีก
แน่นอนว่าการเปิดร้านขายของชำอย่างถูกต้องเราจำเป็นต้องขออนุญาต เพราะจะมรสินค้าบางประเภทที่เราไม่สามารถขายได้อย่างอิสระ พร้อมกับการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามหน้าที่ของประชาชนคนไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้
ค่าธรรมเนียมขายสุรา
- ขายส่งสุรา ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ปีละ 5,500 บาท
- ขายปลีกสุรา ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ปีละ 2,200 บาท (ผู้จำหน่ายไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตปีละ 330 บาท)
ค่าธรรมเนียมขายยาสูบ
- ขายส่งบุหรี่ ซิกาแรต และบุหรี่ซิการ์ ใบอนุญาตปีละ 1200 บาท สำหรับผู้ปลูกยาเส้น และขายเอง ใบอนุญาต ปีละ 100 บาท หากขายอย่างเดียว ปีละ 500 บาท
- ขายปลีกบุหรี่ ซิการ์ ใบอนุญาตปีละ 500 บาท สำหรับขายยาเส้น ใบอนุญาต ปีละ 100 บาท
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ที่ คลิก
การขอขึ้นทะเบียนพาณิชย์
สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้โดยการดาวน์โหลดเอกสารออนไลน์ผ่านทาง www.dbd.go.th/news_view.php?nid=946 และไปดำเนินเรื่องที่ได้ที่สำนักงานเขตของพื้นที่นั้น ๆที่คุณต้องการจะตั้งร้าน
ค่าธรรมเนียมในการขอทะเบียนพาณิชย์
- จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ 50 บาท
- จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ครั้งละ 20 บาท
- จดทะเบียนยกเลิกประกอบพาณิชยกิจ 20 บาท
หากมีการตรวจสอบว่าร้านค้าไม่ได้มีการจดทะเบียนพาณิชย์ ต้องโดนปรับไม่เกิน 2,000 บาทและโดนปรับวันละ 100 บาทหากยังไม่ปฏิบัติตามกฎอย่างถูกต้อง
การเสียภาษีร้านค้าปลีก
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีที่เป็นร้านขายของชำขนาดเล็ก ทำธุรกิจคนเดียว หรือ 2 คน และไม่ได้ขอทะเบียนพาณิชย์ต้องเสียภาษีร้านค้าปลีกบุคคลธรรมดา โดยจะต้องทำบัญชีแจกแจงรายรับรายจ่ายให้ชัดเจนพร้อมยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง รูปแบบภาษีจะเป็นแบบขั้นบันได ขึ้นอยู่กับรายได้ของบุคคล
อัตราภาษีร้านค้าปลีก (บุคคลธรรมดา) 5% – 35% ระยะเวลาในการจ่ายภาษีร้านค้าปลีก (บุคคลธรรมดา)
- ครั้งที่1 : ภ.ง.ด.94 ยื่นได้ช่วงกันยายน
- ครั้งที่ 2 : ภ.ง.ด.90 ยื่นได้ช่วงมีนาคม
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับร้านขายปลีกที่เป็นรูปแบบธุรกิจ มีผู้ร่วมทุนเยอะ และได้ขอทะเบียนพาณิชย์ในรูปแบบของธุรกิจนิติบุคคล ต้องจ่ายภาษีร้านค้าปลีก 2 ครั้งเช่นกัน ในรูปแบบของภาษีคงที่ เหมาะกับธุรกิจที่รายได้เยอะ มีกำไรที่แน่นอน
อัตราภาษีร้านค้าปลีก (นิติบุคคล) 20% ระยะเวลาในการจ่ายภาษีร้านค้าปลีก (นิติบุคคล)
- ครั้งที่1 : ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน นับ แต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
- ครั้งที่ 2 : ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับ แต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
ภาษีเพิ่มเติมอื่น ๆ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากร้านขายของชำขายของได้เกินปีละ 1.8 ล้านบาท จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอัตรา 7% เพิ่มเติม
- ภาษีกรมสรรพาสามิตด้วย ในกรณีที่ร้านขายของชำ หรือร้านค้าปลีกมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ยาสูบต่าง ๆ
5.เลือกสินค้าเข้าร้านอย่างไรให้โดนใจลูกค้า
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญอย่างมากของธุรกิจนี้ แน่นอนว่ายิ่งมีสินค้าหลากหลายประเภทมากเท่าไหร่ ยิ่งมีตัวเลือกมาก แต่อย่าลืมว่าสินค้าทุกชิ้นไม่ใช่ว่าจะขายได้ ขายหมดในทันที ผู้ประกอบการเองจะต้องต้องทราบถึงความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุดว่าสินค้าแบบไหนขายง่าย ขายดี เพื่อลดความเสี่ยงในการที่เอาเงินทุนมาจมกับของที่ขายไม่ได้
สามารถอ่านรายละเอียดวิธีการเพิ่มเติมได้ที่ แนะวิธีการเลือกสินค้าเข้าร้าน “โชห่วย” ให้โดนใจลูกค้ายอดขายทะลุเป้า
6.จัดร้านให้ดีช่วยเพิ่มยอดขายได้
การจัดวางร้านเป็นสิ่งสำคัญที่มอบข้ามไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นตัวเรียกลูกค้าแล้วยังทำให้ลูกค้ารู้สึกดีและอยากกลับมาซื้อของที่ร้านอีกในครั้งต่อ ๆ ไป โดยการจัดของ ไม่ได้มีกฎตายตัวแต่ก็มีหลากหลายข้อที่เราอยากแนะนำ ดังนี้
จัดของให้เท่าสายตาของลูกค้า เช่นหากเป็นขนม หรือสินค้าสำหรับเด็กให้จัดสินค้าชั้นล่าง ๆหรือหากเป็นสินค้าสำหรับผู้ใหญ่ให้จัดในระดับที่สูงขึ้นมาหน่อย เป็นต้น
สินค้าทุกอย่าง ต้องมีที่ประจำ เพื่อความสะดวกสบายของลูกค้าประจำ ไม่ควรวางผังร้านใหม่บ่อย สินค้าใดวางไว้ตรงไหนก็ให้จำให้ดี และเติมสินค้าใหม่ ณ ที่เดิม ซึ่งนอกจากดีกับลูกค้าแล้ว ยังง่ายต่อการเติมสต็อกสินค้าใหม่อีกด้วย
7.ตั้งราคาขายอย่างเหมาะสม
ต้องเข้าใจก่อนว่าร้านโชห่วย สินค้าแต่ละชนิดไม่ได้สร้างกำไรมากมาย แต่จะไปเน้นในเรื่องของปริมาณหรือจำนวนการขายมากกว่า ดังนั้นเราควรตั้งราคาขายอย่างเหมาะสม อย่าบวกราคามากจนเกินไป เพราะหากลูกค้ามีทางเลือกอื่นเข้าจะเปลี่ยนไปซื้อร้านอื่นทันที
เหล่านี้ล้วนเป็นรายละเอียดของการเปิดร้านขายของที่ทุกคนสามารถนำไปทำตามได้ สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีการบริหารจัดการเป็นอย่างดี ทำบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่เสมอ หากมองข้ามเรื่องนี้ คุณอาจจะมานั่งสงสัยภายหลังว่าทำไมขายดีจังแต่ไม่มีกำไร ทุนหายไปไหนหมดก็เป็นได้
อ่านบทความสร้างอาชีพอื่น ๆ คลิก