โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ทำธุรกิจแบบไหน ประหยัดภาษีกว่ากัน? “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล”

รูปแบบการดำเนินกิจการนั้นมี 2 ประเภทให้เลือกคือ ในรูปแบบบุคคลธรรมดา และรูปแบบนิติบุคคล (ส่วนประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลเลิกคิดไปได้เลยครับ เสียภาษีซ้ำซ้อนและมากกว่ารูปแบบอื่นตามที่ได้อธิบายไปในบทความฉบับที่แล้ว) ธุรกิจของบางคนอาจจะประหยัดภาษีมากกว่าเมื่อทำในรูปแบบบุคคลธรรมดา ในขณะที่ของบางคนอาจจะดีกว่าเมื่อทำในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งตัวแปรสำคัญที่สุดก็คือประมาณการเงินได้และลำดับขั้นบันไดของอัตราภาษีที่ต้องเสียนั่นเองครับ ทบทวนอัตราภาษีบุคคลธรรมดาที่เพิ่งอัพเดทกันในปี 2560 นี้กันสักนิด
เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย (บาท) อัตราภาษี ภาษีสะสมในอัตราต่างๆ (บาท)
≤ 150,000 ยกเว้น 0
> 150,000 - 300,000 5% 7,500
> 300,000 - 500,000 10% 27,500
> 500,000 - 750,000 15% 65,000
> 750,000 - 1,000,000 20% 115,000
> 1,000,000 - 2,000,000 25% 365,000
> 2,000,000 - 5,000,000 30% 1,265,000
> 5,000,000 35% มากกว่า 1,265,000
ที่ผมเขียนว่าเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายนั้นเป็นเพราะเมื่อเราทำธุรกิจบางประเภทในรูปแบบของบุคคลธรรมดาก็สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักได้ โดยเลือกแบบหักเหมา (โดยไม่ต้องแสดงหลักฐาน) หรือแบบหักตามจริง (โดยต้องแสดงหลักฐาน) ก่อนที่จะนำรายได้ที่เหลือมาคำนวณอัตราภาษีในแต่ละขั้นนั่นเองครับ (ดูอัตราการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทได้จาก www.itax.in.th/pedia/เงินได้) ในขณะที่ภาษีนิติบุคคล กรณีที่ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือที่เรียกกันว่า “นิติบุคคลแบบ SME” มีอัตราภาษีดังนี้
กำไร (บาท) อัตราภาษี ภาษีสะสมในอัตราต่างๆ (บาท)
≤ 300,000 ยกเว้น 0
> 300,000 - 3,000,000 15% 405,000
> 3,000,000 20% >405,000
เมื่อลองคำนวณจะเห็นได้ว่าจุดตัดของภาษีสะสมต่อเงินได้จะอยู่ที่ 800,000 บาทต่อปีพอดี (หรือ 66,666.67 บาทต่อเดือน) จะเสียภาษี 75,000 บาทเท่ากัน ไม่ว่าจะประกอบกิจการรูปแบบใดคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา = (800,000-750,000)x0.20 + 65,000 = 75,000 บาท  ภาษีเงินได้นิติบุคคล = (800,000-300,000)x0.15 = 75,000 บาท ซึ่งเงินได้ที่มากกว่าจุดนี้ไป ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะเสียภาษี 20%-35% ในขณะที่นิติบุคคลจะเสียภาษี 15%-20% ดังนั้นถ้ากิจการของเรามีเงินได้น้อยกว่า 800,000 บาทต่อปี การทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดาจะยังคงเสียภาษีน้อยกว่า แต่หากมากกว่านี้เมื่อไร การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะดีกว่าครับ ทั้งนี้อย่าลืมบวกต้นทุนในการทำธุรกิจรูปแบบนิติบุคคล เช่น ต้นทุนในการทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและธุรกรรมต่างๆ ของนิติบุคคล (เช่น การจดทะเบียนบริษัท การประชุมผู้ถือหุ้น) เข้าไปด้วยนะครับ ดังนั้นถ้ารายได้หลังหักค่าใช้จ่ายหรือกำไรอยู่ที่ 800,000 บาท (บวกบวกนิดๆ) การทำกิจการในรูปแบบของบุคคลธรรมดาก็ยังถือว่าประหยัดได้มากกว่าครับ   ผู้เขียน ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ หรือ ดร.เรือบิน ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง iTAX แอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ที่ให้บริการคำนวณและเตรียมแบบภาษีอันดับ 1 ของไทย
Tags: