โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ขายของได้ แต่ทำไม? ไม่มีเงินหมุน!

เรื่องของเรื่อง จะอยู่ที่ความเข้าใจในการหมุนเวียนของกระแสเงินสดของธุรกิจ นั่นเอง ลองมาดูง่ายๆ โดยสมมติว่า เริ่มต้นทำธุรกิจจากศูนย์ คือไม่มีอะไรมาก่อนเลย การทำธุรกิจ ก็คงจะต้องเริ่มต้นมาจากการสั่งซื้อวัตถุดิบต่างๆ มาเพื่อผลิตเป็นสินค้าหรือบริการ ทำการขาย และจัดเก็บเงิน ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจจะต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งออกไปในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้า ก่อนที่จะขายสินค้านั้นได้เงินกลับมาสู่ธุรกิจ เป็นวงจรที่เกิดซ้ำๆ กัน หากเงินที่ได้จากการขายสินค้า หมุนกลับเข้ามาไม่ทันสำหรับการนำไปลงทุนซื้อวัตถุดิบ ธุรกิจก็จะขาดเงินในวงจร

           จำเป็นที่จะต้องวิ่งหาแหล่งเงินจากภายนอกมาใช้ก่อนชั่วคราว ซึ่งวิธีการที่มักใช้กันอยู่ก็คือ การกู้เงินมาใช้ให้พอสำหรับการหมุนเวียนเงินในธุรกิจ ไม่ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากขาดเงินสำหรับการนำไปลงทุนซื้อวัตถุดิบมาผลิตเป็นสินค้าล๊อตใหม่ เงินกู้ประเภทนี้ มักจะเรียกว่า เงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ SME มักจะทำให้รูปของการขอเป็นวงเงินเบิกเกินบัญชีในบัญชีกระแสรายวัน เรื่องของความสามารถในการบริหารเงินหมุนเวียนในธุรกิจดังกล่าวนี้ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาชึ้น ลองมาดูกันว่า มีปัจจัยใดที่จะช่วยในการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ เพื่อให้ SME มีความคล่องตัว ทำให้สร้างรายได้ให้ธุรกิจกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ทันกับการนำไปใช้ในวงจรการผลิตสินค้าล๊อตใหม่ได้ทันท่วงที ประการแรกก็คือ การบริหารระยะเวลาการชำระเงินค่าวัตถุดิบ หากสามารถขอเครดิต หรือที่เรียกกันว่า ซื้อวัตถุดิบด้วยเงินเชื่อ ก็จะทำให้วงจรเงินที่จะไหลออกจากธุรกิจมีเวลายาวนานขึ้นในทางกลับกัน

        หากต้องซื้อวัตถุดิบด้วยเงินสด เงินไหลออก ก็จะเกิดขึ้นทันที ประการต่อมาก็คือ การบริหารระยะเวลาในการจัดเก็บเงินจากการขายสินค้า ซึ่งหากสามารถจัดเก็บได้เป็นเงินสด ก็จะมีกระแสเงินไหลเข้ามาในธุรกิจทันที แต่หากต้องขายด้วยเงินเชื่อ ก็จะต้องเสียเวลาอีกช่วงหนึ่งก่อนที่จะไปเก็บเงินมาได้จากผู้ซื้อ ดังนั้น คาถาที่มักจะต้องท่องกันอยู่เสมอในวงการของเอสเอ็มอีก็คือ ซื้อเชื่อ-ขายสด ซึ่งจะทำให้การบริหารเงินสดมีประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อเนื่องที่มักจะถูกมองข้าม ก็คือ เรื่องของการจัดเก็บสต็อกสินค้า หากสินค้าที่ผลิตขึ้นมา ต้องจัดเก็บอยู่ในสต็อก ไม่สามารถนำไปขายได้ทันที สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ระยะเวลาที่จะนำสินค้าไปหมุนเป็นเงินสดกลับเข้ามา ก็จะมีระยะเวลานานขึ้น การเก็บสต็อกสินค้าไว้นานเกินไป จึงเป็นตัวการอีกประการหนึ่งที่จะทำให้เงินสดที่จะไหลกลับเข้ามาในธุรกิจ ต้องใช้เวลายาวนานขึ้น ดังนั้น ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ จึงนิยมระยะเวลาเป็นจำนวนวันของวงจรตั้งแต่การจ่ายเงินออกไปจนถึงวันที่เงินจะไหลกลับเข้ามาจากการขาย เป็นตัววัดประสิทธิภาพของการจัดการ โดยเรียกว่าเป็น ระยะเวลาของวงจรการแปลงสินทรัพย์ หากวงจรการแปลงสินทรัพย์มีระยะเวลาที่สั้น คือมีจำนวนวันน้อยกว่า ก็จะแสดงถึงฝีมือการบริการการเงินของเอสเอ็มอีว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่า สูตรการคำนวณระยะเวลาของวงจรการแปลงสินทรัพย์ ก็คือ จำนวนวันที่ต้องเก็บสินค้าในสต๊อคก่อนนำออกขาย + จำนวนวันที่ใช้ในการจัดเก็บเงินจากการขายหรือจากลูกหนี้การค้า – จำนวนวันที่ใช้ในการชำระค่าวัตถุดิบหรือการชำระเงินให้กับเจ้าหนี้การค้า เจ้าของ SME ที่มีทักษะในเรื่องของการบริหารการเงิน ก็จะทราบวิธีการนับจำนวนวันเหล่านี้ได้ไม่ยาก แต่สำหรับเจ้าของSME ที่มักจะสงสัยว่า ทำไมของก็ขายได้ แต่เงินที่จะใช้หมุนเวียนมักจะขาดมือ ต้องกู้ยืมมาจากภายนอกเป็นประจำ อาจจะต้องปรึกษานักบัญชีประจำบริษัทดูว่า

เป็นเรื่องของความสามารถของธุรกิจในการบริหารจัดการวงจรการแปลงสินทรัพย์หรือไม่!!!!    

Tags: