“ช่าง 1 คน ตัดกางเกงยีนส์ได้ทีละตัว งานที่ทำขึ้นมาเฉพาะบุคคลจะค่อนข้างพิเศษ เหมือนเราทำสินค้าตัวเดียวให้กับลูกค้า ซึ่งสร้างความแตกต่างจากระบบอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน เพื่อสร้างพื้นที่ยืนใหม่ในตลาด ประกอบกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับตัวสินค้ามากขึ้น ต้องการลงทุนกับสินค้าที่มีคุณภาพและใช้ได้นานขึ้น ที่สำคัญคือมีความ Unique ที่ไม่เหมือนใคร” วิชพงษ์ เล่าแนวคิดธุรกิจ
เพราะคนเราชอบอะไรไม่เหมือนกัน วิชพงษ์ จึงเปิดโอกาสให้ลูกค้าสร้างสรรค์กางเกงยีนส์ผ้าริมในสไตล์ตนเอง ตั้งแต่การเลือกทรงกางเกง มีให้เลือก 4 ทรง ได้แก่ Super Skinny, Skinny, Slim และ Straight การเลือกชนิดของผ้ายีนส์จากแหล่งผลิตชั้นนำระดับโลก เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา ที่มีกว่า 30 ชนิด ตลอดจนการตกแต่งยีนส์ด้วยวัสดุคุณภาพต่างๆ เช่น สีเส้นด้าย มีให้เลือกมากกว่า 20 สี กระดุมตอก ป้ายโลโก้ ป้ายหนัง รวมไปถึงการสั่งฟอกสียีนส์ กระทั่งการเลเซอร์ชื่อหรือข้อความที่ต้องการลงในกางเกงยีนส์ตัวพิเศษ ก็สามารถทำได้
ราคายีนส์สั่งตัดอยู่ที่ 6,900-15,000 บาท ส่วนรุ่นพรีเมียมราคาอยู่ที่ 13,000-15,000 บาท เวลาในการทำต่อตัวประมาณ 7-15 วัน แล้วแต่ความยากง่าย อีกลูกเล่นที่ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์วัย 25 ปี ทำก็คือสร้างความพิเศษ คือ การบรรจุสินค้าลงในกล่อง พร้อมระบุว่ากางเกงยีนส์ตัวนี้ผลิตเป็นตัวที่เท่าไร วันที่ผลิต รายละเอียดเกี่ยวกับผ้าและวัสดุต่างๆ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของ “Selvedgework เป็นแบรนด์ที่ลูกค้าเลือกหรือ Custom made ได้จากสิ่งที่เราคัดสรรมาอย่างดีจากทั่วทุกมุมโลก เราไม่ใช่ร้านตัดกางเกงยีนส์ทั่วไปที่ลูกค้าจะสั่งอะไรก็ได้ ช่วงแรกเจอปัญหานี้พอสมควร ต้องพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกค้า ในสิ่งที่ผมต้องการทำแบรนด์ให้ลูกค้ารู้สึกว่า คุ้มค่า เกิดความพึงพอใจ แม้ว่าจะจ่ายสูง แต่ไม่เสียดายเงิน เพราะเป็นสินค้าชิ้นเดียวในโลก”
ในช่วงแรก วิชพงษ์ ทำการตลาดผ่านทางเฟซบุ๊กกับอินสตราแกรมเท่านั้น เพราะสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง แต่หลังจากที่กระแสลูกค้าดีขึ้นเรื่อยๆ เขาตัดสินใจเปิดหน้าร้าน สาขาแรกที่สยามสแควร์ ซอย 2 และสาขา 2 ที่ ดิ เอ็มควอเทียร์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างประสบการณ์พิเศษให้ลูกค้าซึมซับความเป็นแบรนด์ Selvedgework
เขาบอกว่า กลยุทธ์ Niche Market จำเป็นต้องสร้างเรื่องราว (Story) ให้ลูกค้ามีอารมณ์ร่วม (Emotional) กับสินเค้า เช่น การเล่าเรื่องที่มาของผ้า อีกทั้งบรรยากาศของร้าน เช่น โซฟาที่นั่ง เพลงที่เปิด กลิ่นที่ใช้ เป็นต้น วิชพงษ์ บอกอย่างมั่นใจว่า “สิ่งเหล่านี้คือ Power of Branding ที่ช่วยเสริมความรู้สึกให้ลูกค้าอินตาม เพราะเราไม่ได้ขายกางกางยีนส์ แต่ขายอารมณ์ ขายแบรนด์มากกว่า” วันนี้โมเดลธุรกิจของ Selvedgework เกิดจากการสร้างตลาดใหม่ขึ้นเอง แล้วทำให้เค้กก้อนนี้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม พิสูจน์ได้จากการที่ลูกค้าขาประจำพึงพอใจในงาน และกลับมาสั่งตัดซ้ำ ทั้งที่กางเกงยีนส์เป็นสินค้าที่คนเราไม่ได้ซื้อกันบ่อยๆ ปัจจุบันเฉลี่ยยอดสั่งตัดประมาณเดือนละ 100 ตัว และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนเกือบจะคืนเงินลงทุนทั้งหมดได้แล้ว
ส่วนการทำตลาด อาศัยผ่านโซเชียลมีเดีย ลูกค้ามักรู้จักผ่านการบอกต่อ โดยกว่า 60% เป็นคนไทย และอีก 40% ชาวต่างชาติ ทั้งเอเชีย และยุโรป
ลูกค้าของแบรนด์ Selvedgework กว่า 80% คือ “ผู้ชาย” วิชพงษ์อธิบายว่า ผู้ชายโดยทั่วไปจะมีกางเกงยีนส์ที่ใส่ประจำเฉลี่ยคนละ 5 ตัวเท่านั้น และแต่ละตัวจะใช้ใส่ยาวนาน ดังนั้น ผู้ชายจึงยอมจะซื้อกางเกงยีนส์ราคาสูงเพื่อแลกกับคุณภาพ “เรามีโปรแกรม Custom online บนเว็บไซต์ www.selvedgework.com ให้ลูกค้าได้ลองเข้าไปคลิกเลือกผ้า เลือกวัสดุต่างๆ สร้างยีนส์ด้วยตัวเอง เพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาที่ร้าน ซึ่งปัจจุบันเรากำลังเตรียมขยายสาขาเพิ่มที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ผมเชื่อว่าหากสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าภายใต้แบรนด์ของเราได้ ลูกค้าย่อมมีความภาคภูมิใจในแบรนด์ และทำให้แบรนด์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น” วิชพงษ์กล่าวทิ้งท้าย