ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ต่อยอดรวย! สกว.ถ่ายทอดงานวิจัย “เครื่องดื่ม-ความงาม” ขายเชิงพาณิชย์


       

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำ 2 ผลงานเสนอในโครงการ “การส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้านการลงทุน” ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย ที่มีศักยภาพในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ และจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ประกอบการ โดยมีนักวิจัยร่วมนำเสนอผลงานรวมทั้งสิ้น 10 ผลงาน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBio) สำหรับ 2 ผลงานวิจัยของ สกว.ได้แก่ “นาโนโปรวิตามินเอ” โดย ศ.ดร.ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการใช้กรดวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารต่อต้านริ้วรอยที่ดีที่สุด แต่การใช้งานมีปัญหาสองเรื่องคือ ก่อให้เกิดการแพ้ เช่น มีอาการคัน รอยดำ และการที่สารไม่เสถียรทางเคมี ทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุสั้น

           

คณะนักวิจัยจึงได้ออกแบบทางเคมี ควบคู่กับการจัดตัวของสายพอลิเมอร์สร้างอนุภาคนาโนโปรวิตามินเอขึ้น อนุภาคที่ได้มีความเสถียรสูง และสามารถปลดปล่อยอนุพันธ์วิตามินเอออกมาได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อสัมผัสกับผิวหนัง ทำให้สามารถแก้ปัญหาการแพ้ได้ เนื่องจากไม่มีช่วงความเข้มข้นสูงเกินไปหลังทา และแก้ปัญหาการสลายตัวได้ เพราะจะปลดปล่อยที่ค่าความเป็นกรดเบสของผิว ผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นได้ผ่านการทดสอบการแพ้ครบถ้วนทั้งในสัตว์ทดลอง และการทดสอบสมบัติการต่อต้านริ้วรอยทั้งในระดับเซลล์สัตว์ทดลองโดยสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาสาสมัครโดยแพทย์ผิวหนัง ซึ่งพบว่าใน 12 สัปดาห์ การใช้งานที่ปริมาณเท่ากัน อนุภาคนาโนโปรวิตามินเอให้ผลลดริ้วรอยได้ดีกว่ากรดวิตามินเออย่างชัดเจน แต่ไม่ทำให้เกิดการแพ้ ผลงานวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์เป็นเครื่องสำอาง และสามารถพัฒนาต่อเป็นยารักษาสิวได้ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ในระดับไมโครนีเดิล (microneedle) ซึ่งใช้เข็มขนาดเล็กมาก ๆ ส่งผ่านนาโน โปรวิตามินเอลงสู่ผิวหนังในระดับลึก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทันทีหลังการใช้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 1 ปี ก่อนขยายผลในระดับอุตสาหกรรมต่อไป

           

อีกหนึ่งผลงานคือ “เครื่องดื่มเปปไทด์สกัดจากเห็ดลม ที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน” โดย ผศ. ดร.รักฤดี สารธิมา และคณะ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) สกว. ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของการดูแลสุขภาพ โดยเครื่องดื่มนี้มีส่วนประกอบของผลิตผลจากธรรมชาติและมีประโยชน์สุขภาพ นอกจากเห็ดลมที่เป็นส่วนประกอบหลัก

           

ผลการวิจัยพบว่ามีเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ “แองจิโอเทนซิน-1 คอนเวอร์ทิงเอนไซม์ (ACE-I) ที่จะมีผลควบคุมความดันโลหิตสูงให้ลดลงได้แล้ว ยังมีส่วนประกอบจากสารธรรมชาติอื่นๆ จากเห็ดชนิดนี้ เช่น สารพิลิฟีนอล และเบต้า-กลูแคน รวมถึงสรรพคุณทางยาอื่นๆ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง และฤทธิ์ต้านการอักเสบ

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดผลิตภัณฑ์ และร่วมลงทุนได้ที่ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว.โทร.0-2278-8243