ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน “ฝายแม่บ่อทอง/ทรบ.เหมืองนา” เผย 3 เทคนิคบริหารจัดการน้ำเพื่อความเท่าเทียม


  การรวมตัวของ 2 กลุ่มผู้ใช้น้ำ   

              

นายวันชัย กันทะวงศ์ เลขานุการคณะกรรมการดำเนินงาน กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานฝายแม่บ่อทอง/ทรบ.เหมืองนา เล่าว่า “แต่เดิมนั้นกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายแม่บ่อทองและกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายเหมืองนายังไม่ได้รวมตัวกัน โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายแม่บ่อทองนั้นจะอาศัยน้ำจากแม่น้ำแม่มอก” ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายเหมืองนา พอตั้งกลุ่มได้ไม่นานนักก็มีการสร้างอาคารท่อระบายขึ้น กลุ่มจึงลงมติเปลี่ยนชื่อเป็น ทรบ.เหมืองนา โดยใช้น้ำจากโครงการอ่างเก็บน้ำแม่มอกซึ่งในการรับน้ำของ ทรบ.เหมืองนานั้น จะรับน้ำต่อจากกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานฝายแม่บ่อทอง เนื่องจากพื้นที่อยู่บริเวณปลายน้ำ ในเวลาต่อมา ทั้ง 2 กลุ่มจึงเห็นว่าควรทำการรวมตัวกันเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเท่าเทียม ภายใต้ชื่อกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานฝายแม่บ่อทอง/ทรบ.เหมืองนาขึ้นในปี 2554 มีพื้นที่การเกษตรรวมกันประมาณ 9,000 ไร่

             

เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่การแบ่งปันที่ยั่งยืน แม้ว่าสภาพภูมิประเทศของพื้นที่นี้จะเอื้อต่อการจัดสรรน้ำเป็นทุนเดิมเนื่องจากมีต้นน้ำอยู่ในพื้นที่สูงแต่เมื่อเกิดการรวมกลุ่มขึ้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการสร้างความสามัคคีและความเท่าเทียมทางกลุ่มจึงเริ่มต้นจากการให้สมาชิกช่วยกันสร้างทำนบกั้นน้ำหรือที่เรียกกันว่าแตรแบ่งน้ำไว้ตามจุดต่างๆเพื่อให้ ส่งน้ำไปยังแต่ละพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียม

         

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้กลุ่มสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพคือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต้องไม่ให้ใครรู้สึกว่าใครได้น้ำมากกว่าใครซึ่งเกณฑ์การจัดสรรน้ำที่เป็นธรรมที่สุดคือประเมินตามพื้นที่ของแต่ละคนมากน้อยตามสัดส่วนและหากประชุมกันแล้วว่าใช้น้ำต่อพื้นที่ 1 : 1 ก็ต้องเป็นตามนั้นจะใช้เกินกว่านี้ไม่ได้จึงต้องมีการตั้งกติกาเพื่อตักเตือนและลงโทษผู้ฝ่าฝืนด้วยเพื่อนำไปสู่การจัดการน้ำที่ยั่งยืนรับมือกับปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

          

3 เทคนิคบริหารจัดการน้ำเพื่อความเท่าเทียม การมีกลุ่มที่เข้มแข็งนั้นยังนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยแล้งเช่นเมื่อปี 2558 ที่น้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้อยทางกลุ่มจึงได้ปรึกษาหารือกันเพื่อหาวิธีบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบไว้ 3 ประการดังนี้ ประการแรก คือ งดการทำนาปรังเพราะต้องใช้น้ำเยอะ ประการที่สอง คือ การอนุญาตให้สูบน้ำสำหรับพืชที่ใช้น้ำน้อยเช่นถั่วเหลืองถั่วเขียวและข้าวโพดแทน ประการสุดท้าย คือ การตั้งเวรส่งน้ำออกเป็นสายคลองซึ่งกลุ่มกำหนดไว้ 8 สายโดยพิจารณาการส่งน้ำให้แก่สายที่มีปัญหามากที่สุดก่อนหลังจากนั้นจึงส่งต่อให้สายที่ได้รับผลกระทบหนักเบาต่อๆกันไปจนได้รับน้ำทั่วถึงกัน

          

นายวันชัยเล่าต่ออีกว่า “อย่างไรก็ตามจากนโยบายการบริหารการใช้น้ำที่ใช้กันอยู่อีกทั้งในปัจจุบันที่มีการเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำจาก 96 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 110 ล้านลูกบาศก์เมตรทำให้คาดการณ์ไว้ว่าหากไม่เกิดภัยแล้งที่หนักกว่าปี 2558 กลุ่มจะสามารถบริหารจัดการน้ำไปได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอนนอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการทำเกษตรอินทรีย์เช่นข้าวไรซ์เบอร์รี่และถั่วดาวอินคา ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงส่งออกผ่านการทำการตลาดและขายออนไลน์ร่วมด้วย”

        

“ฝายมีชีวิต” รางวัลที่ 3 สถาบันเกษตรกรดีเด่น นอกจากเทคนิคการบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าแล้งแล้วนายวันชัยยังได้เผยถึงองค์ความรู้สำคัญที่ทำให้กลุ่มได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นในปี 2560 มาครองนั่นคือการสร้าง “ฝายมีชีวิต” ไว้สำหรับกักเก็บน้ำโดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมมาดัดแปลงให้เหมาะกับสภาพพื้นที่มีวิธีการดังนี้ เริ่มจากการเจาะรูที่ต้นไม้ทำให้สามารถต่อไม้เรียงลงไปได้เรื่อยๆและใช้ไม้ขนาดเท่ารูต้นไม้ที่วางในแนวราบกำหนดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ4 นิ้วและตอกลงดินแทนการใช้ตะปูจากนั้นจึงทิ้งหินลงไปเพื่อให้เกิดการทับถมของชั้นหินและสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้โดยเมื่อระยะเวลาผ่านไปธรรมชาติที่อุดมไปด้วยต้นไม้นานาพรรณและรายล้อมไปด้วยต้นไคร้จะมีคุณสมบัติช่วยในการยึดเกาะหินในช่วงน้ำหลาก ทำให้ฝายไม่ถูกทำลายรักษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมเดิมให้คงอยู่อีกด้วย

นายวันชัยทิ้งท้ายว่า “ทางกลุ่มรู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลในปีนี้ทำให้กลุ่มมีความสามัคคีมากขึ้นและมีกำลังใจในการรักษาระบบนิเวศเดิมของฝายมีชีวิตต่อไปและเรามีความคาดหวังว่าจะทำการเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้นคาดหวังให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องนี้ในวงกว้างซึ่งกลุ่มได้เริ่มอบรมผู้นำเกษตรกรประจำหมู่บ้านเพื่อให้นำไปบอกต่อและปรับใช้ต่อไปเป็นก้าวเล็กๆที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรไปในทางที่ดีขึ้นในอนาคต”