โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

“Greenday” ฝ่าวิกฤติล้างหนี้ 150 ล้าน ทะยานสู่เบอร์หนึ่งของผักและผลไม้อบกรอบ

            ชัยรัตน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจ Greenday ว่า เมื่อก่อนครอบครัวทำธุรกิจเทรดดิ้งมากว่า 30 ปี โดยรับซื้อสินค้าประเภทอาหารมาเพื่อที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจุดนี้เองทำให้เขาเลือกที่จะเรียนระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร (Food Science and Technology) เพื่อที่จะได้รู้ลึกและเข้าใจถึงกระบวนการผลิตอาหารอย่างถ่องแท้ และหลังจากเรียนจบก็ได้เข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันที่ทางคุณพ่อได้ไปกู้เงินธนาคารมากว่า 150 ล้านบาทเพื่อนำมาขยายธุรกิจและสร้างโรงงานใหม่ แต่ทว่ากลับมียอดขายไม่เติบโตอย่างที่คิด ทำให้ติดหนี้เป็นจำนวนมหาศาล “ช่วงนั้นรู้สึกท้อแท้มาก คิดกังวลไปต่างๆ นานา ว่า สิ่งที่สร้างมาจะโดนยึดไหม ชีวิตต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่ที่สุดแล้วเราก็ยังไม่ยอมแพ้ จะต้องหาทางออกให้ได้ จนมาเจอว่า ควรจะสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง เพราะเราควบคุมมันได้เอง และจะต้องสร้างให้มันมีมูลค่ามากขึ้น” ชัยรัตน์ กล่าวเสริม           ด้วยความที่ชัยรัตน์ เรียนด้านอาหารมา ทำให้เขาตัดสินใจหันมาเป็นผู้ผลิตผักและผลไม้อบกรอบแทน ภายใต้แบรนด์ ‘Greenday’ โดยเริ่มจากรวบรวมเงินส่วนตัวจากคนในครอบครัวเพื่อไปซื้อเครื่องจักรอบกรอบผักผลไม้ ที่มีราคาประมาณ 1 ล้านบาท แต่ยังไม่ทันจะได้ใช้ ก็เจอกับปัญหาอีกครั้ง เมื่อทางผู้ผลิตทำเครื่องเสร็จไม่ทันตามกำหนด ทั้งที่จ่ายเงินมัดจำไปแล้ว ทำให้เงินก้อนที่รวมมาได้ต้องสูญเปล่า แต่ชัยรัตน์ก็ยังฮึดสู้ต่อ โดยได้ไปขอยืมเงินจากญาติมาเพื่อสั่งซื้อเครื่องจักรจากรายใหม่ จนได้มาในที่สุด           เมื่อได้เครื่องจักรมาตามที่ต้องการแล้ว ก็เริ่มผลิตผักและผลไม้อบกรอบเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศทันที แต่ด้วยความที่ใช้เวลาขนส่งนาน ทำให้สินค้าที่เคยกรอบกลับนิ่มไปหมด ส่งผลให้ไม่สามารถขายสินค้าล็อตนั้นได้  ชัยรัตน์จึงใช้เวลากว่า 6 เดือนในการพัฒนาปรับปรุงสูตร เพื่อทำให้ผักและผลไม้อบกรอบที่อยู่ได้นานขึ้น โดยใช้เครื่องทอดสุญญากาศ (Vacuum fryer) ซึ่งจะช่วยรักษาคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ และสีสันได้ใกล้เคียงกับของสดได้มากที่สุด โดยผลไม้ที่นำมาแปรรูป ได้แก่ ขนุน เผือก สัปปะรด กล้วย มัน กระเจี๊ยบ และบล็อคโคลี่ เป็นต้น           เมื่อได้สินค้าที่มีคุณสมบัติตามต้องการแล้วก็ใช้ว่า ธุรกิจจะประสบความสำเร็จ เพราะยังต้องเผชิญกับคู่แข่งทางการค้าอย่างประเทศเวียดนาม ที่ส่งออกเหมือนกัน แต่ขายราคาถูกกว่า ทำให้ชัยรัตน์ตัดสินใจเปลี่ยนตลาดลูกค้า หันไปจับกลุ่มตลาดบนที่มีกำลังซื้อแทน “ตอนแรกวางสินค้าให้จับตลาดของฝาก ของกินตามเทศกาล ก็ต้องหันมาเปลี่ยนเป็นตลาดคนรักสุขภาพแทน จากตอนแรกที่ใช้น้ำมันปาล์มก็เปลี่ยนเป็นน้ำมันรำข้าวซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แล้วก็ขายในราคาสูงขึ้น จับตลาดบน เพราะสู้ในสงครามราคาไม่ได้ ซึ่งนับแต่นั้นมาสินค้าก็ขายดีอย่างต่อเนื่อง” ชัยรัตน์เล่าเสริม           ส่วนการทำตลาดในเมืองไทยนั้น ชัยรัตน์ ใช้กลยุทธ์ Below-the-Line คือการจัดกิจกรรมเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม อย่างการแจกใช้ชิมฟรี เพราะจากสถิติที่เขาเคยรวบรวมไว้ พบว่า กว่า 80%  ของลูกค้าเมื่อได้ลองชิมก็จะตัดสินใจซื้อทันที และยังใช้ช่องทางออนไลน์ อย่างเฟชบุ๊กในการประชาสัมพันธ์แบรนด์  อาทิ จัดโปรโมชั่นแจกสินค้าให้กับแฟนเพจ รวมไปถึงแนะนำประโยชน์จากผักและผลไม้ในโพสต์ต่างๆ           ปัจจุบันสินค้าของ Greenday มีหลากหลายชนิด อาทิ เผือก กระเจี๊ยบ ทุเรียน มันเทศ มะม่วง บล็อกโคลี่ ราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท วางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ด้านตลาดต่างประเทศส่งออกไปกว่า 25 ประเทศทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน รวมถึงกลุ่มอาเซียน โดยมียอดขายกว่า 10 ล้านซองต่อปี สร้างรายได้กว่า 300 ล้านบาท           ชัยรัตน์ เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ไม่เคยยอมแพ้ แม้จะเคยประสบปัญหานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ยังลุกขึ้นมาสู้ต่อ จนวันนี้เขาก้าวมาเป็นไอดอลนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของใครหลายๆ คน   ภาพจาก www.facebook.com/greendaybrand