โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กสอ. เสริมแกร่ง SMEs ไทย แนะ 5 ปัจจัยต้องปรับรับ “เศรษฐกิจดิจิทัล”

อย่างไรก็ตาม กสอ. ได้เตรียมโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ด้วยงบประมาณกว่า 80 ล้านบาท อาทิ โครงการสร้างธุรกิจใหม่ (NBC) กิจกรรม Plan to Biz ฯลฯ ทั้งนี้ จากการดำเนินงานส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ของ กสอ. กว่า 15 ปี สามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ได้แล้วกว่า 77,800 ราย นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การส่งเสริมและการสนับสนุนให้มีการเกิดขึ้นของธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทาง กสอ. ได้ดำเนินผ่านโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่และกิจกรรมต่าง ๆ มากว่า 15 ปี เนื่องจากเป็นกลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งการก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในอัตราสูง เพิ่มศักยภาพในการแทนที่ธุรกิจแบบเดิม พร้อมทั้งยังช่วยให้เกิดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ ๆ ที่สอดรับกับความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่มีสูงขึ้น โดยผลการดำเนินโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบันนั้นพบว่ามีผู้ผ่านกระบวนการสร้างผู้ประกอบการใหม่มาแล้วกว่า 77,800 ราย ส่งเสริมการขยายธุรกิจกว่า 16,800 ราย เกิดการจ้างงานกว่า 64,000 ราย มีมูลค่าการลงทุนกว่า 26,300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2559 กสอ. พัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่จำนวนกว่า 2,500 ราย ในจำนวนนี้สามารถก่อตั้งธุรกิจได้ 790 ราย เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 680 ล้านบาท และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 3,500 คน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการขยายตัวทางด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างสรรค์ (Innaovation & Creative) เพิ่มเป็นจำนวนมาก นายพสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันที่โลกได้ก้าวสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้เกิดขึ้นอย่างมากมายในแทบทุกสาขา ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งการปรับแก้อุปสรรคในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กสอ. ได้รวบรวมปัจจัยที่กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ต้องให้ความสำคัญเพื่อเป็นแนวทางสู่การพัฒนาให้เติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ 1) การหาตลาดที่ดีและสร้างสินค้าให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ถ้าสินค้าหรือบริการที่กำลังสร้างขึ้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคก็ยากที่จะเติบโตขึ้นไปอีกได้ การพบปะหรือทำการศึกษากับกลุ่มผู้บริโภคจะทำให้ทราบว่าสินค้าหรือการบริการนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งเมื่อทราบถึงผลของการศึกษาดังกล่าวแล้วก็จะทำให้เกิดกระบวนการในการพัฒนาสู่ความเติบโต ทั้งนี้สินค้าหรือการบริการที่แปลกใหม่และไม่เหมือนใครย่อมทำให้เกิดข้อได้เปรียบและเป็นเสมือนอาวุธลับที่สำคัญที่ช่วยให้ก้าวล้ำคู่แข่งได้เสมอ 2) พัฒนาด้วยการทดลองอย่างรวดเร็ว กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ที่มีการเติบโตเร็ว ล้วนมีการตั้งเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลาและหาไอเดียใหม่ ๆมาทดลองเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้เร็วที่สุดอยู่เสมอ และถึงแม้ว่าการทดลองแบบเร็วจะทำให้สินค้าเติบโตค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อถูกสั่งสมไปเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นการเติบโตที่ยิ่งใหญ่ และนำมาซึ่งความสำเร็จได้โดยที่ไม่คาดคิด 3) ให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสาร ผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันมักมีจุดอ่อนในการรับรู้ด้านข้อมูลหรือข่าวสารต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัว เช่น นโยบายและมาตรการในการส่งเสริมของรัฐ ข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด เป็นต้น ดังนั้น ในการที่จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องหมั่นศึกษาทั้งในเรื่องของแนวทางที่จะเสริมสร้างให้มีศักยภาพ รวมทั้งศึกษาจากกลุ่มผู้มีความรู้และประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะได้ทั้งข้อดีและข้อผิดพลาดนำมาเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงหรือระมัดระวังในการที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต 4) การบริหารการเงิน ในการดำเนินงานทางธุรกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ลงทุนนั้น ก่อนที่จะเริ่มดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต้องมีการวางแผนทางด้านการเงิน เพื่อมุ่งเน้นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนหรือผลกำไรจากการประกอบการและมีการควบคุมรายการต่าง ๆ ในงบการเงินให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ 5) การจัดการและการควบคุมกับสิ่งที่ไม่เคยพบเจอ ผู้ประกอบการแต่ละกิจการย่อมมีความถนัดที่แตกต่างกัน แต่ในการทำธุรกิจบางครั้งจำเป็นต้องดูแลและควบคุมกับสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น บัญชี การเงิน นวัตกรรม หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้บริโภคซึ่งในสิ่งที่ไม่เคยพบเจอเหล่านี้ล้วนเป็นบทเรียนให้ผู้ประกอบการใหม่ต้องพร้อมที่จะรับมือและเรียนรู้ควบคู่กันไป ทั้งนี้ จะช่วยให้เกิดวิธีการแก้ปัญหาและการจัดการอย่างเป็นระบบ ดังนั้นไม่ว่าอุปสรรคจะยากแค่ไหน แต่ถ้ามีความรู้และรับรู้ล่วงหน้าก็จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดกับธุรกิจได้ง่ายยิ่งขึ้น ในปี 2560 กสอ. มีโครงการเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งและการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการใหม่ในหลากหลายโครงการด้วยงบประมาณกว่า 80 ล้านบาท อาทิ โครงการสร้างธุรกิจใหม่ (NBC) โครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม เป็นต้น รวมถึงกิจกรรมสำหรับผู้มีแผนโครงการลงทุนที่มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธุรกิจจริง อาทิ กิจกรรม Plan to Biz การร่วมมือกับเอกชนที่ให้การสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบเงินให้เปล่า พร้อมทั้งการทำหน้าที่เติมเต็มความรู้และพัฒนาทักษะการสร้างประสบการณ์การนำเสนอแผนงานเพื่อต่อยอดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดย กสอ. พร้อมเป็นพี่เลี้ยงส่งเสริมให้เกิดการดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ราย นายพสุ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4521 , 0 2202 4489 หรือ www.dio.go.th