โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

การนิคมฯ พลิกโฉมระบบการอนุมัติ นำเข้า - ส่งออก

คุณวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนในเขตประกอบการเสรี (FreeTrade Zone) ทั้ง 11 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางปู  นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง  นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ  นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี  นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี  และนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี  และนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้   นอกจากนักลงทุนและผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆในด้านภาษีอากร เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์ รวมทั้งกรรมสิทธิ์ในด้านพื้นที่ การโอนย้ายเงินตรา การขนส่ง และอื่นๆ อย่างมากมายแล้ว กนอ.ได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการและการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นฐานการผลิตที่มีความสมบูรณ์แบบ เหมาะสมกับสถานการณ์และทันกับการแข่งขันในตลาดโลกยิ่งขึ้น  โดยได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยี และระบบอัจฉริยะมาให้บริการด้านอนุมัติอนุญาตนำส่งสินค้าเข้า-ออกในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเอื้อให้มีความรวดเร็ว ฉับไว พร้อมสร้างประสิทธิภาพในด้านผลลัพธ์และคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างสูงสุด ล่าสุด กนอ.ได้พัฒนาระบบบริการคิวอาร์โค้ด (QR CODE) การอนุญาตอนุมัติการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและการส่งออกสินค้าโดยที่ไม่ต้องมีลายเซ็นของกนอ. โดยผู้ประกอบการส่งคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-pp โดยเจ้าหน้าที่ กนอ.พิจารณาอนุญาตในระบบ พร้อมทั้งข้อมูลการอนุญาตของผู้ประกอบการก็ยังคงถูกเชื่อมโยงไปยังกรมศุลกากรเช่นเดิม แต่ข้อมูลการอนุมัติทั้งหมดนั้นจะถูกเชื่อมโยงไปยังระบบของผู้ประกอบการและสามารถพิมพ์หนังสืออนุญาตแบบมีคิวอาร์โค้ด  พร้อมนำหนังสืออนุญาตที่ได้รับไปทำพิธีการต่อไปที่กรมศุลกากรได้เอง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานจะใช้เพียงแค่สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดบนหนังสืออนุญาตที่ผู้ประกอบการแสดงพร้อมตรวจเช็คข้อมูลความถูกต้องในระบบฐานข้อมูลว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่ ซึ่งระบบใหม่นี้ช่วยลดได้ทั้งขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เพิ่มความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า ช่วยในการเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากร นอกจากนี้ ในปี 2561 กนอ.ยังมีแนวคิดในการยกระดับระบบการอนุมัติอนุญาตให้เป็นแบบไร้กระดาษ แต่ยังคงไว้ซึ่งการยื่นระบบ การพิจารณา และการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เป็นแบบเดิมเพียงแค่ผู้ประกอบการจดจำเลขที่หนังสืออนุญาตแล้วไปดำเนินพิธีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าหรือวัตถุดิบถัดไปที่กรมศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่จากกรมศุลฯ จะตรวจสอบเลขที่หนังสืออนุญาตในระบบฯ ที่ผู้ประกอบการแสดง อย่างไรก็ตาม กนอ.คาดว่าบริการรูปแบบใหม่นี้จะช่วยลดขั้นตอน เพิ่มความรวดเร็วให้แก่ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลา อย่างไรก็ตาม กนอ.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันกับกรมศุลกากร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองสิทธิประโยชน์ ฝ่ายบริการผู้ประกอบการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 0 2253 0561 ต่อ 4446 หรืออีเมล investment.1@ieat.mail.go.th