โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

“กังหันน้ำชัยพัฒนา” อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวชลประทาน

กรมชลประทานได้รับสนองแนวพระราชดำริและได้ใช้สถานที่ภายในพื้นที่ของกรมชลประทาน ปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ในการดำเนินโครงการ โดยแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 2 ส่วน คือ งานบริหารโครงการ ซึ่งใช้สถานที่ห้องผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกล (ด้านวิจัยและพัฒนา)ของกรมชลประทาน และส่วนของงานภาคปฏิบัติได้ใช้สถานที่โรงงานของฝ่ายซ่อมและบำรุงรักษาที่ 6 สำนักเครื่องจักรกลกรมชลประทาน ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นสถานที่ปฏิบัติงานในงานจัดสร้างเครื่อง งานซ่อมบำรุง งานทดสอบเครื่องก่อนนำไปติดตั้ง การจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งเครื่อง และการทดสอบวิจัยเครื่อง ต่อมากรมชลประทานได้มอบอาคารที่ทำการฝ่ายสื่อสารวิทยุและอาคารโรงงานของฝ่ายซ่อมและบำรุงรักษาที่ 6 ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินงานโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วย สำหรับการทำงานของกังหันน้ำชัยพัฒนา หรือที่มีชื่อทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมว่า เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (Low Speed Surface Aerator)ทำงานโดยการเติมออกซิเจน (Oxygenation) หรือการเติมอากาศลงในน้ำ (Aeration) เพื่อให้จุลินทรีย์ในน้ำช่วยย่อยสลายของเสีย โดยใบพัดจะเคลื่อนน้ำและมีซองรับน้ำทำหน้าที่กระจายน้ำให้เป็นฝอย เพื่อให้น้ำสัมผัสอากาศได้อย่างทั่วถึง ทำให้ออกซิเจนในอากาศละลายเข้าไปในน้ำอย่างรวดเร็ว และช่วงที่น้ำเสียถูกยกขึ้นสัมผัสอากาศและตกลงยังผิวน้ำ จะมีฟองอากาศจมลงไปด้วย ช่วยให้เกิดการถ่ายเทออกซิเจนอีกทางหนึ่ง ผลการบำบัดน้ำเสียเป็นที่น่าพอใจ น้ำใสสะอาดขึ้น กลิ่นเหม็นลดลงมากและปริมาณออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้น สัตว์น้ำสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยและสามารถบำบัดความสกปรกในรูปของมวลสารต่างๆ ให้ลดลงได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ทั้งนี้ได้เริ่มนำกังหันน้ำชัยพัฒนามาติดตั้งใช้งานกับระบบบำบัดน้ำเสียตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2532 โดยได้มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การบำบัดน้ำเสียบังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพสะดวกในการใช้งาน ประหยัดค่าใช้จ่ายและบำรุงรักษาได้ง่ายตลอดจนมีอายุการใช้งานที่ยาวนานดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพระราชทานแนวพระราชดำริ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2533ให้มีการจัดสร้างเครื่องกลเติมอากาศแบบ ชัยพัฒนาแอร์เจท :RX-5” โดยพระราชทานภาพลายฝีพระหัตถ์เครื่องกลเติมอากาศทางโทรสารให้กรมชลประทาน เพื่อจัดสร้างเครื่องกลต้นแบบ จำนวน 3 รูปแบบ และจากรูปแบบที่พระราชทานมานี้ พระองค์ทรงกำหนดชิ้นส่วนและทรงชี้แนะในการพัฒนา โดยแบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือ System 1 Model RX-5A(Air pump) เป็นแบบอัดอากาศลงไปในน้ำ System 2 คือModel RX-5B (Water pump) แบบใช้ความเร็วของน้ำดึงอากาศจากภายนอกเข้าผสม และ System 3 คือ ModelRX-5C (Water-air pump) นำรูปแบบที่ 1 และที่ 2 ผสมกันโดยแทนที่จะดึงอากาศภายนอกเข้าผสมตามรูปแบบที่ 2แต่ใช้วิธีการอัดอากาศเข้าช่วย กรมชลประทานจึงได้รับสนองพระราชดำริโดยการศึกษาและสร้างเครื่องกลเติมอากาศต้นแบบตามภาพลายฝีพระหัตถ์ และได้นำไปทดสอบการทำงานที่อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ปรากฏว่ารูปแบบที่ 3หรือ RX-5C มีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงจากเครื่องต้นแบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้นำไปติดตั้งในแหล่งน้ำที่ไม่สามารถติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนาได้ ต่อมาได้ดำเนินการจัดสร้างเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ RX-5C และได้นำไปติดตั้งใช้งานในกิจกรรมบำบัดน้ำเสียตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2542เป็นต้นมา ความสำเร็จของการปรับปรุงน้ำเสียด้วยเครื่องกลเติมอากาศ ยังผลให้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรและเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ด้วย นับเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย แม้ว่า กังหันน้ำชัยพัฒนาจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สื่อถึงชัยชนะหรือความสำเร็จของการพัฒนา หากพระวิสัยทัศน์ของพระองค์ต่อการพัฒนามิได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ทรงเล็งการณ์ไกลถึงอนาคตของโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและทรงตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องกลให้สูงขึ้นโดยยึดวิธีการเรียนรู้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และใช้การสรุปบทเรียนจากวิธีการเดิม เป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนาต่อไป ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 4กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความตอนหนึ่งว่า “...การพัฒนา จะต้องมีการศึกษา วิจัย เพื่อหาข้อบกพร่อง แล้วปรับปรุงพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพให้เกิดความแข็งแรงทนทาน สามารถใช้งานได้ยาวนานให้ทำไปทดลองไปพร้อมๆ กันกับทำหนังสือคู่มือการใช้งาน การบำรุงรักษาและการซ่อมบำรุง โดยนำเอาบทเรียน ประสบการณ์ปัญหาต่างๆ บันทึกลงไปเพื่อให้ผู้ใช้งานได้ถือปฏิบัติอย่างถูกต้อง ตามคำแนะนำควบคู่กันไปด้วย... นับจากจุดเริ่มต้นของโครงการ ใน พ.ศ. 2531 จวบจนถึง พ.ศ. 2560 กรมชลประทานและมูลนิธิชัยพัฒนาได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริในโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยเครื่องกลเติมอากาศ ทั้งในด้านการจัดสร้างและติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ โดยระหว่าง พ.ศ. 2532-2560 ได้จัดสร้างกังหันน้ำชัยพัฒนา RX-2 จำนวน 271 เครื่อง และดำเนินการติดตั้งให้กับหน่วยงานต่างๆ จำนวน 260 เครื่องต่อมาใน พ.ศ. 2542-2560 ดำเนินงานจัดสร้างเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ RX-5C จำนวน 972 เครื่องและติดตั้งให้กับหน่วยงานต่างๆ จำนวน 857 เครื่อง อีกทั้งมีการซ่อมบำรุงเครื่องกลเติมอากาศ โดยเป็นการจัดฝึกอบรมหลักการใช้งานและการซ่อมบำรุง เครื่องกลเติมอากาศให้แก่หน่วยงานที่ได้รับการติดตั้งเครื่องด้วย

องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหลากหลายคุณูปการซึ่งสามารถศึกษาได้จากแนวพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือ มรดกทางปัญญาอันล้ำค่าของแผ่นดิน นอกเหนือจากความภาคภูมิใจในพระปรีชาสามารถและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์แล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะได้มีการพิจารณา รวบรวมและบริหารจัดการความรู้ (Knowledge Management) เหล่านั้นไว้ให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อเป็นคลังความรู้ สำหรับนำไปประยุกต์ในการพัฒนาให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่ชาติบ้านเมืองสืบไป