โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

บุคคลชลประทาน อุดมการณ์ที่ยึดมั่น ของ“บุญเลิศ หอมจันทร์” สู่การผลักดันการมีส่วนร่วมของประชาชน

วางแผนการส่งน้ำ คาดการณ์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นายบุญเลิศ เล่าให้ฟังว่า ตนเริ่มต้นการทำงานที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว สำนักงานชลประทานที่ 12มาตั้งแต่ปี 2532 ดูแลรับผิดชอบครอบคลุมทั้งหมด 3 อำเภอคือ อำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอสามชุก และอำเภอหนองหญ้าไซจังหวัดสระบุรี บทบาทการทำงานจะมีตั้งแต่ด้านการจัดสรรน้ำซึ่งจะเน้นลงพื้นที่ภาคสนามเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากต้องช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกพืชและรายงานการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำงานให้ครอบคลุม ให้สมกับคำว่า ชลประทานเพื่อประชาชน ในช่วงแรกที่ผมเข้าไปทำงานนั้น ข้อมูล เช่น ระดับน้ำ พื้นที่การเพาะปลูก ยังไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบและส่วนใหญ่จะเป็นการจัดเก็บลงในสมุด ผมจึงได้จัดทำฐานข้อมูลใหม่ขึ้น โดยป้อนข้อมูลที่ได้จากการภาคสนาม ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2525 ลงบนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จากนั้นได้ประยุกต์ข้อมูลออกมาเป็นสูตรในตารางบนกระดาษ A4” ด้วยรูปแบบการทำงานของนายบุญเลิศ ทำให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียวมีข้อมูลพร้อม สำหรับเจ้าหน้าที่ชลประทานท่านอื่นๆ สามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปชี้แจงแผนการส่งน้ำ ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำในการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ขานรับนโยบายรัฐ สู่การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อข้อมูลพร้อมก็มาถึงขั้นตอนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการน้ำ นายบุญเลิศ อธิบายว่าในอดีตต้องยอมรับว่าประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย เพราะอำนาจการบริหารทั้งหมดอยู่ที่กรมชลประทาน จะเปิดน้ำเมื่อไหร่ ปิดน้ำเมื่อไหร่ หรือเปิดอย่างไร กรมชลประทานเป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงไม่เกิดแต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้น กรมชลประทานเดินตามนโยบายของรัฐ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่กำหนดว่าหน่วยงานของรัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งนายบุญเลิศได้วางเป้าหมายงานในขณะนั้นไว้ที่ 3 ปี (ปี 2544-2546) ในการสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนบริหารจัดการน้ำสำเร็จ ทำให้เขาได้สร้างทีมงานที่มีใจรักและมีอุดมการณ์เดียวกัน ทำงานร่วมกันมาจนถึงทุกวันนี้ นายบุญเลิศ เล่าว่า อันดับแรกที่ต้องทำ คือ สำรวจปัญหาในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งจากการลงพื้นที่ก็ได้ข้อสรุปว่าเพราะประชาชนไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ทำให้มีการทะเลาะเบาะแว้ง แย่งน้ำกันรวมถึงไม่มีการบำรุงรักษา ดูแล และขุดลอกคูส่งน้ำที่กรมชลประทานสร้างไว้ ทำให้คูรก ต้นไม้ขึ้นกีดขวางทางน้ำ ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติคันและคูน้ำก็ได้ระบุไว้ว่า ถ้าคูส่งน้ำผ่านพื้นที่ใคร คนนั้นจะต้องดูแลบำรุงรักษาให้คงอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี มีขุดลอกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ข้อมูลตรงนี้ประชาชนไม่รู้ การสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำร่วมกันจึงไม่เกิดผลสำเร็จ เมื่อได้งบประมาณมา นายบุญเลิศจึงนำมาปรับปรุงคลองส่งน้ำ คลองส่งน้ำทุกสายจะดาดคอนกรีตปรับปรุงใหม่หมดพร้อมกับได้จ้างนักประสานงานชุมชน 22 คน ซึ่งทุกคนจะต้องผ่านการอบรมก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน (กลุ่มพื้นฐาน) ซึ่งนายบุญเลิศและทีมงานใช้เวลาเพียง 5-6 เดือน ในการสร้างกลุ่มทั้งหมด 278 กลุ่มจนสำเร็จ โดยระยะเวลาน้อยกว่าแผนที่วางไว้คือ 1 ปี ละลายพฤติกรรม สร้างสมานฉันท์ลดทะเลาะเบาะแว้ง หลังจากปีแรกสำเร็จตามแผนในการจัดตั้งกลุ่มพื้นฐาน ปีที่ 2 นายบุญเลิศได้เดินหน้าจัดตั้งกลุ่มบริหารซึ่งง่ายขึ้น เพราะกลุ่มพื้นฐานถือเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ จากนั้นก็ยกระดับกลุ่มพื้นฐานที่บริหารน้ำในคูขึ้นมาบริหารน้ำในคลอง ให้ความรู้ จัดอบรมวิธีการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาเดิมๆ ที่มีการทะเลาะเบาะแว้ง มาเป็นการจัดรอบเวรการใช้น้ำ รวมทั้งละลายพฤติกรรมระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกร เกษตรกรกับชลประทาน และเกษตรกรกับผู้นำชุมชน โดยเอาคนทั้งหมดในพื้นที่ประมาณ150 คน มาจัดอบรม กินนอน ค้างคืนอยู่ด้วยกัน จากคนที่ไม่เคยรู้จักกันเมื่อได้มามีกิจกรรมร่วมกัน ก็สนิทสนม สมานฉันท์เหมือนพี่เหมือนน้องกันในที่สุด มาถึงปีที่ 3 ขั้นตอนสุดท้าย คือการคัดเลือกคณะกรรมการจัดการชลประทาน เพื่อไปบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำร่วมกับกรมชลประทาน (Joint Management Committeefor Irrigation : JMC) ให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจและกรมชลประทานเป็นเพียงผู้ดำเนินการดูแล บริหารให้เท่านั้น ชลประทานมีหน้าที่ชี้แจงอย่างเดียวว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำมีเท่าไหร่ ถ้ามีน้อยก็บอกน้อย ไม่พอกับการส่งน้ำทำนาปรัง และเกษตรกรต้องคิดเอง ให้เขาคิดเป็นว่าสถานการณ์เช่นนี้ต้องช่วยกันประหยัดน้ำ ตัวอย่างเช่น ปลูกข้าว 1 ไร่ใช้น้ำ 1,300 คิว ถ้าใช้หมดถือว่าอยู่ในเกณฑ์ แต่ถ้าใช้เกินที่ตั้งไว้แสดงว่าขาดทุน แต่ถ้าประหยัดการใช้น้ำลงก็จะเป็นกำไรมีน้ำใช้เพียงพอในฤดูกาลต่อไป ผมพยายามเน้นทุกครั้งว่าน้ำเป็นของพี่น้อง เขาจะได้เห็นคุณค่า บางทีการประหยัดน้ำเขาอาจจะมองไม่เห็นว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน แค่อย่าปล่อยน้ำทิ้ง ปิดปากคู หมั่นดูรูรั่ว ก็ช่วยประหยัดได้แล้ว ซึ่งจะมีการสรุปเป็นตัวเลขให้เห็นในการประชุมของ JMC อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งก่อนการส่งน้ำ

ภาพแห่งความสำเร็จที่ชัดเจนและรางวัลที่แท้จริง

ผลจากอุดมการณ์และความมุ่งมั่น ส่งผลให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว คว้ารองชนะเลิศ รางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ขององค์การสหประชาชาติ(UN) เมื่อปี 2544 ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้จากการร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน นายบุญเลิศ บอกว่า เขาไม่เคยหวังในเรื่องของรางวัลเลย เพราะรางวัลที่ได้รับเป็นผลพลอยได้จากการทำงาน มีรางวัลเดียวที่หวังไว้ตั้งแต่เริ่มโครงการคือทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับชลประทานให้ได้และยั่งยืน นี่คือรางวัลที่แท้จริง