โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กระทรวงอุตสาหกรรม เสริมแกร่ง SMEs ส่ง 9 มาตรการช่วยเหลือ ผ่าน 3 กองทุน!

ดร.สมชาย  หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีเป้าหมายเพื่อยกระดับไปสู่ยุค 4.0 ที่มีศักยภาพ โดยในปี 2561 จะมีโครงการสินเชื่อใหม่ 3 โครงการ เพื่อช่วยเหลือทางด้านการเงิน วงเงินรวมกว่า 78,000 ล้านบาท ผนวกกับอีก 9 มาตรการที่เป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนาส่งเสริมควบคู่กันไป โดยมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินที่เตรียมทยอยออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คือ 1.สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท 2.สินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 (Transformation Loan) วงเงิน 20,000 ล้านบาท และ 3.โครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก (Micro SMEs) วงเงิน 8,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ด้านการเงินอีก 9 มาตรการ เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทย โดยมุ่งเน้นไปที่ "ไมโครเอสเอ็มอี" ดันรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยทั้ง 9 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ทั่วประเทศ 23 แห่ง 2.ศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี 270 แห่งทั่วประเทศ 3.Train The Coach หรือการสร้างโค้ช เพื่อส่งไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี 4.SME Big Data ให้ SME เข้าถึงบริการของภาครัฐและเครือข่ายอย่างครบถ้วนทุกที่ทุกเวลา     5.โครงการ Big Brothers หรือโครงการพี่ช่วยน้อง 6.Digital Value Chain  ผลักดันเอสเอ็มอีสู่ห่วงโซ่การผลิตโลกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม B2B 7. โครงการเสริมแกร่งเอสเอ็มอีรอบรู้การเงิน 8.SME Standard Up ยกระดับเอสเอ็มอีสู่มาตรฐานที่เหมาะสมโดยพัฒนามาตรฐานเฉพาะ  (มอก.S) 9.การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน ผ่านโครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว (CIV 4.0) ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 เห็นชอบให้ ธพว.ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรหรือแผนฟื้นฟู เนื่องจากว่าตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาองค์กรดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทั้ง 6 ด้าน ได้แก่   1.ปรับกระบวนการอำนวยสินเชื่อ วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท 2.สร้างกระบวนการติดตามลูกหนี้ 3.บริหารจัดการหนี้ NPL ตามแผนฟื้นฟูอย่างเคร่งครัด 4.ดำเนินการตามพันธกิจในการสนับสนุนนโยบายรัฐ 5. ควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนเงิน 6.มุ่งเสริมสร้างจริยธรรม และธรรมาภิบาล นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า การออกจากแผนฟื้นฟูฯ แสดงให้เห็นว่า ธพว.มีความสามารถ และประสิทธิภาพที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนยกระดับเศรษฐกิจชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลและเพื่อให้ ธพว.ก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ไม่กลับสู่ปัญหาดั่งอดีตที่ผ่านมา มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 จึงมีข้อกำหนดการปล่อยสินเชื่อ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ที่มีคุณภาพดี  ขณะเดียวกันก็พร้อมประกาศตัวเป็น “M SME Development Bank” โดยตัว “M” มาจากคำว่า “Micro” บ่งบอกถึงภารกิจหลักของตัวเองอย่างชัดเจนในการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อสนับสนุนกลุ่ม จุลเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการรายย่อยคนตัวเล็กในชุมชนต่างๆ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย  เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ไปทั่วประเทศ โดยเตรียมแพคเกจสินเชื่อเพื่อรายย่อยวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 โครงการ  ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท  3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3%ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียม บสย. 4 ปีแรก   2) โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 1% 3) สินเชื่อ Factoring วงเงิน 12,000 ล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีโปรโมชั่น  7:1:0 โดย 7 ตัวแรกคือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน , 1 คือ เบิกจ่ายภายใน 1 วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บหนี้   ขณะที่นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ในปี 2561 กสอ. พร้อมเป็นหน่วยหลักในการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีทั้ง 9 มาตรการ โดยได้วางแผนกลยุทธ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริม SMEs ในยุค 4.0 ภายใต้แนวคิด 4 TOOLs กับ 1 Strategy ประกอบด้วย 1) IT ให้บริการด้านการพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ 2) Automation การพัฒนาระบบการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ 3) Robot เพื่อลดการใช้แรงงานในกระบวนการผลิต และ 4) Innovation ส่งเสริมและพัฒนาด้านนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังเผย 1 Strategy โดยจะมุ่งพัฒนาการรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรม (Cluster) เพื่อต่อยอดของ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง โดยกรมฯ ยังคงเดินหน้าให้การส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีและร่วมในการขับเคลื่อน SMEs อย่างเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม เห็นได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา กรมฯ สามารถดำเนินการโครงการต่างๆ ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งในส่วนของการสร้างผู้ประกอบการใหม่ การสนับสนุนผู้ประกอบการเดิมมากกว่า 12,000 ราย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอีกกว่า 3,000 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 8,000 ล้านบาท ด้านนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวย้ำว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 สสว.จะเร่งผลักดัน 4 โครงการหลัก ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดในการก้าวสู่ยุค 4.0 2) โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพี่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3) โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME และ 4) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล  โดยคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะสร้างผู้ประกอบการที่เข้มแข็งได้ จำนวน 55,642 ราย สร้างรายได้และมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ สสว. ยังเป็นเจ้าภาพโครงการภายใต้มาตรการพิเศษขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 หลายโครงการเช่น SME Big Data โดยจะเร่งสร้างสังคมผู้ประกอบการผ่านโครงการ “SMEONE” ซึ่งเป็น web portal ที่รวบรวมทุกเรื่องของ SME ครบจบในที่เดียว รวมทั้งโครงการ Train the Coach: Accelerator 4.0 หรือโครงการที่พัฒนาโค้ชหรือที่ปรึกษาด้านธุรกิจและด้านเทคโนโลยี เพื่อเข้าไปช่วย SMEs พัฒนาธุรกิจให้มีการปรับเปลี่ยน (Transform) ให้ทันกับยุค 4.0 ได้ ดังนั้นหาก SMEs ขาดผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจก็จะยังคงดำเนินไปภายใต้กรอบความคิดเดิม ธุรกิจจะเสียโอกาสจากพัฒนาการใหม่ๆ และกลายเป็นผู้ล้าหลัง ไม่สามารถแข่งขันได้ในที่สุด โค้ชที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจะเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ทันกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุค 4.0 ซึ่งจะมีการดำเนินการทั้งสิ้น 3 ปี ตลอดโครงการนายสุวรรณชัยกล่าวทิ้งท้าย นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า  สภาเกษตรกรฯ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และ ธพว. เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเป็นตัวกลางประสานหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศให้มีรายได้สูงขึ้น  และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการยกระดับอาชีพจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การใช้ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต และตรงตามความต้องการของตลาด   โดยกระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านความรู้ ขณะที่ ธพว.เติมเต็มด้านเงินทุน  โดยได้มีการนำร่องที่   อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง  ซึ่งมีการส่งเสริมให้ปลูกไผ่ และต่อยอดด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถ่านเชื้อเพลิง  ไผ่สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อบริโภค เฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ และบ้านจากไม้ไผ่ เป็นต้น  ซึ่งแนวคิดดังกล่าว จะขยายผลไปทั่วประเทศ ตั้งเป้าว่าจะต้องเกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเกษตรครอบคลุมอย่างน้อยทุกอำเภอทั่วประเทศ