ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 7 ด้านภายใต้กรอบแนวคิด “RID No.1”
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยถึงแนวทางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน ภายใต้กรอบแนวคิด “RID No.1” สู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ด้าน มีดังต่อไปนี้
- การเร่งรัดการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จำนวน 159 โครงการ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 และดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ
- การปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ โดยจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา
ลุ่มน้ำในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และระดับภาค ปรับปรุงการจัดแผนงานระยะปานกลาง (MTEF) เช่น แผนศึกษาสำรวจ ออกแบบ จัดหาที่ดิน ก่อสร้าง แผนงานปรับปรุงระบบชลประทาน แผนงานซ่อมแซมระบบชลประทาน ให้มีความสอดคล้องกันและสามารถปฏิบัติได้จริง จัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กรมชลประทานและริเริ่มแนวทาง PPP (Public – Private Partnership)การร่วมทุนภาครัฐและเอกชนมาใช้ในการทำงานชลประทาน
- การเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ประกอบด้วย การเร่งรัดการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาระบบการแพร่กระจายน้ำในระดับแปลงนาให้ครอบคลุม และการจัดทำแผนงานรองรับโครงการพัฒนา
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC)
- การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยการต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ให้สามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ การปรับปรุงโครงการชลประทานที่มีอายุการใช้งานมานานให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานในปัจจุบัน การสร้างทางเลือกในการดำเนินการส่งน้ำและบำรุงรักษาในงานชลประทาน การตรวจสอบวิเคราะห์ ความมั่นคงของเขื่อน (Dam Safety) และปรับปรุงให้มีความมั่นคงแข็งแรง การวางแผนเตรียมการรับมืออุทกภัยและภัยแล้ง การบูรณาการความร่วมมือกับ SingleCommand ในระดับพื้นที่ การพัฒนาสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานให้เป็นศูนย์เรียนรู้และศูนย์เครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ทั้ง 882ศูนย์ การตรวจสอบการใช้พื้นที่ราชพัสดุและแก้ไขปัญหาการบุกรุกของประชาชน การใช้พื้นที่เขตคลองเป็นพื้นที่แก้มลิงและขยายผลพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤตและการพัฒนาศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนอย่างเพียงพอ
- การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหาร
จัดการน้ำ การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยจากน้ำ การเร่งรัดการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทานให้เต็มพื้นที่ชลประทาน และทบทวนการดำเนินการโครงการ 1 โครงการ1 ล้านบาท
- การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาระบบการทำงานและกระบวนการที่ทันสมัยบนฐานดิจิทัล หรือ Digital Platformการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน (BigData) รวมทั้งการเร่งรัดการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน
- การดำเนินการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ โดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน การปรับปรุงและดูแลพิพิธภัณฑ์ให้มีความเหมาะสม การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหน่วยงาน การดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังผู้ปฏิบัติผ่านกิจกรรม KM และ Unit School การน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติ ผ่านหลักสูตรการอบรม การเตรียมการเพื่อรองรับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติและพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ….. การเตรียม
การเพื่อรองรับแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ด้านทรัพยากรน้ำ) และการส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร (WATER for all)
เดินหน้างานด้านการบริหารและการบำรุงรักษาขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบริหารและรักษาการรองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา เปิดเผยว่า แนวทางขับเคลื่อนงานบริหารจะสอดรับกับนโยบายกระทรวงเกษตร
และสหกรณ์ และยุทธศาสตร์กรมชลประทาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ดังนี้
- ด้านบุคลากร เพื่อเป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน กรมชลประทานมีแผนปรับปรุงกำหนดตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาให้เป็นตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส โดยนำร่องใน 17 พื้นที่ ปรับปรุงกำหนดตำแหน่งประเภทวิชาการ ให้เป็นระดับชำนาญการพิเศษ สายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งกำหนด/ปรับปรุงเส้นทางความก้าวหน้าของตำแหน่งต่างๆ
- ด้านสวัสดิการ โดยดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดทดแทนบ้านพักที่ชำรุดและทรุดโทรม ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ปรับปรุงอาคารสโมสรกรมชลประทาน และปรับปรุงลานจอดรถหน้าอาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู
- ด้านกฎหมาย โดยมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ….. ร่างพระราชบัญญัติการชลประทาน พ.ศ….. การแก้ไขการบุกรุกที่ราชพัสดุให้ลดลงร้อยละ 5 ต่อปี การดำเนินการด้านวินัยและสอบสวนความรับผิดด้านละเมิด ให้ลดลงร้อยละ 10 ต่อปี และการแก้ไขสัญญา ไม่เกิน 15 วันทำการ
- ด้านการสร้างความเข้าใจ โดยจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ของกรมชลประทาน จัดทำป้ายภาษาอังกฤษและป้ายต่างๆ ของกรมชลประทาน
- ด้านการเสริมประสิทธิภาพ โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการบริหารงานพัสดุในงานก่อสร้างจัดหาเครื่องจักรกลหนัก เพื่อทดแทนที่หมดอายุการใช้งาน รวมทั้งจัดหาเครื่องมือ เช่น เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำขณะที่ด้านการบำรุงรักษา จะมีโครงการตรวจสอบอาคาร/ระบบชลประทาน โดยวิธีการ Walk Thru มีการตรวจสอบความปลอดภัยของเขื่อน โดยการตรวจสภาพและประเมินสภาพเขื่อน โดยวิธีดัชนีสภาพ (CI: Condition Index)ประเมินความเสี่ยงของเขื่อน (Risk Assessment) วางแผนและดำเนินการแก้ไขด้านความปลอดภัยเขื่อน รวมทั้งจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด
เผยทิศทางสายงานวิชาการ ขับเคลื่อนเชื่อมโยงและบูรณาการสู่ความสำเร็จ
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ เผยถึงทิศทางการปฏิบัติงานของสายวิชาการซึ่งแบ่งออกได้เป็น
- งานตามภารกิจ โดยจะเร่งขับเคลื่อนงานเตรียมความพร้อม สร้างนวัตกรรม และนำไปใช้ประโยชน์
- งานขับเคลื่อนนโยบายตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีแผนงานสำคัญ เช่นการบริหารจัดการน้ำ งานพระราชดำริ การสนับสนุนการใช้ยางพาราสำหรับงานชลประทาน จัดทำ Big Data ของกรมชลประทานทุกด้าน พร้อมใช้ประโยชน์ การประยุกต์ใช้Agri Map เพื่อวางโครงการ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้เก่งและดี เป็น Smart Officers
- งานริเริ่มใหม่ เช่น นโยบายยางพารา การจัดทำData Center ด้านน้ำ เพื่อให้สามารถเรียกใช้ข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลของกรมชลประทานได้อย่างรวดเร็ว การสร้างนวัตกรรมด้านการสำรวจ สร้างคนรองรับงาน และเครื่องมือที่ทันสมัย รวมทั้งการทำแบบจำลองสำหรับงานศึกษาออกแบบ
- การบูรณาการงานด้านต่างๆ ตั้งแต่การบูรณาการสายงาน ด้านการเตรียมความพร้อม จัดทำ Master Plan ตั้งแต่ศึกษา สำรวจ ออกแบบ ก่อสร้าง ประเมินผล และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอกในทุกขั้นตอนการทำงาน เช่นแผนงาน Area Base เพื่อผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และบูรณาการงานต่างประเทศ โดยดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำระหว่างประเทศและมีความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน
- การสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่ปูพื้นฐาน ทำงานอย่างชาญฉลาด ถ่ายโอนความสามารถ และส่งมอบความสำเร็จ
วางแนวทางการปฏิบัติงานสายงานก่อสร้างดำเนินงานโครงการให้เสร็จตามเป้าหมาย
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างกล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติงานของสายงานก่อสร้างเพื่อ“ขับเคลื่อนกระบวนงาน สู่เป้าหมาย”แบ่งออกเป็นการดำเนินงานโครงการพระราชดำริ จำนวน 77โครงการ การดำเนินโครงการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการดำเนินงานโครงการตามภารกิจของกรมชลประทาน
โดยแผนดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 งานที่อยู่ระหว่างดำเนินงานและจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ
มีดังนี้
- โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- โครงการเพิ่มปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
- โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักตอนบน
- โครงการผันน้ำและการบริหารจัดการน้ำของพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
- โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- โครงการจัดหาน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
- โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง
- โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ
- โครงการระบายน้ำแม่น้ำตรัง
- โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่
นอกจากนี้ยังวางแผนดำเนินงานปี 2562-2565ภาคเหนือ ได้แก่ โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน
จังหวัดสุโขทัยโครงการเพิ่มเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จังหวัดเลยโครงการบรรเทาอุทกภัยจังหวัดชัยภูมิ โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำจังหวัดนครพนม ภาคกลางและภาคตะวันออกได้แก่ โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดชัยนาท โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรจังหวัด พระนครศรีอยุธยา และภาคใต้ได้แก่โครงการบรรเทาอุทกภัยนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดนครศรีธรรมราช
จนถึงปัจจุบัน กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ได้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาแหล่ง
น้ำ ยังคงเดินหน้าสู่เป้าหมาย วางนโยบายและทิศทางการดำเนินงานให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด เพื่อการทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทำให้ทุกย่างก้าวของกรมชลประทานเดินไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเดินหน้าสู่องค์กรอัจฉริยะ สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประเทศชาติ ประชาชน