นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.เตรียมปรับโฉมศูนย์เอสเอ็มอี ไอทีซี ในพื้นที่ 10 นิคมอุตสาหกรรมใหม่ ให้ทันสมัยเช่นเดียวกับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งมหานครโตเกียว หรือทีริ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพของไทย ให้มีความรู้ความสามารถสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์มารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคตได้ โดยจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ภายในเดือน ส.ค.นี้
จะมีการนำต้นแบบทั้ง 7 ด้านของทีริ มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ 1. การรับจ้างทดสอบผลิตภัณฑ์ การให้คำปรึกษา 2. การให้บริการเช่าห้องทดลอง และเครื่องมือเครื่องจักร 3. การวิจัยร่วมกัน 4. การพัฒนาบุคลากร ด้วยการให้การฝึกอบรม 5. การเผยแพร่ข้อมูลอุตสาหกรรม เช่น การจัดนิทรรศการ การพิมพ์บทความ 6. การจัดการสิทธิบัตรจากการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ และ 7. การจับคู่ธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงในคลัสเตอร์เดียวกัน ตลอดจนร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมนำนวัตกรรมเข้ามาให้บริการ เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ
“ทีริเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานบริหารมหานครโตเกียว ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกรุงโตเกียวและปริมณฑลที่มีอยู่กว่า 900,000 ราย โดยการศึกษารูปแบบในครั้งนี้ กนอ. จะนำแนวทางและรายละเอียดมาพัฒนาผู้ประกอบการของไทยให้ก้าวทันโลก”
กนอ. ยังเตรียมนำต้นแบบมาเปิดให้บริการทั้ง 6 ระดับจากทีริมาปรับใช้ เช่น การให้บริการรวมทั่วไปสำหรับทุกสถานะของกิจการโดยมีศูนย์ให้คำปรึกษาแบบเบ็ดเสร็จ และการสนับสนุนด้านการจ้างงานและพัฒนาบุคลากร รวมถึงการสนับสนุนการหาสถานที่และอุปกรณ์ในการประกอบกิจการ การให้บริการสำหรับสถานะสร้างกิจการ โดยสนับสนุนการเตรียมพร้อมความรู้เบื้องต้นและการจัดทำแผนธุรกิจพร้อมการประเมินความเป็นไปได้ของกิจการ รวมทั้ง ให้บริการเช่าสถานที่เริ่มต้นสร้างกิจการ
นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการสำหรับสถานะดำเนินกิจการ โดยให้คำปรึกษาแนะนำในด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมการออกแบบระหว่างเอสเอ็มอีกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมทั้ง มีเงินกองทุนสนับสนุนในการเริ่มวิจัย การวิจัยสินค้าหรือเทคนิคใหม่ การขอใบรับรองมาตรฐานในต่างประเทศ เช่น ไอเอสโอและการเปิดตลาดของสินค้า หรือเทคโนโลยีที่วิจัยสำเร็จ รวมถึง มีศูนย์องค์ความรู้ในการนำผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีต้นแบบไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์การเปิดตลาดต่างประเทศ
ขณะเดียวกันมีการให้บริการสำหรับสถานะเติบโตและมั่นคงโดยมีศูนย์ข้อมูลกลางรวบรวมความต้องการซื้อจากผู้ผลิตขนาดใหญ่ และจับคู่รับช่วงการผลิตให้กับเอสเอ็มอีรวมทั้งสนับสนุนการบุกเบิกตลาดใหม่ โดยจัดตั้งจุดบริการให้คำปรึกษาโดยผู้มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่
รวมไปถึงการให้บริการสำหรับสถานะสืบทอดหรือฟื้นฟูกิจการ โดยจะมีการให้ความช่วยเหลือการฟื้นฟูกิจการของบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาด้านการดำเนินงานในรูปแบบต่าง ๆ หรือมีหนี้สิน หรืออยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย โดยจัดผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ปัญหาด้านบริหาร จัดการ การเงินและให้คำแนะนำให้ ตลอดจนการพัฒนาสถานะประกอบธุรกิจในระดับสากล โดยให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบการลงทุนการประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆอีกด้วย