ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินท่าทีนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ และสถานการณ์การค้าโลก โดยมองว่าแม้สหรัฐฯ จะประกาศใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่หลากหลายอันส่งผลกระทบต่อคู่ค้าและประเภทสินค้าต่างๆ กันออกไป แต่ด้วยขั้นตอนการปฏิบัติที่ค่อนข้างยืดหยุ่น จึงน่าจะส่งผลกระทบโดยรวมอยู่ในขอบเขตที่จำกัด และนำไปสู่การเจรจาเงื่อนไขทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้ารายประเทศ โดยไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามการค้า
อย่างไรก็ตาม มาตรการกีดกันทางการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกรวมถึงไทย ทั้งนี้ สินค้าส่งออกไทยที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเฉพาะหน้า หลักๆ คงเป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน เช่น อุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
นอกจากนี้ ไทยยังมีความเสี่ยงจากการติดในรายชื่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งมีนัยถึงข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของทางการ อันอาจส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในจังหวะที่รวดเร็วและผันผวน รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะออกมาตรการกีดกันสินค้าจากไทยโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งจำเป็นต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2561 ไว้ที่ 4.5% จากภาพการส่งออกของไทยในเดือนม.ค. และ ก.พ. 2561 ที่ยังรักษาระดับการเติบโตไว้ได้ในระดับ 2 หลัก ซึ่งเป็นการเติบโตในรายสินค้าส่งออกสำคัญและรายตลาดหลัก สะท้อนถึงความต้องการของตลาดโลกยังมีแรงหนุนส่งออกไทยอยู่มาก ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว น่าจะหนุนให้การส่งออกของไทยในปีนี้โตได้สูงกว่า 4.5% (ประมาณการ ณ เดือนธ.ค. 2560)
ทั้งนี้ การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในสินค้าเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์เซลส์ เหล็ก และอลูมิเนียมที่มีผลบังคับใช้แล้ว มาตรการของสหรัฐฯ ในการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางเดือนพ.ค. 2561 ตลอดจนแรงกดดันเพิ่มเติมต่อแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท หากไทยติดอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulation) ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม จึงยังคงประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้ ไว้ที่ 4.5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2561 ที่ 4.0% โดยมองว่าแรงหนุนยังมาจากการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางด้านการค้าของโลก ภาพการส่งออกยังคงขยายตัวได้เป็นบวกจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ประเมินแรงหนุนของเศรษฐกิจไทยยังมาจากการท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งรัฐและเอกชน แม้ว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐล่าช้าไปบ้าง แต่คาดว่า การเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณน่าจะทำให้การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงหนุนที่สำคัญ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะได้อานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐ