ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เตรียมผุดโมเดล”ประกันภัยกาแฟ” บริหารความเสี่ยง เอาใจเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟแบบครบวงจร


ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน โดยลงพื้นที่ในชุมชนแต่ละภาคเพื่อรับฟังสภาพปัญหาด้านประกันภัยและให้บริการด้านประกันภัยในพื้นที่ต่างๆ นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ตนและคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. ตลอดจนเจ้าหน้าที่คปภ.ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ไกล่เกลี่ยของ สำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับกองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย ตลอดจนสมาคมต่างๆของภาคอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านปางขอน ตำบลห้วยชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของ สำนักงาน คปภ. และให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน การให้ความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับประกันภัยผ่าน Mobile Complaint Unit หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ รวมทั้งศึกษาวิถีชีวิตของชาวชุมชนและรับฟังสภาพปัญหาด้านการประกันภัย ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมฐานเรียนรู้ต่างๆภายในชุมชน  ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ห้าและเป็นครั้งสุดท้ายในการลงพื้นที่ตาม“โครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 2” ประจำปี 2561 

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคของสำนักงาน คปภ. ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลด้านการทำประกันภัยทั้งที่บ้านผาฮี้ ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สายและบ้านปางขอน ตำบลห้วยชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งพบว่า ในพื้นที่ชุมชนทั้งสองแห่งมีการปลูกพืชประเภท “กาแฟ” เป็นจำนวนมากและมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟได้รับความเสียหาย จึงเห็นควรให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ “กรมธรรม์ประกันภัยกาแฟ”เพื่อใช้เป็นโมเดลต้นแบบในการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรที่ปลูกกาแฟต่อไป

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติแบบกรมธรรม์ประกันภัยข้าวและอัตราเบี้ยประกันภัยแล้ว พร้อมทั้งเตรียมยกทีมลงพื้นที่กระจายความรู้สู่ชาวนาไทยประเดิมจังหวัดเชียงใหม่ที่แรก เผยใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอบรมให้ความรู้เกษตรกรชาวนา ซึ่ง เลขาธิการ คปภ.กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 2560 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านไร่ สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ได้เตรียมความพร้อมและเริ่มเดินหน้าเร่งขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว เพื่อให้ทันฤดูการเพาะปลูก โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 นายทะเบียน ได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัย ของกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 แล้ว ซึ่งมีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 22 บริษัท โดยบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการสามารถรับประกันภัยข้าวได้แล้ว

 

สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการรับประกันภัยสูงสุดไว้ไม่เกิน 30 ล้านไร่ มีเงื่อนไขการรับประกันภัยคือ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2561/62  โดยแบ่งกลุ่มผู้เอาประกันภัย เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของ ธ.ก.ส. ทุกราย โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 29 ล้านไร่ และกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเกษตรกรทั่วไปที่เพาะปลูกข้าวนาปี ที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 1 ล้านไร่ สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยยังคงเดิม คือ 90 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นอัตราเดียวทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะได้รับวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ และวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ทั้งนี้ในส่วนของค่าเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่นั้น รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรผู้ทำประกันภัย 54 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ (โดยภาครัฐยังอุดหนุนค่าอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย) ดังนั้นเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จะไม่เสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเลย แต่ถ้าไม่ได้เป็นลูกค้าธ.ก.ส. จะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองเพียง 36 บาทต่อไร่ โดยมีระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ฤดูการเพาะปลูก ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ยกเว้นภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2561