โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

9 วิธีขายสินค้าผ่านโลกออนไลน์ให้รุ่ง

เมื่อพูดถึงเรื่องการทำธุรกิจในปี 2562 คำว่า “ตลาดออนไลน์”  ทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เป็นยุคที่เรียกว่า “ใครมือยาว สาวได้สาวเอา” ใครที่มีความเข้าใจและเข้าถึง สามารถใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางการตลาดได้หลากหลายและได้ก่อนถือว่าได้เปรียบ และใครที่ไม่หยุดการพัฒนา ไม่นิ่งอยู่กับที่สามารถต่อยอดธุรกิจไปได้ก็อยู่ในสังคมตลาดออนไลน์ได้นานหน่อย เรียกว่าใครไม่ปรับตัวถือว่า “อยู่ยาก”

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นทุกปี  จากเดิมเวลาจะซื้อสินค้าต้องเดินทางไปดูที่ร้าน แต่ตอนนี้เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถดูสินค้าและสั่งซื้ออยู่ที่บ้านได้ทันที เพราะมีบริการส่งสินค้าถึงบ้าน เรียกว่าสบายมากขึ้น ไม่ต้องไปอารมณ์เสียกับรถติดบนท้องถนน หรือสูดควันพิษฝุ่นละอองให้เสียสุขภาพด้วย

โดยช่องทางการสั่งซื้อก็มีอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การซื้อผ่านเว็บไซต์ ผ่านแอปพลิเคชัน และทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ ที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย  ราคาถูก  สั่งซื้อง่ายกว่า อยู่ที่ไหนก็สามารถช้อปออนไลน์ได้ตลอดเวลา และไม่ว่าสินค้าอะไรก็สามารถขายออนไลน์ได้ เพราะทำง่าย ไม่ต้องลงทุนสูง  สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย และตลาดออนไลน์ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและในส่วนของลูกค้าที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิมเข้าสู่ยุคสมัยที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว

ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้ระบุไว้ว่า เทรนด์ตลาดออนไลน์ในปี2562 ยังคงเป็นยุคทองของ Digital Marketing แต่การแข่งขันจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษาและตามเทรนด์ให้ทัน การหาช่องทางและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วย นอกจาก Web site, Line,Facebook,Instagram, Twitter แล้ว ต้องเสริมทัพช่องทางอื่นๆ ด้วย โดยมี 9 ยุทธศาสตร์การทำตลาดบนโลกออนไลน์ ดังนี้

1.การมี  Website เป็นของตัวเอง

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่ามีตัวตนอยู่จริง  ปัจจุบันลูกค้าจำนวนมากเริ่มไม่เชื่อถือร้านค้าออนไลน์ที่ไม่สามารถสืบค้นหาตัวตนได้ ผู้ซื้อกว่าร้อยละ 40 จะเคยพบกับเหตุการณ์จ่ายเงินแล้วไม่ได้ของ ทำให้ความเชื่อมั่นลดน้อยลง  ดังนั้น การมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ขายในระบบร้านค้าออนไลน์ได้

2.สร้าง Visual Content ที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

หมดยุคกับการขายสินค้าที่มีแต่ภาพนิ่งเต็มหน้าเว็บฯ หรือ โพสรูปภาพเต็มหน้าเพจ เพียงอย่างเดียว  Video ที่น่าสนใจ มีความแปลก แตกต่าง และมีจุดยืน จะมีส่วนช่วยในการเรียกลูกค้าให้หยุดดู เมื่อเขาหยุดดูเท่ากับเรามีโอกาสในการพรีเซนต์สินค้าผ่าน Video นั้น ๆ แม้ไม่เกิดการซื้อในครั้งนั้น แต่ก็ได้ประทับตราแบรนด์สินค้าของเราไว้ในใจของลูกค้าเรียบร้อยแล้ว และหากมีการกด Like กด Share ก็เท่ากับ Visual Content ของเราได้ถูกนำเสนอบอกต่อให้กับบุคคลอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย

3.ใช้ Application ช่วยส่งเสริมการขาย

มี Application มือถือมากมายที่จะเป็นตัวช่วยในการโปรโมทร้านค้า และช่วยนำเสนอโปรโมชั่นต่าง ๆ เพียงสมัครลงทะเบียนผู้ประกอบการกับ Application นั้น ๆ ก็สามารถใช้งานได้ภายในไม่กี่วัน โดยปัจจุบันมีทั้ง Application ที่ให้บริการฟรี และแบบมีค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง

4.ใช้ช่องทางการสื่อสารให้คุ้มค่า

ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์หลายร้านมีแฟนเพจเป็นของตัวเอง   มี Line@ สำหรับเป็นช่องทางในการสื่อสารและแจ้งข่าวสาร โปรโมชั่นต่าง ๆ ให้กับลูกค้า แต่หลาย ๆ ร้านค้ากลับไม่ได้ใช้ประโยชน์ครบทุกฟังก์ชั่น  เช่น การส่งข้อความ Broadcast  หรือการเก็บและเรียกดูสถิติต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ เพื่อวางแผนปรับแผนการตลาดให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

5.เข้าร่วมเป็นร้านค้าพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจแบรนด์ดัง

เพื่อเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการมอบส่วนลดและสิทธิพิเศษให้กับกลุ่มลูกค้าของแบรนด์นั้นๆ เช่นการมอบส่วนลดพิเศษให้กับกลุ่มลูกค้าผู้ใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่สมัครเป็นพันธมิตร นอกจากลูกค้ากลุ่มนั้น จะรู้จักแบรด์สินค้าของเราแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้ากลุ่มนั้นอยากซื้อสินค้า เพราะจะได้รับส่วนลดพิเศษนั่นเอง

6.ฟังเสียงลูกค้า นำมาปรับให้เข้ากับธุรกิจ

ร้านค้าออนไลน์จะเอาเสียงสะท้อนจากลูกค้ามาจากไหน  ปฏิกิริยา Reaction ของลูกค้าออนไลน์ก็มาจากรีวิวสินค้า ข้อความร้องเรียนในอินบ๊อกซ์  บทวิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงแบบสอบถามออนไลน์ที่ทางร้านได้ส่งไปสอบถาม ทุกอย่างถือเป็นข้อมูลสำคัญในการปรับปรุงสินค้าและบริการ หรือแม้กระทั่งคำแนะนำ / ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าและบริการก็ไม่ควรเพิกเฉย เพราะนั่นหมายถึงข้อบกพร่องที่อาจทำให้ลูกค้าสูญเสียความเชื่อมั่นได้

7.โปรโมทสินค้าผ่านเว็ปไซต์ยอดนิยม และ Social  Media

ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาแฝง (Tie-in) Text link หรือ Banner  รวมไปถึงการทำ Google ADS เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการ เพราะในปัจจุบันคนไทยใช้เวลาในการท่องเว็ปไซต์ต่าง ๆ เพื่อความบันเทิงและความรู้เฉลี่ย 9.38 ชั่วโมงต่อวัน  นั่นหมายความว่ามีโอกาสสูงที่กลุ่มเป้าหมายจะได้เห็นโฆษณา หรือได้อ่านบทความ Tie-in ของแบรนด์สินค้าของเรา

8.ช่องทางการชำระเงินต้องหลากหลาย

ควรมีช่องทางการชำระสินค้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการหักบัญชีผ่านระบบร้านค้า, พร้อมเพย์ หรือการชำระเงินผ่าน  Application ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

9.ช่องทางการส่งสินค้าที่หลากหลาย

ลูกค้าบางคนรอได้ แต่บางคนรอไม่ได้ การนำเสนอช่องทางการส่งสินค้าที่หลากหลายจะช่วยลดข้อบกพร่องเรื่องระยะเวลาการขนส่งได้ เนื่องจากมีตัวเลือกหลากหลาย ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ต้องการความรวดเร็วทันใจ ไม่ชอบรอนาน และควรมีระบบการแจ้งเตือนเกี่ยวกับสถานะของการจัดส่งด้วย

ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ สำหรับใครที่กำลังคิดจะขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ การเตรียมตัวและการพัฒนาตัวเองถือว่ามีความสำคัญ เพราะถ้าเข้าใจหลักการทำตลาดออนไลน์ เชื่อว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้น สามารถสร้างกำไรให้กับคุณได้อย่างมหาศาลกันเลยทีเดียว

 
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : สถาบันพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี / www.taokaemai.com