ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

บุคคลชลประทาน ศิวพร ภมรประวัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล


การจะพัฒนาองค์กรไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพนั้น องค์กรจะต้องมีบุคลากรที่มากด้วยความสามารถ บุคคลชลประทานฉบับนี้จึงอดไม่ได้ที่จะกล่าวถึงนางศิวพร ภมรประวัติ หรือพี่เจี๊ยบ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลกรมชลประทาน ซึ่งความสำเร็จของเธอ ล้วนมาจากความสามารถ และสไตล์การทำงานที่มุ่งมั่น อันเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่พี่น้องชลประทานทุกคน

แรงบันดาลใจที่มีศักดิ์ศรี

ศิวพร หรือพี่เจี๊ยบ เล่าว่า เธอเกิดในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง ประกอบด้วยคุณพ่อที่แสนใจดี และคุณแม่ที่แสนน่ารัก มีพี่น้อง 4 คน โดยเธอคือลูกสาวคนกลางที่อยู่ท่ามกลางพี่ชาย น้องชายและที่สำคัญเธอยังมีคุณปู่ซึ่งเสมือนเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัว และเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการทำงานของเธอในเวลาต่อมา
“คุณปู่ คือ แบบอย่างของข้าราชการที่ดีและมีศักดิ์ศรี ท่านมีอาชีพรับราชการทหาร เป็นคนโบราณที่เก่งภาษาอังกฤษและมักจะปลูกฝังในเรื่องการรับราชการให้กับหลานๆ ตั้งแต่ยังเด็ก”

คุณครูภาษาอังกฤษ

สำหรับเรื่องการศึกษาแล้ว ศิวพร เล่าว่า เธอจบมัธยมปลายจากโรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม แต่หากถามว่าสมัยเด็กนั้นเธออยากเป็นอะไร ซึ่งเธอตอบด้วยมุมคิดที่น่ารักแบบสมัยเด็กๆ ว่า

“สมัยเด็กเราใฝ่ฝันอยากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ สาเหตุเพราะครูภาษาอังกฤษสมัยประถมใจดี และมองว่าภาษาอังกฤษนั้นเป็นภาษาสากล จึงมุ่งมั่นว่าจะต้องเอนทรานซ์ให้ติด ซึ่งก็ได้ผล คือสอบติดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และตั้งใจเรียนจนกระทั่งศึกษาจบด้วยระดับเกียรตินิยมอันดับ 2 ในปี 2524”

ภายหลังศึกษาจบระดับปริญญาตรีศิวพรได้สอบเข้ากระทรวงศึกษาธิการกรมอาชีวะศึกษา เดินตามแผนชีวิตที่วางมา ปรากฏว่าเธอสอบติดและต้องเดินทางไปสอนหนังสือต่างจังหวัดแต่เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงไม่อยากให้ไปอยู่ลำพังคนเดียว จึงได้แนะนำให้เธอสมัครเข้าไปสอนในโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ แทน

เจองานยากที่กรมชลประทาน

ศิวพรสอนหนังสืออยู่ได้ประมาณปีกว่า ระหว่างนั้นเองกรมชลประทานซึ่งกำลังต้องการคนที่จบภาษาอังกฤษไปทำงานด้านการประสานงานเงินกู้ต่างประเทศที่กองก่อสร้างโครงการย่อยเธอจึงได้เข้าสอบและเข้ารับราชการที่นี่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป (ภาษาอังกฤษ)

“การทำงานกับกรมชลประทานเริ่มแรกก็ยากเลย เพราะเราต้องเจอกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษเฉพาะทางด้านชลประทาน ต้องมาแปลเป็นภาษาไทย เช่นข้อตกลงเงินกู้ แตถามว่าเราผ่าด่านนี้ มาได้ยังไง ก็ต้องตอบว่า มาจากความพยายาม ไม่รู้ก็เดินไปถามเจ้าของงานงานวิศวกรรมก็ไปหาวิศวกร เพราะสมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ตแบบปัจจุบัน เรียกว่าเป็นยุค Before Computer Come (เป็นยุคก่อนจะมีคอมพิวเตอร์ใช้กันหลากหลายในสำนักงาน)”

ทำงานทุกตำแหน่ง

ในช่วง พ.ศ. 2535 ซึ่งศิวพรทำงานในตำแหน่งดังกล่าวมานาน 8 ปี ระหว่างนั้นงานด้านเงินกู้เริ่มมีน้อยลง ซึ่งเธอก็เปิดใจถึงสาเหตุที่ต้องการจะย้ายงานไปทำยังตำแหน่งอื่นให้ฟังว่า “เป็นคนชอบความท้าทายใหม่ๆ”

“ยอมรับว่าเราเป็นคนคิดเร็ว พูดเร็วทำเร็ว และต้องการหาความท้าทายใหม่ๆ จึงทำเรื่องขอย้ายไปที่ฝ่ายสรรหาและบรรจุแต่งตั้ง กองการเจ้าหน้าที่ ระหว่างที่อยู่กองการเจ้าหน้าที่ได้หมุนเวียนไปดำรงตำแหน่งในส่วน/ฝ่าย ต่างๆ เกือบจะครบทุกแผนก เพราะผู้บังคับบัญชาเล็งเห็นในความสามารถ”

นอกจากนี้เธอได้ผ่านการทดสอบความเป็นมืออาชีพด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน ก.พ.โดยได้รับคะแนนสูงสุดลำดับที่ 1 และได้รับรางวัลจูงใจเป็นทุนจากสำนักงาน ก.พ.ให้ไปศึกษาดูงานเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคล ณ ประเทศญี่ปุ่น ใน พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจในวิชาชีพของเธอ

ผลงานสร้างชื่อเสียงให้กรมชลประทาน

ช่วง พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2561 ศิวพรได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นนักทรัพยากรบุคคลระดับชำนาญการพิเศษ ผลงานที่ภาคภูมิใจของเธอในช่วงนี้ล้วนแล้วแต่เป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้กรมชลประทานทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น การจัดตำแหน่งและจัดบุคลากรลงตามระบบจำแนกตำแหน่งใหม่ใน พ.ศ. 2551 ซึ่งสำนักงาน ก.พ. เชิดชูให้เป็นหน่วยงานบริหารทรัพยากรบุคคลดีเด่นปี 2552 ผลงานอีกชิ้นหนึ่ง คือ การริเริ่มพัฒนาระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน โดยใช้ระบบ Employee Performance Portfolio (EPP+) ซึ่งทางสำนักงาน ก.พ. เห็นว่าเป็นผลงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี (PMS Best Practice) ในปี 2555 และผลจากการมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทำให้เธอได้รับการคัดเลือกให้เป็นข้าราชการดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2551

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่สำคัญ

ปัจจุบันศิวพร มีตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเธอให้คำสัญญาว่าจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนางานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลต่อไป เพื่อนำพากรมชลประทานไปสู่ RID 4.0 และเธอได้เปิดเผยอีกว่า นอกจากครอบครัวแล้ว อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอเพียรพยายามทำงานที่รักมาจนถึงทุกวันนี้ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องความอุตสาหะ ให้แก่เรา และอุทิศให้แก่ประชาชนในทุกๆด้านซึ่งเราได้นำมาปรับใช้ คือ ทำงานต้องเต็มร้อย ทำให้ลูกน้องได้เห็น เหมือนอย่างเช่นที่ในนหลวงได้ทำให้เราเห็นซึ่งสิ่ง เหล่านี้จะบ่มเพาะไปสู่ตัวพวกเขาในอนาคตแน่นอน”

ตั้งใจทำงานและรักษาสมดุลของชีวิต

ท้ายนี้ ศิวพร ได้ฝากข้อคิดในฐานะพี่ถึงน้องในสายงานฝ่ายสนับสนุนทุกคนซึ่งเป็นมุมคิดที่น่าสนใจว่า “ตัวพี่นั้นเป็นบุคลากรในสายงานสนับสนุน ซึ่งความก้าวหน้าในสายงานจะมีน้อยกว่างานสายหลัก แต่พี่ก็มีโอกาสได้เติบโตก้าวหน้ามาจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญได้ จึงอยากเป็นแรงบันดาลใจให้แก่น้องๆ ในสายงานสนับสนุนว่าทุกคนก็มีโอกาสเช่นกัน แต่ต้องควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลของชีวิตต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองเจ็บป่วยแบบพี่ในอดีต ปี 2558 พี่ตรวจพบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็ง พี่ต้องทำเคมีบำบัด หันมาดูแลตนเอง และให้เวลาแก่ครอบครัวและลูกมากขึ้น ซึ่งเมื่อเรามีทั้งแรงกายและแรงใจที่สมบูรณ์ การมุ่งสู่เป้าหมายจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นแน่นอน”