ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

แนะวิธีจัดการหนี้เสีย พร้อมฝึกวินัยการออมเบื้องต้น


เชื่อว่าหลายคนไม่อยากเป็นหนี้ แต่เมื่อเป็นแล้ว  ก็ต้องรับผิดชอบตามจำนวนที่ไปกู้มา สำหรับคนที่มีปัญหาในเรื่องการชำระหนี้ จนกลายเป็นหนี้เสีย เราจะมีวิธีจัดการหนี้เสียเหล่านี้อย่างไร

สำหรับ “หนี้” พอจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หนี้ดี กับ หนี้เสีย

1.หนี้ดี คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ ถือเป็นหนี้ดี ตัวอย่างเช่น หนี้ที่กู้มาเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัวเป็นเงินทุน และแหล่งทุนของเราคือการขอสินเชื่อธนาคาร เมื่อเรานำเงินกู้มาประกอบกิจการ เกิดเป็นกำไร หมุนกลับไปจ่ายดอกเบี้ย แบบนี้ถือเป็นหนี้ดี

สำหรับ หนี้ที่จำเป็นต้องกู้เพื่อคุณภาพชีวิต ตัวอย่างเช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือกู้เพื่อซื้อบ้าน หากคุณยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง การกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยถือเป็นหนี้ที่ดีเช่นกัน

2.หนี้ที่ไม่ดี คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นภาระที่คุณต้องจ่าย  ยกตัวอย่างเช่น หนี้ผ่อนรถยนต์ หากคุณไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์ หรือมีรถยนต์อยู่แล้วแต่ซื้อคันใหม่ สิ่งที่ตามมาคือ ค่างวด ที่คุณต้องจ่ายทุกเดือน และเป็นหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อะไร แถมยังพ่วงค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมาอีกด้วย

ดังนั้น ขั้นตอนการจัดการหนี้ดี-กำจัดหนี้เสียอย่างชาญฉลาดมีดังนี้

1.หยุดก่อหนี้เพิ่ม

แจกแจงหนี้ออกมาให้ได้ว่าอันไหนเป็นหนี้ที่ดี อันไหนเป็นหนี้เสีย และหยุดก่อหนี้เพิ่ม ไม่ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ที่ดี หรือหนี้ที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งก็คือ การสร้างหนี้ใหม่เอาไปจ่ายหนี้เก่า การทำแบบนี้จะยิ่งทำให้ “ปมหนี้” ผูกมัดแน่นขึ้น และยากจะแก้ไขภายหลัง

2.สำรวจภาระหนี้สิน และความสามารถในการชำระหนี้คืน

สำรวจหนี้สินว่ามีอะไรบ้าง ทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้ค่างวดรถยนต์ ค่างวดบ้าน ฯลฯ จดบันทึกมูลหนี้ทั้งหมด รวมทั้งดอกเบี้ยจ่ายในแต่ละเดือนว่าสิ่งที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งหมดเท่าไร ทำแบบนี้จะเห็นภาพชัดขึ้นว่า หนี้สินของคุณมีอะไรบ้าง จ่ายดอกเบี้ยไปเท่าไรบ้าง และนำข้อมูลมาบริหารจัดการหนี้ในมือให้หมดไปโดยไว

3.จัดสรรค่าใช้จ่ายเสียใหม่ ออมเงินให้มากขึ้น

เมื่อแยกหนี้ดี และไม่ดีออกจากกัน พร้อมทั้งหยุดก่อหนี้ใหม่แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมา คือ จัดสรรค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเสียใหม่ โดยปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง วิธีที่ทำให้เรามองเห็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ก็คือ การจดบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่าย เมื่อเห็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นแล้ว ลดการใช้จ่ายในส่วนนั้นๆ ลง ส่วนที่เหลือก็คือ เงินออม หากคุณต้องการความมั่นคงในด้านการเงิน ควรมีเงินออมเก็บไว้อย่างน้อย 10-20% ของรายรับทั้งหมด บางคนบอกหนี้ยังจ่ายไม่หมดจะให้ออมเงินได้อย่างไร ไม่เป็นไรเรารีบเคลียร์หนี้ให้หมดเร็วๆ จะได้เริ่มต้นออมเงินเร็วๆ ถ้าไม่เริ่มก็คงไม่มีความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

4.หาทางเพิ่มรายได้

ขอแนะนำว่าคุณควรมีทั้ง active income คือ ทำงานหาเงิน และมี passive income คือ ‪ให้เงินทำงานควบคู่กันไปเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตการเงินของเรานั่นเองการเพิ่มรายได้นอกเหนือจากรายได้หลักหรืองานประจำควรเป็นรายได้ในทางpassive income ทำให้มีกระแสเงินสดหลายทางเข้าสู่ชีวิตการเงินของเรา ดังนั้นถึงจะมีหนี้เยอะ แต่มีรายได้เยอะด้วย ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระและไม่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตมากนัก หากต้องการแนวคิดการบริหารจัดการเงินดีๆ แวะเข้าไปอ่านเพิ่มเติมที่บทความของธนาคารออมสิน

5.ติดตามผลงานอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อคุณวางแผนจะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และบริหารหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ต้องหมั่นติดตามผลงานอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากไม่คอยติดตามความก้าวหน้าใดๆ บางครั้งคุณอาจจะหวนกลับไปก่อหนี้ไม่ดีขึ้นมาอีกก็เป็นไปได้ ทางที่ดีควรหมั่นตรวจสอบตัวเอง และพฤติกรรมการใช้จ่ายให้ดี สร้างเครดิตดีๆ ในอนาคตหากคุณจะทำกิจการ ประกอบธุรกิจเล็กๆ และจำเป็นต้องขอสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นหนี้ที่ดี คุณจะได้ไม่ติดขัด มีหนี้น้อยโอกาสดีๆ ก็เปิด ที่สำคัญคุณจะใช้ชีวิตที่มั่นคงได้อย่างสบายใจ

ติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : วิธีจัดการหนี้ดี กำจัดหนี้เสีย อย่างชาญฉลาด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ธนาคารออมสิน