ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เปิดยุทธ์ศาสตร์ “โกลด์ฟิงเกอร์” กับ “สิปปวิชญ์ ครามะคำ” ใช้หลักการวิทยาศาสตร์ทำตลาดบนโลกออนไลน์


ในกระแสธุรกิจดิจิทัลปัจจุบัน มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมดบนโลกออนไลน์ เกิดการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์กันมากขึ้น หากนับเม็ดเงินตลาดด้านนี้นับว่ามีมูลค่ามหาศาล ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่คนไทยเท่านั้นที่กระโดดเข้ามาทำธุรกิจในช่องทางนี้ นักธุรกิจต่างชาติก็เข้ามาทำธุรกิจผ่านช่องทางนี้ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

เมื่อธุรกิจบนโลกออนไลน์เติบโตขึ้นมาก ก่อเกิดบริษัทที่ให้คำปรึกษาการตลาดออนไลน์ซึ่งก็มีมากมายหลายบริษัท และแต่ละบริษัทก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกันออกไป

โกลด์ฟิงเกอร์ คือบริษัทเอเจนซี่ที่ให้บริการด้านการตลาดออนไลน์ที่ให้คำแนะนำพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ให้สามารถยืนผงาดอยู่ในตลาดได้ โดยมี คุณสิปปวิชญ์ ครามะคำ กรรมการ บริษัท โกลด์ฟิงเกอร์ จำกัด ได้มาเล่าประสบการณ์และมุมมองแง่คิดของการปรับตัวในยุคออนไลน์เฟื่องฟู ในงาน เสวนาหัวข้อ “ก้าวทันเทรนด์โลก รับธุรกิจออนไลน์ ปี 2019”

“ธุรกิจของผมเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจุดเริ่มต้นเราไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจออนไลน์แบบ 100 % เลย เพราะเราทำธุรกิจเกี่ยวกับเอเจนซี่ที่เติบโตมาจากโปรดักชั่นเฮ้าส์มาก่อน สมัยนั้นเมื่อ 9-10 ปีที่แล้ว โลกออนไลน์เพิ่งเข้าสู่ยุคเริ่มต้น และธุรกิจทีวีอยู่ในช่วงขาขึ้น ตอนนั้นเรามีรายการทีวีหลายรายการทางช่องทรู Thai PBS ระยะให้หลังต่อมามีการเกิดของยูทูบ ลูกค้าเริ่มมีความต้องการและถามว่าถ้าอยากจะมีวีดีโอไปฉายบนยูทูบต้องทำยังไง ตอนนั้นบอกได้เลยว่าเราใหม่มากในวงการ ใช้วิธีการลองผิดลองถูกด้วยตัวเราเอง ความโชคดีของเรา คือ หุ้นส่วนทางธุรกิจปัจจุบันของเราเป็นเพื่อนของน้องชายที่บินกลับจากอเมริกาแล้ว Certify ผ่านการรับรองจากตัว Google มาด้วย ตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เรามี Know How สำหรับการแนะนำลูกค้าเพื่อทำให้ตัวยูทูบมียอดวิว เพราะในสมัยก่อนเรายังคงตั้งคำถามว่าทำไมยูทูบต้องทำยอดวิวด้วย“

“คุณสิปปวิชญ์” เล่าว่าเริ่มต้นบริษัทฯ ทำให้ลูกค้าแบบฟรีๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนนั้น และถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ โกลด์ฟิงเกอร์ก้าวเข้าสู่วงการ Digital Agency แล้วเข้าร่วมประมูลงาน PR Online ให้กับเว็บไซต์ Thaitrad.com ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในตอนนั้นยังไม่ทราบจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมประมูล แต่ก็ชนะประมูลพร้อมทั้งได้ดูแลโครงการของ Thaitrad.com ในปีแรกของการเริ่มต้นโครงการร่วมกัน

“ปัจจุบันต้องบอกเลยว่าบริษัทของผมได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานไปเรียบร้อยแล้ว ในส่วนที่เป็นงานของโปรดักชั่นเฮ้าส์จะลดลงมาเป็นการสนับสนุน เพราะตอนนี้เรามีกลยุทธ์ของบริษัท ซึ่งปัจจุบันเราพอจะแบ่งลูกค้าออกเป็น 2 หมวดหลักๆ คือ 1.Corporate 2.กลุ่มลูกค้า SME คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยุคหนึ่งที่ก้าวผ่านออนไลน์แต่ยังคงมีความกลัวและไม่กล้า ไม่มีความคุ้นเคยเพราะยังเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น การที่เขาเหล่านั้นจะลงโฆษณาไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ บิลบอร์ด และการที่จะเอาเงินมาลงทุนด้านออนไลน์ก็ยังมีความกล้าๆ กลัวๆ จนปัจจุบันเราจะเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำเงินลงมาลงทุนทำการตลาดออนไลน์ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นเรื่องง่าย เราจึงเห็นช่องว่างคือ Corporate มีเยอะเราคิดและทำให้ แต่เอสเอ็มอีที่มีงบประมาณจำกัดเราจะแนะนำโดยการเปิดเป็น Academy ขึ้น”

“คุณสิปปวิชญ์” บอกว่าโดยส่วนตัวแล้วเขามักจะเดินทางไปศึกษาเรียนรู้ด้านการตลาดในหลายสำนัก แต่สุดท้ายเขาแนะนำว่า ถ้าสนใจศึกษาไม่ว่าจะเป็นผ่านทาง Facebook หรือ Google แนะนำให้เรียนกับเจ้าของ โดยปัจจุบัน Facebook เปิดหลักสูตรออนไลน์ที่เรียกว่า E-Learning เรียกว่า Facebook Blueprint ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ฟรี เพราะการที่เจ้าของทำหลักสูตรเองนั้นจะมีความสมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ประกอบการเองจะต้องมีวินัยในตัวเองด้วย จึงจะสามารถเข้าไปเรียนรู้ระบบแล้วนำเอาองค์ความรู้มาปรับใช้ในธุรกิจได้ ในขณะที่ทาง Google เองก็มี Academy ซึ่งเจ้าของทำเองและให้เรียนฟรีเช่นเดียวกัน และยังสามารถสอบ Certify ได้อีกด้วย

“สถานการณ์ในปัจจุบัน สิ่งที่เราพบอย่างหนึ่ง คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านการตลาดดิจิทัลสูงมาก ประเด็นคือ มีสถาบันออกมาเปิดสอนคนให้ค้าขายออนไลน์เยอะมาก แต่ถามว่าคนที่เรียนจบออกมาจะสามารถทำงานจริงๆ ได้มากน้อยแค่ไหน จะช่วยผู้ประกอบการเพิ่มยอดขายด้วยเครื่องมือจริงๆ จะมีสักกี่คน เราจะเห็นว่าตลาดยังขาดในเรื่องของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ คนที่จะทำการตลาดออนไลน์ประสบความสำเร็จนั้น 1.ต้องมี Mind Set คือ คุณต้องสวมหัวใจของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ซึ่งสำคัญมาก ซึ่งหัวใจของการเป็นนักวิทยาศาสตร์มี 4 ขั้นตอน คือ 1.ตั้งสมมติฐาน 2.ทดลอง 3.สรุปผล 4.หากสงสัยให้วกกลับไปข้อ 1 การทำการตลาดออนไลน์ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า 1.มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว 2.ไม่มีคำว่าดีที่สุด เพราะการทำการตลาดออนไลน์มีแต่การทำขั้นกว่า หมายถึงเราสามารถทำให้มันดีขึ้นได้ในทุกๆ วัน ดังนั้น 1.ตั้งสมมติฐาน 2.ทำการทดลองและทดสอบ 3.สรุปผล เรียบร้อยแล้วคุณต้องเอาผลลัพธ์มาแปลให้ได้ว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไร สำคัญที่สุด คือ ต้องมองด้วยว่ามันคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปหรือไม่ นี่คือเรื่องของ Mind Set

“ในส่วนของ Skill Set คุณต้องมีความเข้าใจในบริบทของแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น วันนี้เราเข้าเฟสบุ๊คเพื่อเข้าไปดูคนอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วเฟสบุ๊คเก่งเรื่องของคน วันนี้ถ้าคนยังใช้เฟสบุ๊คในการทำธุรกิจคุณต้องเริ่มเขียนเรื่องคนอื่น ต้องเริ่มเขียนคอนเทนต์พูดถึงคนอื่นไม่ใช่เขียนเรื่องของตัวเอง ส่วนใหญ่เวลาคนจะเขียนในเฟสบุ๊คมักจะบอกว่าฉันดีอย่างไร แต่เราควรไปถามลูกค้าเราว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเขาต้องการข้อมูลแบบไหนจากธุรกิจของเราเพื่อช่วยเขาในการตัดสินใจซื้อ มี 2 ด้าน คือ 1.ข้อมูลที่เราอยากบอก 2.ข้อมูลที่ลูกค้าอยากรู้ หาให้เจอว่ามันคือเรื่องอะไร เราต้องเขียนคอนเทนต์ที่เติมเต็มเรื่องของคนอื่น ส่วนถ้าเราจะพูดถึงตัวเราเองเราเลือกที่จะคุยใน IG หรือสรุป IG เป็นเรื่องของฉัน Facebook เป็นเรื่องของเธอ”