ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ติด 1 ใน 5 ของการทำปศุสัตว์ จากการขยายตัวทางธุรกิจในภาคปศุสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าอาหารสัตว์ เช่น ปลายข้าว กากถั่ว ข้าวโพด มาทดแทนมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนให้การเจริญเติบโตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่หารู้ไม่ว่าการนำเข้าวัตถุดิบมีผลเสียในเรื่องของคุณภาพการเจริญเติบโตของปศุสัตว์ในภาพรวมเป็นอย่างมาก
นายสัตวแพทย์กิตติ ทรัพย์ชูกุล จึงได้คิดค้นนวัตกรรม “ซีต้าเทคโนโลยี” สารดูดจับสารพิษเชื้อราปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสัตว์ 6 ชนิด คืออฟลาท็อกซิน, ฟูโมนิซิน, ซีลารีโนน, ที-2 ท็อกซิน, DON, และออคราท็อกซิน เชื้อราเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อสัตว์ ทำให้สัตว์ เช่น หมู มีอวัยวะเพศบวมส่งผลให้เกิดการแท้งลูก รวมไปถึงตับอักเสบ ไก่ กระเพาะอักเสบ ปากเป็นแผล ส่งผลให้การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์
นายสัตวแพทย์กิตติ เล่าว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้ร่วมมือกับทาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สร้างนวัตกรรมดูดจับสารพิษเชื้อราปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยใช้เทคนิคทางนาโนเทคโนโลยีคัดเลือกชนิดและดัดแปลงโครงสร้างอนุภาคเคลย์ (ดินภูเขาไฟ หรือ ผนังเซลล์จากยีสต์) ให้เป็นวัสดุนาโนคอมโพสิต
ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการดูดจับสารพิษร่วมกับการใช้เอนไซม์ในการเปลี่ยนโครงสร้างสารพิษเชื้อรา โดยกระบวนการตรึงบนอนุภาคเคลย์ ทำให้สามารถออกฤทธิ์เสริมประสิทธิภาพกันได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สามารถดูดจับสารพิษเชื้อราได้ครอบคลุมทุกชนิดที่เป็นปัญหา ในการผลิตปศุสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ
ความโดดเด่นของซีต้าเทคโนโลยี นั้นอยู่ที่ความครอบคลุมของการแก้ปัญหาเชื้อราที่ตรงจุด ลดการสูญเสียจากสารพิษเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในท้องตลาด
ไม่ปฏิเสธว่านวัตกรรมนี้ยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่ในระดับเกษตรกรทั่วไปแล้ว เทคโนโลยีนี้ถือว่าเกินเอื้อมและยากแก่การเข้าใจ นายสัตวแพทย์กิตติ ยอมรับว่า การสร้างความเชื่อให้เกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งทางบริษัทใช้วิธีการให้เกษตรกรตรวจสอบวัตถุดิบอาหารสัตว์ว่ามีสารพิษเชื้อราปนเปื้อนหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนการทดลองทางบริษัทจะเป็นผู้นำอุปกรณ์การทดลองให้เกษตรกรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เมื่อตรวจสอบแล้วว่ามีสารพิษก็จะนำผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรเคยใช้มาเปรียบเทียบกับนวัตกรรมซีต้า ให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความแตกต่างของผลิตภัณฑ์
“ปัจจุบันภาคการผลิตมีความยากขึ้น ซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นเกษตรกรจะต้องหาวิธีการที่ทำให้ต้นทุนต่ำ และได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพซีต้า ก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาจากการเกิดโรคของปศุสัตว์ ซึ่งทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ และไม่สูญเสียปริมาณของสัตว์ที่เกิดจากสาเหตุการป่วยตายหรือสัตว์ที่ไม่ได้คุณภาพ”
และหลังจากที่นวัตกรรมซีต้า ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมจาก สวทช. ส่งผลให้เป็นที่ยอมรับต่อเกษตรกรมากขึ้น ปัจจุบันซีต้าได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นจากตัวเลขการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 15 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 26 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมียอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นในปี 2558 ถึงเดือนละ 30 ตัน หรือประมาณ 52 ล้านบาท
ในส่วนของการพัฒนาแผนการตลาดนายสัตวแพทย์กิตติ บอกว่า แบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ 1. เน้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ซีต้าให้มากขึ้น ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ให้ทราบถึงคุณสมบัติของนวัตกรรม ซีต้า ที่สามารถครอบคลุมทุกปัญหาและแก้ไขได้จริงมากกว่าผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งที่อยู่ในท้องตลาด
อีกทั้งการจัดโปรโมชั่นการตรวจสอบสารพิษให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรทราบถึงปัญหาอย่างแท้จริง 2. เจาะตลาดต่างประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียนให้มากขึ้น โดยใช้วิธีการเปิดตลาดแบบเดียวกับในประเทศไทย
“เกษตรกรจะต้องเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามา เพราะจะเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ นั่นจะส่งผลถึงภาพรวมของเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งและต่อสู้กับตลาดต่างประเทศได้”
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kleangreentech.com หรือ โทร.0-2865-4264, 08-7083-5005