ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เปิดยุทธศาสตร์ ธพว. “พงชาญ สำเภาเงิน” 20 ปี หนุนเอสเอ็มอีรายย่อยสำเร็จทะลุ 6.4 หมื่นราย


นับตั้งแต่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือที่รู้จักกันดีในนาม SME D Bank กับการทำงานช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กให้สามารถลืมตาอ้าปาก และให้การสนับสนุนตามนโยบายของฟากฝั่งรัฐบาล โดยที่ผ่านมาภายใต้การบริหารดูแลของ คุณมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ได้บุกเบิกเดินหน้าให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กจนประสบความสำเร็จมาแล้วหลายราย แม้วันนี้ท่านจะหมดวาระการทำงานไปแล้ว แต่ท่านก็ยังคงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาผลักดันความช่วยเหลือไปสู่เอสเอ็มอีรายเล็ก และเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ SME D Bank เป็นขวัญใจและเป็นที่พึ่งพาของผู้ประกอบการต่อไป

ปัจจุบัน คุณพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ ในฐานะรักษาการตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ได้เข้ามาสานต่อนโยบายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของ ธพว.เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ตามแผนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

“ธพว.ดำเนินการตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2558 ถึง ม.ค.2562 ที่ผ่านมา ธนาคารอำนวยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อย หรือ“คนตัวเล็ก” จำนวน 64,037 ราย ยอดสินเชื่อรวมกว่า 157,617 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ธนาคารมุ่งมั่นการทำงานที่จะมอบ “ความรู้คู่เงินทุน”ยกระดับขีดความสามารถให้รายย่อย ผ่านกิจกรรมบ่มเพาะจัดอบรมปีละมากกว่า 5,500 ราย โดยเฉพาะด้านด้านบัญชี และเพิ่มช่องทางการตลาด ตั้งแต่ปี 2558-2561 ยกระดับคนตัวเล็กสำเร็จ 24,032 ราย และสร้างผู้ประกอบการใหม่ Startup กว่า 1,000 ราย ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลร่วมจัดกิจกรรมในตลาดคลองผดุงกรุงเกษมอย่างต่อเนื่อง รวมถึง เป็นเจ้าภาพการจัดงานระหว่างวันที่ 12-27 ธันวาคม 2560 ภายใต้ชื่อ “สุดยอด SMEs ส่งสุข ส่งท้าย ส่งความประทับใจ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม 2560” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง นำไปสู่การต่อยอดขยายผลจัดตลาดประชารัฐ 6,520 แห่งทั่วประเทศ สร้างเงินสะพัดในระดับเศรษฐกิจมากกว่า 3,200 ล้านบาท รวมถึง ต่อยอดพาผู้ประกอบการชุมชนที่เคยมาออกร้านในงานตลาดคลองผดุงฯ ขยายตลาดสู่ต่างแดน เช่น ผ้าขาวม้า แบรนด์ “นุชบา” และคลัสเตอร์สมุนไพร “ต้นน้ำ โฮลดิ้ง” เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารมุ่งบทบาทแห่งการเป็นสถาบันการเงินเพื่อคนตัวเล็ก เนื่องจากที่ธนาคารได้ทำการวิจัยร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมกว่า 5.2 ล้านราย ในจำนวนดังกล่าว คือ รายย่อยอยู่นอกระบบกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ความสามารถทางธุรกิจต่ำมาก เพราะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ ยิ่งเมื่อต้องการเงินทุนในระบบสถาบันการเงิน แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่เคยมีประวัติการเงินใดๆ มาก่อน หลายรายชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบแทน กลายเป็นว่า คนตัวเล็กอ่อนแอที่สุด กลับเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ส่วนรายระดับกลางที่ปรับตัวได้ดีอยู่แล้ว สามารถเข้าถึงมาตรการสนับสนุนภาครัฐได้ด้วย ช่วยให้มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำไปถูกฉีกกว้างมากขึ้น ดังนั้น ธพว. จะเข้าไปเสริมแกร่งและยกระดับคนตัวเล็กเช่น กลุ่มอาชีพอิสระ ทั้งคนขับแท็กซี่ เสริมสวย โชห่วย เป็นต้น เพื่อยกระดับความสามารถ พัฒนามาตรฐาน และพาเข้าสู่ระบบ

“ที่ผ่านมา ธนาคารยกระดับผ่านกระบวนการ “3เติม” ผ่านกระบวนการ “3D” กล่าวคือ 3 เติม ได้แก่ 1.เติมทักษะให้ความรู้เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ 2.เติมทุนด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และ 3.เติมคุณภาพชีวิตพาเข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ สร้างความมั่นคงในอาชีพ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ส่วน “3D” ได้แก่ 1.D-Development = บริการความรู้คู่ทุนพัฒนาคนตัวเล็ก 2.D-Digital = บริการทันสมัยรวดเร็วเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม SME D Bank ยื่นขอสินเชื่อ และหาความรู้ ผ่านออนไลน์ได้กว่า 600,000 ราย ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ 24×7 (24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน) และ3.D-Delivery = บริการถึงถิ่นทั่วไทย ผ่านหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริมSMEsไทยฉับไวไปถึงถิ่น”ภายใต้โครงการนี้จะมี Mobile Unit จำนวน 600 คันและในปี 2563เพิ่มเติมถึง 1,000 คัน ให้บริการครอบคลุม 7,255 ตำบลทั่วประเทศ สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ในเวลา 7 วัน โดยเจ้าหน้าที่ธนาคาร จะทำงานภายใต้รหัส 8-8-7 (8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม ตลอด 7 วัน) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับบริการสะดวกสบายที่สุด ขณะนี้ให้สินเชื่อต่อคันต่อเดือนได้จำนวน 8 ล้านบาท ซึ่งเมื่อปรับเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน เพิ่มอีกร้อยละ 20 เป็นจำนวน 10 ล้านบาท ต่อคันต่อเดือน”

จากการสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ตลอดไตรมาสที่ 1, 2 , 3 และ 4 ประจำปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่า ลูกค้า ธพว. ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาดังกล่าว จะมีดัชนีความสามารถธุรกิจ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอสเอ็มอีทั่วไป บ่งชี้แนวทางดังกล่าว สร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการได้จริง ดังนั้น ธนาคารจึงเดินหน้าแนวทางดังกล่าวขยายสู่เอสเอ็มอีคนตัวเล็กอย่างกว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยยกระดับการทำงานสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์กิ้งเต็มรูปแบบ ภายใต้รหัส SME D3 (D ยกกำลัง 3) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน นำสังคมไทยอยู่ดีมีสุข เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน