ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เผยยุทธวิธี เจาะตลาดพญามังกรผ่านอี-คอมเมิร์ซ


ธุรกิจค้าปลีกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (cross-border e-commerce) ของจีนมีแนวโน้มเติบโตสูง เห็นได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ AliResearch พบว่า มูลค่าการนำเข้าผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของชาวจีนในปี 2015 มีมูลค่าราว 9 แสนล้านหยวน มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจนในปี 2020 จะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 3 ล้านล้านหยวน ด้วยอัตราการเติบโตราว 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ทั้งนี้ช่องทางหลักในการนำเข้าผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ คือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน และอีกหนึ่งช่องทางที่มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยมากคือ แพลตฟอร์มของต่างประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคชาวจีนเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการต่างชาติ

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ SME ขยายตลาดผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ

1. สินค้าต้องมีลักษณะเหมาะสมในการวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม

2. ต้องมีสินค้าวางจำหน่ายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ โดยเลือกจุดจำหน่ายที่มีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวจีนในไทยเพื่อทำให้ผู้บริโภคเห็นและคุ้นเคย

3. สร้างช่องทางในการสื่อสารกับผู้บริโภคชาวจีน โดยอาจใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับตัวสินค้า

ลักษณะสินค้ามีโอกาสเข้าไปเจาะตลาดจีนผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

1. มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เนื่องจากหากสินค้ามีขนาดใหญ่ต้นทุนในด้านการขนส่งและการจัดเก็บในคลังสินค้าจะมีมูลค่าสูง

2. มีอายุการเก็บรักษาค่อนข้างนาน (long shelf life) และมีความทนทานต่อการขนส่งได้

3. เน้นการเจาะตลาดผู้บริโภคจำนวนมากและราคาไม่สูงนัก เนื่องจากข้อจำกัดทางมูลค่าที่ซื้อได้ต่อปีของชาวจีน

Multi-brand Store ช่วยเพิ่มโอกาสให้ SME

1.ธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจะเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังจีนได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการ SME ควรรวมตัวกันในการจัดตั้งร้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้า ทั้งนี้การร่วมมือกับผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าอยู่ในหมวดเดียวกัน (multi-brand store) เพื่อตั้งร้านร่วมกันในแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก อย่าง Kaola, JD Worldwide หรือ Tmall Global จะช่วย SME ในการทำธุรกิจได้ในหลายแง่มุม

2.สามารถลดต้นทุนในการวางจำหน่ายสินค้า อาทิ ค่ามัดจำในการตั้งร้าน ค่าคอมมิชชั่นที่แต่ละร้านจะต้องเสียซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการรายเดียวมีความจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมากหรือหลีกเลี่ยงด้วยการเข้าใช้แพลตฟอร์มขนาดเล็กที่ต้นทุนและจำนวนผู้ใช้งานต่ำกว่า

3.ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า โดยปริมาณยอดขายส่งผลต่อการเลือกใช้ช่องทางในการนำเข้าสินค้า เมื่อปริมาณยอดขายมากควรเลือกการนำเข้าไปยังคลังสินค้าทัณฑ์บน (bonded warehouse) โดยผู้ประกอบการจะต้องส่งสินค้าไปเก็บไว้ในคลังสินค้าที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร (free trade zone) ก่อน และเมื่อมีคำสั่งซื้อ ผู้ให้บริการด้านการขนส่งจึงส่งสินค้าจากคลังสินค้าไปยังผู้บริโภค วิธีนี้จะมีต้นทุนการขนส่งต่ำ เนื่องจากสามารถใช้การส่งออกทางเรือได้ ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าสั้นลงหลังจากมีคำสั่งซื้อ

ช่องทางสนับสนุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ

1. ใช้สื่อในโซเชียลมีเดียสื่อสารกับชาวจีน เนื่องจากโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าภายในจีน ดังเช่น การสื่อสารผ่าน influencers (Key Opinion Leaders : KOLs) หรือการสร้าง official account ในแพลตฟอร์ม อาทิ Wechat Official Account หรือ Weibo Official Account ที่สามารถเป็นทั้งช่องทางในการโปรโมทสินค้า หรือกระทั่งการแชร์สื่อต่างๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและยอดผู้ติดตาม

2. ช่องทางการรับชำระเงินที่อำนวยความสะดวกแก่ชาวจีน ได้แก่ Alipay หรือ WeChat Pay ที่มีสัดส่วนผู้ใช้ค่อนข้างสูงและรองรับการใช้งานของผู้ประกอบการต่างประเทศ

3. เชื่อมโยงระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ หรือเรียกว่าโมเดลธุรกิจ Online to Offline (O2O) ของแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการที่แพลตฟอร์มออนไลน์สร้างร้านค้าปลีกออฟไลน์ของตนเอง ที่อาจช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการในการวางขายบนร้านค้าดังกล่าว

ขอขอบคุณ: SCB