ต้องยอมรับว่ายุคนี้เป็นยุคของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่สามารถเรียนรู้วิทยาการใหม่ ๆ ได้รวดเร็ว และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังผันตัวเป็น “เถ้าแก่” ธุรกิจเทคโนโลยี และทำได้ดีไม่แพ้กับเหล่าวัยรุ่น นั่นก็คือ กลุ่มคนวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่กำลังตื่นตัวและเข้ามามีบทบาทในแวดวงดังกล่าว ซึ่งในยุคที่พลเมืองสูงวัยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA เห็นความสำคัญในการให้การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมและกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพในทุกช่วงวัยตั้งแต่เยาวชนจนถึงผู้สูงวัย ในปัจจุบันคนรุ่นเก่าตั้งแต่เจเนอเรชั่น Builders (อายุ 73+), Baby Boomers (อายุ 55 – 72) รวมถึง Gen X (อายุ 38 – 54) ก็มีความตื่นตัวด้านนวัตกรรมไม่น้อยเลย ซึ่งในความเป็นจริง “ผู้ประกอบการรุ่นใหญ่” ก็มีแนวคิดการทำธุรกิจนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์สังคมไม่แพ้กับ “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” อีกทั้งยังมาพร้อมกับประสบการณ์ และคอนเนคชั่น ทำให้โมเดลธุรกิจของพวกเขานั้นมีความน่าสนใจ เป็นประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การสร้างคุณค่าให้กับสังคม ต่อเนื่องไปจนถึงการสร้างงานสร้างอาชีพนอกจากนี้ ยังพิสูจน์ให้เห็นอีกว่าอายุที่มากขึ้นไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหาในการเริ่มต้น เพราะเพียงแค่รู้จักสรรหาโอกาสและเติมช่องว่างที่ยังขาดก็สามารถประสบความสำเร็จได้ชนิดที่ไม่มีคำว่า “สายเกินไป”
และวันนี้ เอสเอ็มอี ชี้ช่องรวย จะพาไปทำความรู้จักกับ “ผู้ประกอบการรุ่นใหญ่” ที่มีแนวคิดการทำธุรกิจนวัตกรรมเจ๋งๆไม่แพ้กับ “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” โดยกลุ่มคนต้นแบบเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA” ซึ่งไม่เพียงแค่โมเดลธุรกิจจะมีความน่าสนใจแล้ว แต่ยังเป็นประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การสร้างคุณค่าให้กับสังคม ต่อเนื่องไปจนถึงการสร้างงานสร้างอาชีพ
“สตาร์ทอัพแดนใต้วัยเก๋า ผู้พัฒนาระบบเพาะพันธุ์ตัวอ่อนปลิงขาวบนบก พร้อมการจ้างงานกว่า 200 อัตรา”
ลือพงษ์ อ๋องเจริญ ผู้ประกอบการจากบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง วัย 71 ปี เล่าว่า ได้พัฒนานวัตกรรมระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนปลิงขาวบนบกแบบครบวงจรขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการลดลงของปลิงขาวซึ่งเป็นทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญของจังหวัดสตูล พังงา ระนอง และตรัง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤติ ปริมาณที่ชาวประมงจับได้ลดลงไปถึง 90% เมื่อเทียบกับในอดีต สาเหตุมาจากทั้งขาดการอนุรักษ์ การเก็บมาจำหน่ายแบบไม่ควบคุม เนื่องจากราคาขายที่สูงถึงกิโลกรัมละ 2,500 บาท รวมถึงความต้องการในกลุ่มผู้บริโภคต่างชาติทั้งจีน ฮ่องกง เกาหลี และไต้หวัน ที่นิยมบริโภคเพราะความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาโรคบางชนิดและการเพิ่มสมรรถทางเพศ
บริษัทจึงได้พัฒนานวัตกรรมดังกล่าวมาทั้งสิ้น 2 ปี โดยใช้วิธีการกระตุ้นให้เกิดการวางไข่ตามเวลาที่ต้องการ การกระตุ้นด้วยความร้อน การใช้ความกดดันน้ำ การใช้วิธีทำให้แห้ง และการกระตุ้นโดยใช้อาหาร ซึ่งควบคุมปัจจัยด้าน ความเค็มของน้ำ อุณหภูมิ แสง อาหารและวัฏจักรของดวงจันทร์ การเลี้ยงในระบบนี้จะเพิ่มอัตราการรอดของลูกปลิงขาวจากไข่ถึงลูกปลิงวัยอ่อนประมาณ 50% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรารอด 0.01%-0.05% ในแหล่งน้ำทะเลธรรมชาติ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการปล่อยคืนสู่ทะเลเพื่อเพิ่มปริมาณปลิงขาวในทะเล เป็นทรัพยากรประมงพื้นถิ่นให้กับชาวประมงในพื้นที่ในอนาคต ก่อให้เกิดการจ้างงานได้กว่า 200 อัตรา และยังทำให้มูลค่าของปลิงขาวเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 – 7,000 บาท/กิโลกรัมได้เลยทีเดียว
แม้จะดำเนินกิจการดังกล่าวมาได้เพียง 2 ปี แต่ “ลือพงษ์” ได้ใช้องค์ความรู้ประสบการณ์จากการรับราชการกรมป่าไม้ ที่รู้ถึงจุดเด่นจุดด้อย ปัจจัยสิ่งแวดล้อม และปัญหาของชุมชนในจังหวัดสตูลทั้งหมด 10 ปี มาบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ นำนโยบายรัฐบาลยกระดับเศรษฐกิจฐานรากเพราะรู้ว่าชุมชนเราประสบปัญหาด้านใด อย่างเช่นก่อนที่จะส่งเสริมให้เพาะ ปลิงขาวทะเล ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำบ่อกุ้งกัน ผลผลิตและงบประมาณที่ใช้ก็มีเยอะกว่า ความเสี่ยงด้านการตลาดก็มีมากกว่า จากการที่ได้อยู่กับชาวบ้านและทำงานเชิงพื้นกับชุมชนเราจึงได้ดึงศักยภาพปรับเปลี่ยนให้ชาวบ้านหันมาเพาะพันธุ์ปลิงทะเลขาวกันมากขึ้นเนื่องจากใช้เวลาน้อยกว่า เลี้ยงง่าย และสร้างมูลค่าได้มากกว่า
“บิวดอน (Buildon) โปรแกรมประเมินศักยภาพพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน”
ฟูปัญญา ว่องไววิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวดอน จำกัด วัย 50 ปี กล่าวว่า บิวดอนมุ่งตอบโจทย์การปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นกว่าแพลตฟอร์มของหน่วยงานภาครัฐที่ใช้ในปัจจุบัน โดยอาศัยเทคโนโลยี Web/Mobile application มาช่วยคิดวิเคราะห์ระดมความคิด ประเมิน และระดมการลงทุนเพื่อยกระดับแหล่งโบราณคดี โดยได้นำร่องไปที่ เมืองเก่าศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ศาลากลางเดิม จังหวัดลำพูน และเมืองน่าน จังหวัดน่าน มุ่งตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและปรับปรุงให้เกิดประโยชน์จากอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของชุมชน โดยการใช้นวัตกรรมในการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถใช้สำหรับประเมินศักยภาพในเชิงพื้นที่ การระดมความคิดเห็นพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและสังคมและระดมทุนเพื่อหากำไรในอนาคต
โดยเขายังให้ความเห็นอีกว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ซึ่ง 30 ปีที่ตนทำงานด้านนี้มา ได้เอาประสบการณ์โดยตรงจากการเป็นสถาปนิกอนุรักษ์มาปรับกับการพัฒนาธุรกิจให้ตอบสนองต่อความต้องการทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะถ้าไม่ใช่คนที่ทำงานด้านนี้โดยตรงก็จะไม่เข้าใจและไม่เข้าถึงแก่นหรือไปถึงปัญหาในระดับที่จะสามารถตอบโจทย์ของโครงการได้จริงๆ
นอกจากนี้ ข้อได้เปรียบของการเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหญ่ที่ต่างจากสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ก็คือ การมีประสบการณ์ที่ตรงและยาวนานจะช่วยให้มองเห็นถึงปัญหาต่างๆ และนำมาแก้ไข ซึ่งแน่นอนว่าคนรุ่นใหม่จะต้องอาศัยเวลาในการ หาประสบการณ์ต่างๆ การเรียนรู้ที่มีการผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะมีความเชี่ยวชาญ ส่วนคนที่เป็นรุ่นใหญ่หรือมีประสบการณ์แล้วก็จะสามารถจัดระเบียบ วางแผนการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
“ประสบการณ์ Recruit คนกว่า 20 ปี สู่ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม The Job ช่วยหางานง่ายเพียงปลายนิ้ว”
วิยะดา ฐานวีร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เดอะจ็อบ จำกัด วัย 50 ปี เผยว่า The Job เป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้คุณหางานที่ใช่ด้วย “ระบบจับคู่งานอัจฉริยะ” แตกต่างจากแต่ก่อนที่เราต้องมานั่งเซิร์ชหางานเอง เพียงลงประวัติไปในระบบก็สามารถจับคู่งานที่เราต้องการ ไม่ใช่แค่คนที่หางาน แต่คนที่กำลังหาลูกจ้างก็สามารถหาลูกจ้างได้เช่นกัน โดยจะระบบจะหาและจับคู่ (Match) ทั้งลูกจ้างและงานที่เราอยากได้ไว้ด้วยกัน ซึ่งสามารถระบุความต้องการ โลเคชั่นในการทำในงาน และสามารถเซิร์ชหาทุกคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับงานโดยไม่ขาดตกแม้แต่งานเดียว ทั้งนี้ ระบบของ The Job ยังช่วยให้การหางานไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของใครของมัน แต่ยังสามารถแชร์งานที่เราได้ให้กับเพื่อนๆ หรือแนะนำแชร์ข้อมูลต่างๆภายใต้โปรไฟล์ ที่หน้าจะตาจะคล้ายๆกับเฟสบุ๊คในการแชร์เรื่องราวการทำงาน สมัครงาน การเตรียมตัวหรือเป็นการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้นอกจากนี้ ทางบริษัทยังได้วิเคราะห์ว่า ใน 1 ปี จะมีเด็กจบใหม่อยู่ประมาณ 4 แสนคน ซึ่งระบบ The Job จะเข้ามาช่วยลดอัตราการว่างงานได้ถึง 20%
“วิยะดา” ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ตนได้ทำงานด้านการ recruit คนมามากว่า 20 ปี จึงทำให้ได้เห็นปัญหาของคนสมัครงาน และการจ้างงาน จึงเข้าถึงคนที่ประสบปัญหาและเข้าไปแก้ไขอุปสรรคได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ข้อดีของการเข้ามาเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหญ่ก็คือ รู้ว่าผู้ใช้งานของเรามีความต้องการแบบไหน รู้ว่าเขาตามหาสิ่งไหนเป็นพิเศษจึงเป็นข้อได้เปรียบในการเจาะกลุ่มเป้าหมายและความต้องการได้ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการเปิดรับความคิดเห็น ไอเดีย หรือมุมมองจากเด็ก รุ่นหลังๆ เนื่องจากกลุ่มคนพวกนี้มีความคิดสร้างสรรค์ และก้าวทันเทคโนโลยีเป็นอย่างดี เราจึงต้องเปิดรับเด็กรุ่นใหม่เข้ามาช่วยทำให้ระบบจับคู่งานอัจฉริยะของ The Job มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการหลายคนอาจจะกลัวเรื่องของการทำเริ่มต้นทำธุรกิจเมื่อตอนที่อายุมากขึ้น แต่ข้อดีของการทำธุรกิจในวัยเก๋าจริงๆแล้วก็มีความน่าสนใจหลายประการทั้ง การมีองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ช่วยสนับสนุนและเตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เช่น หน่วยงานด้านส่งเสริมผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน มีความกล้าตัดสินใจและเผชิญกับปัญหา เนื่องด้วยเป็นวัยที่ผ่านการเรียนรู้และการตัดสินใจอะไรมามาก รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรทำให้ตัดสินใจทันทีโดยไม่ลังเล นอกจากนี้ ยังมีข้อได้เปรียบในการรู้จักคนที่กว้างขวางกว่า ทำให้ได้เปรียบในเรื่องของการทำธุรกิจ เช่น พันธมิตร หุ้นส่วน ที่ปรึกษา และอดีตเพื่อนร่วมงานในหลากหลายสาขา รวมทั้งการมีประสบการณ์ทั้งการดำเนินชีวิต การทำงาน และผ่านการรู้จักกลุ่มบุคคลในหลากหลายประเภท ที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
ในโอกาสครบรอบขวบปีที่ 10 ของการเป็นองค์การมหาชน NIA มุ่งเดินหน้าสู่การเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัท องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของประเทศ ผ่านกลไกและการประสานงานให้เกิดการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในฐานะผู้ประสานระบบ (System Integrator) เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการได้รับการสนับสนุนให้กับเยาวชน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้สนใจการพัฒนานวัตกรรมทุกระดับ นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ INNOVATION NATION หรือประเทศแห่งนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand