ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

กลยุทธ์เด็ดทำธุรกิจ “โฮมสเตย์” อย่างไรให้มีกำไรแบบยั่งยืน


ปัจจุบันจะเห็นว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่หลบหลีกความวุ่นวายจากสังคมเมือง วิ่งเข้าหาความเป็นธรรมชาติและไปใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ชาร์ตแบตให้กับตัวเอง โดยการท่องเที่ยวไปตามชนบทต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้สัมผัสความสวยงามจากธรรมชาติแล้ว ยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชนบท สัมผัสถึงกลิ่นอายของขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่หาดูชมได้ยากยิ่ง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นมนต์เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่สามารถเรียกนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อย่างมาก และแน่นอนว่าธุรกิจ “โฮมสเตย์” ได้รับความนิยมสูงมากในขณะนี้ เพราะนอกจากจะดึงดูดนักท่องเที่ยวคนไทยแล้ว ยังเรียกความสนใจกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจ “โฮมสเตย์” ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกรายไป เพราะหากไม่ศึกษารายละเอียดในชุมชนอย่างถ่องแท้ หรือขาดการสร้างเอกลักษณ์หรือจุดเด่นให้กับธุรกิจของตนเอง ก็ยากยิ่งที่ธุรกิจ “โฮมสเตย์” ของคุณประสบความสำเร็จได้ ชี้ช่องรวย มีเคล็ดลับเล็กๆ มาฝากเพื่อจะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ธุรกิจของคุณมีลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่องกันค่ะ

1.ศึกษาความโดดเด่นของชุมชน เพื่อนำไปสร้างเอกลักษณ์ความต่างของโฮมสเตย์
ต้องอย่าลืมว่า ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ หากมีการนำเอกลักษณ์ของชุมชนมาสร้างเป็นจุดขาย หรือการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมวิถีชีวิต เช่น บริเวณรัศมี 10 กิโลเมตรจากโฮมสเตย์มีน้ำตกเล็กๆ มีสวนผักเกษตรอินทรีย์ สวนผลไม้ หรือสวนเกษตรเชิงอนุรักษ์ ก็สามารถจัดกิจกรรมพานักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้นอกจากจะสร้างจุดแข็งของโฮมสเตย์ของคุณแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

2.หากิจกรรมที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวได้ปฏิบัติหรือลงมือทำ

โดยนำเอาเอกลักษณ์ในชุมชนมาปรับใช้ เช่น ในชุมชนมีสินค้าเด่น คือ การทำไข่เค็มดินสอพอง ก็อาจจะสร้างกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวลองหัดทำไข่เค็มดินสอพอง หรือหากชุมชนเป็นพื้นที่ที่ติดกับทะเลก็อาจมีกิจกรรมการจับปลา ล่องเรือชมวิถีธรรมชาติ หรือหากมีพื้นที่ติดกับภูเขาหรือพื้นนาก็อาจจัดกิจกรรมการทำนาปลูกข้าว การจับปูนา การหาสมุนไพรในป่าละเมาะ การทำปุ๋ยชนิดต่างๆ การสอนทำอาหารพื้นเมือง นวดแผนโบราณ/สปาสมุนไพร การเดินป่า การไปส่องสัตว์ ฯลฯ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจโฮมสเตย์ ควรเป็นกลุ่มบุคคลที่อาศัยในท้องถิ่นหรือในพื้นที่นั้น หรือหากไม่ใช่คนในพื้นที่ก็ต้องเข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นจุดเด่นของท้องถิ่นนั้น และได้รับความร่วมมือจากประชาชน ในพื้นที่เป็นอย่างดี ในการนำมาจัดเป็นกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ให้ชาวต่างประเทศได้ร่วมสัมผัสอย่างใกล้ชิด และเกิดความประทับใจและ / หรือได้รับความรู้ที่ประทับใจและแปลกใหม่นำไปเล่าสู่กันฟังเมื่อกลับประเทศ เป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศให้ชาวต่างประเทศได้รับทราบอีกทางหนึ่งด้วย

3.การจับมือร่วมกับคนในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง

เพื่อวางแผนการพัฒนาให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วม เป็นต้นว่า ช่วยกันดูแลทัศนียภาพรอบๆ ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง การสร้างตลาดชุมชนเพื่อเป็นที่กระจายสินค้าของชุมชน สามารถสร้างและกระจายรายได้ของคนในชุมชนและใกล้เคียงได้อีกด้วย

4.การทำประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันนิยมประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ว่าจะเป็นทางเพจเฟสบุ๊ค ยูทูบ หรือตามสื่อต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับโฮมเสตย์ของคุณ ดังนั้น ลองคิดและลองทำการรีวิวสถานที่ที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูด ที่สำคัญอย่างลืมให้เบอร์ติดต่อหรือช่องทางให้ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้อย่างสะดวกและรวดเร็วด้วย หรือจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดให้กับโฮมสเตย์ของคุณก็ได้

เงินลงทุน

จำนวนเงินลงทุน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานที่และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ (เช่น มีบ้านพัก สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ อยู่แล้วหรือไม่) และต้องมีเงินทุนจำนวนหนึ่งเพื่อการหมุนเวียนใช้จ่ายประจำวันประมาณ 960 – 1,740 บาท / ลูกค้า 1 คน

รายได้

โดยเฉลี่ยจะมีกำไรประมาณ 640 – 1,160 บาท / ลูกค้า 1 คน

ทีมทำงาน

ต้องมีผู้ร่วมงานไม่ต่ำกว่า 5 คน เพราะต้องบริการลูกค้าในเรื่องต่าง ๆ

วิธีการดำเนินงาน

1.ปรับและพัฒนาสภาพแวดล้อมและที่พัก (ทั้งนี้เงินลงทุนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานที่) ควรเป็นบ้านพักที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและมีบริเวณกว้างขวาง ควรปรับแต่งภูมิทัศน์ในบริเวณใกล้เคียงให้สวยงามเป็นธรรมชาติขั้นตอนต่อไปคือการลงทุนตกแต่งห้อง/บ้านพักให้เหมาะสม เช่น จัดสร้างห้องน้ำให้อยู่ในตัวบ้าน (ถ้ามีสภาพพร้อมใช้ดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องสิ้นเปลืองทำใหม่เพียงทำความสะอาดให้น่าใช้เท่านั้น)

2.เครื่องนอนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงการให้บริการในด้านอื่นๆ ควรปรับให้เหมาะสมกับท้องถิ่น โดยไม่ควรปรับให้มีความสะดวกสบายมากจนเกินไปเพื่อคงวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่มีเสน่ห์ของท้องถิ่นไว้ ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้นักท่องเที่ยวหรือลูกทัวร์ ส่วนใหญ่ลำบากจนทนไม่ไหว

3.ประชุมลูกทีมเพื่อจัดเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มธุรกิจและจัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวของธุรกิจโฮมสเตย์

ตัวอย่างโปรแกรม

3.1 แพ็กเกจ 2 วัน 1 คืน ราคา 1,600 บาท/คน (รวมค่าที่พัก 1 คืน อาหารบุฟเฟ่ต์ 3 มื้อ โปรแกรมการท่องเที่ยวให้เลือกชมปะการังหรือออกเรือไปไดและตกปลาหมึก)

*ก่อให้รายได้ก่อนหักต้นทุน/ครั้ง 120,000 บาท คำนวณจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่สามารถรองรับได้ (ประมาณ 75 คน) และมีนักท่องเที่ยวเต็ม

3.2 แพ็กเกจ 3 วัน 2 คืน ราคา 2,900 บาท / คน (รวมค่าที่พัก 2 คืน อาหารบุฟเฟ่ต์ 6 มื้อ โปรแกรมท่องเที่ยว 2 อย่างคือ ดำน้ำชมปะการังและไดหรือตกปลาหมึก) 

* รายได้ ถ้านักท่องเที่ยวเต็มจะมีรายได้ 217,500 บาท ทั้ง 2 แพ็คเกจจะมีบริการรถรับ – ส่งถึงท่าเรือเฟอร์รี่

3.3 กรณีต้องการที่พักอย่างเดียว ราคาค่าที่พักประมาณ 300 บาท / คืน / คน (พร้อมอาหารเช้า)

4.จัดเตรียมพาหนะในการรับ – ส่งนักท่องเที่ยวหรือลูกค้า อุปกรณ์ในการรักษาความปลอดภัย เช่น เสื้อชูชีพ อุปกรณ์ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงบริการรักษาความปลอดภัยในการเดินทาง

5.ไกด์หรือผู้นำทางพาเที่ยว สามารถอธิบายและตอบข้อซักถามถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ที่จะไป รู้จักเส้นทางในการเดินทางเป็นอย่างดี อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเดินทางฯลฯ

การคำนวณรายได้

คิดเฉลี่ยใน 1 เดือน (4 สัปดาห์) ถ้าสามารถรับทัวร์ได้เต็มสัปดาห์ละ 1 ทริป (10 คน) ทุกสัปดาห์ (4 ทริปต่อเดือน) จะมีรายได้ประมาณ 1 แสนบาท/เดือน เมื่อหักค่าใช้จ่ายประมาณ 60% (60,000 บาท) จะได้กำไรประมาณ 40% (40,000 บาท) หรือเฉลี่ยกำไรประมาณ 640 – 1,160บาท / ลูกค้าทัวร์ 1 คน

ข้อเสนอแนะ

การทำธุรกิจโฮมสเตย์ไม่ใช่เรื่องง่ายขึ้นอยู่กับความพร้อมในหลาย ๆ ด้านของท้องถิ่น แม้ในจังหวัดหลายจังหวัดและในพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวหลายแห่งก็อาจไม่สามารถดำเนินธุรกิจโฮมสเตย์ได้ ทั้งนี้ปัญหา/อุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่ การขาดเงินลงทุน ประสบการณ์ ความเข้าใจและการเรียนรู้จิตใจของนักท่องเที่ยวและของบุคลากรในทีม ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือเอกชน ในท้องถิ่น (เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธกส.) การประชาสัมพันธ์ พื้นที่ ภูมิอากาศความปลอดภัย ฯลฯ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิจารณาวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านนี้ให้แน่ใจก่อนที่จะลงทุนในธุรกิจด้านนี้

กลุ่มเป้าหมาย

นักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศ และชาวไทย (มาพักเป็นครอบครัวและแบบพักเดี่ยว)
การทำธุรกิจโฮมสเตย์นั้น มองจากภายในอกแล้วอาจจะดูว่าทำง่าย แต่ถ้าลงมือทำจริงๆ แล้วจะพบว่ามีความยากเพราะมีรายละเอียดที่จะต้องปรับปรุงมาก ดังนั้น สิ่งที่นักธุรกิจทุกคนต้องมี คือ การมีใจรักในธุรกิจบริการ ต้องสามารถรับแรงกดดันจากลูกค้า ที่สำคัญต้องรู้จักอดทนรอ เพราะความสำเร็จในธุรกิจโฮมเตย์นั้นไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นแค่วันสองวัน แต่ต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะสร้างการรับรู้ ชี้ช่องรวย จึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน นำเอาอุปสรรคมาเป็นความรู้และพัฒนาปรับปรุงแก้ไข เชื่อว่าจะสามารถประสบความสำเร็จแน่นอนค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : www.lib-krabi.tripod.com