ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

จริงหรือ “ผลไม้แช่แข็ง” มีคุณค่าโภชนาการมากกว่า “ผลไม้สด” สู่แนวคิดการพัฒนาส่งออกของผู้ประกอบการไทย


หากเอ่ยถึงความได้เปรียบของประเทศไทย ที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำ ในนำมีปลา ในนามีข้าว ลักษณะภูมิประเทศต่างเอื้อต่อการเพาะปลูกพืชผลทางเกษตร เพราะแต่ละภูมิภาคมีศักยภาพในการทำการเกษตรที่หลากหลาย โดยเฉพาะผลไม้ไทยได้กลายเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ และมียอดการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ หลายทวีป

ยกตัวอย่างการส่งผลไม้ไปยังประเทศจีน โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงยอดการส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน โดยระบุว่าเติบโตต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 152.7 ซึ่ง ทุเรียนสด ขึ้นแท่นผลไม้ส่งออกไปจีนมากสุด ตามด้วยมังคุดสด ลำไยสด และทุเรียนแช่เย็นแช่แข็ง และยังแนะนำให้เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยเน้นรักษาคุณภาพมาตรฐานการเพาะปลูก และการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล

ล่าสุด ไทยเราเจอปัญหาเกี่ยวกับการส่งออกผลไม้ โดยพบว่ามียอดการตีกลับของผลไม้จำนวนมาก เนื่องจากระยะเวลาการเดินทางจากต้นสายไปยังปลายสายหรือประเทศคู่ค้าต้องใช้เวลานาน ทำให้ผลไม้สดที่ส่งออกเกิดการเน่าเสีย หรือเสียคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคของการส่งออกผลไม้ไทยอีกประการหนึ่ง ดังนั้น หนทางแก้ปัญหาที่พอจะเป็นทางแก้ของผู้ส่งออกผลไม้ไทยก็คือทำเป็นผลไม้แช่แข็ง(Frozen fruit) เพื่อรักษาความสดของผลไม้ให้อยู่นานจนสามารถส่งไปยังประเทศปลายทางได้ แม้จะรักษาความสดของผลไม้ได้ แต่ในส่วนของคุณค่าทางโภชนาการล่ะ ผลไม้ที่นำไปแช่แข็งจะรักคงคุณค่าอยู่หรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักข่าว CNN ได้รายงานผลการศึกษาคุณภาพของผักและผลไม้ด้วยการนำไปแช่แข็งและยังคงมีวิตามินและมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าผักผลไม้สดด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ CNN ได้อ้างถึงผลการศึกษาของ Ali Bouzari นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร ระบุว่า การแช่แข็งอาหารนั้นดูจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะรักษาวิตามิน รวมทั้งสารเคมีต่างๆ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารและเป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งผักผลไม้เหล่านี้มีอยู่

นักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืชยังให้คำอธิบายอีกด้วยว่า ผักผลไม้แช่แข็งจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าถ้าหากต้องการเก็บอาหารไว้ในระยะยาว หรือเมื่อพ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่มีผักผลไม้ต่างๆ ให้เลือกไปแล้ว ไม่ใช่การเก็บเอาไว้ช่วงสั้นๆ เพียงแค่สองสามวันเท่านั้น เพราะการแช่แข็งด้วยวิธีใช้ไนโตรเจนในทางอุตสาหกรรมจะช่วยรักษาสารอาหารต่างๆ ในผลไม้สด ที่มักจะเสื่อมสภาพลงตามธรรมชาติจากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน

เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งของการที่ผักผลไม้ที่ถูกแช่แข็งยังคงมีคุณค่าทางอาหารเหนือกว่าผลไม้สดก็คือ โดยทั่วไปแล้วสินค้าที่แช่แข็งนั้นมักจะถูกเก็บเกี่ยวจากไร่หรือสวนในช่วงเวลาที่มีความสุกและความพร้อมเต็มที่ หรือเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ peak ซึ่งวิตามินหรือสารอาหารในผักผลไม้เหล่านี้จะขึ้นถึงระดับสูงสุด เมื่อเทียบกับผักผลไม้สดที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวจากไร่สวนก่อนเวลาและป้อนสู่ท้องตลาด โดยจะต้องผ่านกระบวนการลำเลียงขนส่งมายังซุปเปอร์มาร์เก็ตก่อนที่จะให้เราเลือกซื้อและรับประทาน

ผักผลไม้เหล่านี้จะต้องถูกเก็บเกี่ยวก่อนหน้าช่วงเวลา peak หลายสัปดาห์ เพราะจะต้องเผื่อเวลาสำหรับการลำเลียงขนส่งเดินทาง ดังนั้นความพร้อมสูงสุดของคุณค่าทางอาหารและวิตามินจึงเทียบไม่ได้เท่ากับผลไม้สดที่ถูกเก็บเพื่อแช่แข็ง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะมีข้อยกเว้นอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคุณค่าทางอาหารและความอุดมด้วยวิตามินที่ผลไม้แช่แข็งอาจจะด้อยกว่าผลไม้สด คือในกรณีที่ผักไม้สดนั้นสดใหม่จริงมาจากไร่สวนที่เรียกว่า Farmers’ Market หรือตรงจากไร่สวนที่ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง

เพราะผักผลไม้ประเภทนี้มักจะมีการขายและบริโภคภายในสองถึงสามวันหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว ดังนั้นในกรณีนี้ ผักสดในลักษณะดังกล่าวจะยังคงมีความสดจริง และมีคุณค่าทางโภชนาการและวิตามินมากกว่าผลไม้แช่แข็ง

อย่างไรก็ตาม การคิดค้นหรือนำหลักวิธีที่จะยืดอายุผักและผลไม้เพื่อการส่งออกก็ถือว่ามีส่วนสำคัญ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีหลายหน่วยงานเริ่มศึกษาและค้นคว้าวิจัย ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า ส่วนใหญ่จะนำเอาผลผลิตนั้นมาแปรรูป แล้วทำการ freeze เพื่อคงคุณค่าทั้งรูปร่างและรสชาติ ซึ่งถ้ามีรายละเอียดที่น่าสนใจเพิ่มเติม ชี้ช่องรวย จะนำมาเสนอให้ทราบเป็นระยะค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.voathai.com