ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ท่องเที่ยว อิ่มบุญ วันหยุดยาว ณ เมืองแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา (เส้นทางที่ 2)


ตามขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตของคนไทย เมื่อถึงวันพระใหญ่หรือวันสำคัญทางศาสนา ผู้คนส่วนใหญ่มักนิยมเดินทางไปทำบุญเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตและครอบครัว และถือเป็นการท่องเที่ยวเนื่องในวันหยุดยาวอีกด้วย

สำหรับสถานที่ที่ ชี้ช่องรวย ได้นำเสนอไปแล้วนั้น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเส้นทางที่ 1 ซึ่งมีทั้งหมด 3 เส้นทาง โดยในวันนี้เราจะนำเสนอเส้นทางที่ 2 ที่รับรองได้เลยว่าสนุกและได้ความรู้ไม่แพ้เส้นทางที่ 1 อย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นที่ใดบ้างนั้น เราไปติดตามกันเลยค่ะ

จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือ “เมืองแปดริ้ว” ถูกเล่าขานกันมาหลายกระแส บ้างก็ว่าที่ได้ชื่อว่าเมืองแปดริ้ว ก็เพราะขนาดอันใหญ่โตของปลาช่อนที่ชุกชุมเมื่อนำมาแล่ จะต้องแล่ถึงแปดริ้ว หรือไม่ก็ว่ามาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระรถเมรี” เล่าว่ายักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพออกเป็นชิ้น ๆ รวมแปดริ้ว ทิ้งลอยไปตามลำน้ำท่าลาด สำหรับข้อสันนิษฐานการตั้งเมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวา ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) แต่สำหรับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปรากฏชัดเจนในสมัยพระนเรศวรมหาราชที่ใช้เมืองฉะเชิงเทราเป็นที่รวบรวมไพร่พล เมื่อ พ.ศ.2136 ด้วยชัยภูมิของเมืองที่เหมาะแก่การทำสงครามกองโจร ทำให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองหน้าด่านที่ใช้ป้องกันศัตรู ปกป้องเมืองหลวง จวบจนสู่การปกครองระบบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 และในปี พ.ศ.2476 มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค คำว่าเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ครองเมือง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นปีที่มีการตั้งภาคครั้งสุดท้ายของไทย ฉะเชิงเทราได้รับเลือกเป็นสถานที่ภาคมีเขตความรับผิดชอบ 8 จังหวัด ซึ่งนับเป็นบทบาทที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การปกครองของจังหวัดฉะเชิงเทรา (ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://sites.google.com/site/tipniraporn/home/prawati-khwam-pen-khxng-canghwad-chacheingthera)

สำหรับเส้นทางสายที่ 2 นี้ จะเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักช้อป นักชิมเป็นพิเศษ เพราะจะได้อิ่มอร่อยเพลิดเพลินไปกับหลายเส้นทาง กับตลาดน้ำและตลาดโบราณเมืองแปดริ้ว รวม 4 ตลาด โดยหากใช้เส้นทางถนนอ่อนนุช – ลาดกระบัง ก็แวะฝากท้องมื้อเช้ากันที่ “ตลาดเก่าคลองสวน 100 ปี” ต.เทพราช อ.บ้านโพธิ์ อิ่มเอมในบรรยากาศแบบโบราณ การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขระหว่างวัฒนธรรมไทย พุทธไทยจีน และอิสลาม

จากนั้นแวะสักการะ “กราบนมัสการหลวงพ่อพุทธโสธร” ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร หรือ วัดหงส์ (เดิม) ที่ผู้คนส่วนใหญ่เดินทางมาสักการะขอพรและบนบานให้สำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ

จากนั้นแวะสักการะ “พระพิฆเนศปางนอนเสวยสุข” องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ วัดสมานรัตนาราม ต.บางแก้ว แล้วอย่าลืมขอพรโดยกระซิบที่หูของหนูมุสิกะ ที่เป็นบริวารขององค์พระพิฆเนศ ขณะกระซิบขอพรต้องเอามือไปอุดหูอีกข้างด้วย เพื่อให้คำอธิษฐานก้องอยู่ในองค์เทวรูปหนู เชื่อกันว่าคำขอจะได้ไม่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา

จุดหมายต่อไปคือ “ตลาดน้ำบางคล้า” หน้าที่ว่าการอำเภอบางคล้า ชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง ช้อปสินค้าพื้นบ้านเป็นของฝาก และชิมอาหารรสชาติถูกปากพร้อมทั้งผลไม้สดๆ จากสวน

จากนั้นวกกลับเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทรา ตรงไปที่ “ตลาดบ้านใหม่ 100 ปี” ตลาดโบราณริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ชมวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม อิ่มอร่อยกับอาหารและขนมโบราณที่หาทานได้ยากในปัจจุบัน

จากนั้นแวะสักการะ “พระพิฆเนศปางนั่งประทานพร” องค์สูงที่สุดในเอเชีย และชมอุโบสถมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย ณ วัดโพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จากนั้นแวะสักการะพระพิฆเนศปางสัมฤทธิ์ สำเร็จ สมปรารถนา ณ เทวสถานอุทยานพระพิฆเนศ

และปิดท้ายทริปนี้กันที่ “ตลาดโบราณคลองนครเนื่องเขต” ในอดีตเป็นย่านการค้าที่สำคัญ ปัจจุบันถูกพลิกฟื้นขึ้นอีกครั้ง จะนั่งรับลมริมฝั่งคลอง หรือจะล่องเรือชมวิถีชีวิตผู้คนสองฝั่งคลองก็ได้

ทั้งหมดนี้เป็นทริปท่องเที่ยวเต็มอิ่มอีก 1 วัน กับเส้นทางที่ 2 สำหรับ เส้นทางที่ 3 จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ชี้ช่องรวย จะนำมาเสนอให้รับทราบกันอีกนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : องค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา