ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

กลยุทธ์การปรับราคาสินค้า เพื่อให้ลูกค้ายอมรับ


กลยุทธ์การปรับราคาสินค้าเพื่อให้ลูกค้ายอมรับ และส่งผลต่อความรู้สึกของลูกค้าให้น้อยที่สุด เป็นวิธีง่ายๆ ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ในหลายๆ ธุรกิจ

  1. อย่าเปลี่ยนราคาที่อยู่ซ้ายสุดของราคาสินค้า ตัวอย่างเช่น สินค้าราคาเดิมอยู่ที่ 155 บาท ผู้ประกอบการควรปรับราคาเพิ่มเป็น 159 บาท จะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีกว่า การปรับเป็น 160 บาท
  2. แยกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการเสริม เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาโดยตรง เช่น การขึ้นราคาสินค้าจาก 49 บาท เป็น 55 บาท จะส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ซื้อมากกว่าคงราคาเดิมที่ 49 บาทและเก็บค่าบริการจัดส่งเพิ่มอีก 6 บาท
  3. สร้างตัวเลือกสินค้าขึ้นมาเพิ่ม เพื่อดึงความสนใจของผู้ซื้อ เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่นิยมเลือกซื้อสินค้าในระดับราคาปานกลาง (ไม่แพงที่สุด และไม่ถูกที่สุด) ที่มีอยู่ในตลาด ดังนั้น การยกระดับราคาสินค้าที่แพงที่สุดขึ้น จะทำให้สามารถปรับราคาสินค้าระดับกลางขึ้นได้อีก
  4. คงราคาสินค้า แต่ลดปริมาณต่อหน่วยที่จำหน่าย เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยของสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการไม่ควรลดมากจนเกินไป โดยเฉพาะร้านอาหาร การลดปริมาณเครื่องปรุงลง อาจส่งผลต่อรสชาติอาหารได้
  5. เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า หรือภาพลักษณ์สินค้าพร้อมกับปรับราคาขึ้น หรือการสร้างแบรนด์ให้มีความเป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น แล้วตั้งราคาสินค้าใหม่ที่สูงขึ้น หรืออาจใช้วิธีเพิ่มคุณสมบัติให้กับสินค้าก่อนปรับขึ้นราคา นอกจากนี้ยังทำได้โดยการการดึงคุณสมบัติที่มีอยู่แล้วของสินค้า ให้มีความโดดเด่นขึ้น และสอดคล้องกับกระแสความนิยมก่อนปรับราคา
  6. โปรโมชั่นเสริม เช่น การตั้งราคาแบบขายพ่วง โดยตั้งราคาขายพ่วงสินค้าในช่วงโปรโมชั่น ในระดับที่ถูกกว่าขายแยกสินค้า และเมื่อจบโปรโมชั่น จึงกลับมาขายแยกเหมือนเดิม โดยตั้งราคาขายแยกที่สูงกว่าราคาเดิม

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรรักษามาตรฐานคุณภาพ พัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ถึงแม้กระแสเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจนส่งผลกระทบ แต่ธุรกิจก็สามารถรักษาฐานของลูกค้าไว้ได้ อย่าลืมว่าการที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะดูจากคุณภาพสินค้า และการบริการที่ดี

ที่มา : www.exim.go.th