ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เปิดใจคนเก่งวัยเก๋า “วิเชียร ฤกษ์ไพศาล” กับประสบการณ์บุกเบิกค่ายเพลง “Genie Records” ติดลมบนของประเทศ


หากเอ่ยคำว่า “วัยเก๋า” ที่กำลังเป็นที่ฮอตฮิตพูดถึงกันในยุคสังคมปัจจุบันที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือว่ามีประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมายาวนาน รวมทั้งเรื่องทัศนคติและความสามารถในการทำงานก็มีมากล้นอีกด้วย ผู้สูงอายุบางคนประสบความสำเร็จและถือว่าเป็นอีกบุคคลที่มีศักยภาพสามารถต่อยอดความสำเร็จผ่านการบอกเล่าประสบการณ์และแนวทางการทำธุรกิจให้กับคนรุ่นหลังได้นำกลับมาประยุกต์ใช้ เรียกว่ากลุ่มผู้สูงอายุเป็นที่ปรึกษาชั้นดีให้เราได้อีกเปราะหนึ่ง

เช่นเดียวกับ วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงและเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งค่ายเพลง “จีนี่ เรคคอร์ด” จนประสบความสำเร็จ สามารถปั้นนักร้องหน้าใหม่ให้แจ้งเกิดในวงการเพลงได้มากมาย อาทิ บอดี้สแลม, ป้าง นครินทร์ กิ่งศักดิ์, โปเตต้า, ปาล์มมี่ และอีกหลายคนหลายค่าย ปัจจุบันเขาอายุย่างเข้าวัยที่ 61 ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุที่เปี่ยมล้นไปด้วยประสบการณ์และเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังถือเป็น “บุคคลต้นแบบ” ในการดำเนินกิจการหรือธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้

หากจะกล่าวถึงความเป็นมาของ “วิเชียร ฤกษ์ไพศาล” คนนี้ เขาจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คลุกคลีอยู่กับวงการเพลงไทยมากว่า 3 ทศวรรษ เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของไทยนั่นคือ GMM Grammy ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 เป็นผู้บุกเบิกงานด้านมิวสิควีดีโอ ตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีสายงานด้านนี้เกิดขึ้นในประเทศ จน 17 ปีให้หลัง Chanel V Thailand ได้มอบรางวัลเกียรติยศในวงการมิวสิควีโอไทยให้กับเขา ในฐานะผู้กำกับมิวสิควีดีโอคนแรกๆ ที่มีผลงานการกำกับมากมาย อาทิ สมปองน้องสมชาย ของเรวัติ พุทธินันท์ ฟากฟ้าทะเลฝัน ของ ธงชัย แมคอินไตย เป็นต้น

นอกจากนี้ เขายังเป็นกรรมการตัดสินโครงการ Hot Wave Music Award เขียนหนังสือเกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาดเกี่ยวกับธุรกิจเพลงและการบริหารศิลปิน ชื่อ ร็อค-ฐะ-ศาสตร์ เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายแบ่งปันประสบการณ์เรื่องราวในวงการเพลงให้กับหลายๆ องค์กร หลายๆ สถาบัน 

และผลงานสำคัญที่สุดในชีวิตการทำงาน คือการได้เป็นผู้ก่อตั้งค่ายเพลง จีนี่ เรคคอร์ด ในปี 2541 โดยมี สุเมธแอนด์เดอะปั๋ง เป็นศิลปินอันดับแรก ในปีเดียวกันนั้นก็ประสบความสำเร็จอย่างมกมายจากอัลบั้ม ไท ธนาวุฒิ ที่มีเพลงฮิตอย่าง ประเทือง และ ใช่เลย อย่างไรก็ตาม ภารกิจหลักของเขายังคงเป็นเรื่องเพลง โดยเฉพาะช่วงเวลาหลายปีมานี้ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนถ่ายจากยุอนาล็อกสู่ยุคดิจิทัลที่ส่งผลกระทบโดยตรงการกับวงการเพลงไทย แต่จีนี่ เรคคอร์ดยังคงเดินหน้า มุ่งมั่นผลักดันศิลปินรุ่นใหม่ๆ สู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องโดยไม่ลดละ อาทิ บอดีสแลม บิ๊กแอส โปเตโต้ ป้าง นครินทร์ พาราด๊อก ค็อกเทล ทเวนตี้ไฟว์ อาวน์ เคลียร์ อินสติ๊ง กะลา พลพล และปาล์มมี่ เป็นต้น

“ปีนี้อายุผมเข้าสู่ปีที่ 61 วันนี้โลกใบเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นโลกใบใหม่ ซึ่งในชีวิตของผมอยู่กับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและพบว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนเราจะตกรุ่นมากๆ จุดเริ่มต้นของชีวิตการเป็นเจ้าของค่ายจีนี่ เรคคอร์ด ที่แตกไลน์มาจาก Grammy เมื่อปี 2540 ซึ่งช่วงนั้นเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง การเปิดค่ายเพลงในครั้งนั้นไม่ได้มีความพร้อมอะไรเลย คือ ไม่มีนักร้อง ไม่มีการระบบการจัดการ ไม่มีทีมงาน ทุกอย่างล้วนใหม่หมด เป็นการเปิดค่ายเพลงท่ามกลางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงมาก ผมเปิดค่ายเพลงโดยที่ยังไม่มีศิลปิน ไม่มีโปรดิวเซอร์และทีมงาน เพราะมีการแบ่งทีมงานไปแล้วก่อนหน้านั้น สิ่งที่ต้องทำในตอนนั้น คือ “หาทางในสิ่งที่ไม่มีทาง” สำหรับผมคำว่า “ ไม่มีทาง” ไม่เคยเกิดขึ้นกับผม แม้ว่าสิ่งที่เกิดมันจะเป็นโอกาส แต่โอกาสนั้นมีความท้าทายอย่างมากก็ตาม”

“วิเชียร “ บอกว่า เมื่อเกิดปัญหาและอุปสรรค เราจะต้องหาวิธีแก้ปัญหา ซึ่งนั่นคือ “จุดเปลี่ยน” โดยสิ่งที่จะต้องทำ คือ การเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหา ได้แก่ 

1.การคิดบวก เพราะคิดบวกทำให้เราคิดออก หนทางที่รกร้างว่างเปล่าที่คุณถากถางจนเป็นทาง ด้วยวิธีคิดนี้จึงไม่มีคำว่า” ไม่มีทาง” นั่นคือ “ไม่มีทางที่จะไม่มีทาง (No Way for No Way)” และนี่คือสิ่งที่ผมยึดมาตลอด ถ้าวันใดที่เราเจอสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากๆ คำๆ นี้ช่วยได้เยอะจริงๆ

2.เปลี่ยนตัวเอง นอกจากเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว สิ่งที่ต้องเปลี่ยนตามมาก็คือ “การเปลี่ยนตัวเอง” ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคอีกข้อหนึ่ง ยืนยันว่าข้อนี้สำคัญที่สุดของการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง เพราะโลกมันเปลี่ยนไปเยอะมาก คุณลองคุยกับคนรุ่นใหม่ดูบ้าง การที่ได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่จะทำให้เราได้เปลี่ยนแปลงบุคลิก ไม่ว่าจะเป็น การแต่งกาย การดำเนินชีวิต การปรับเปลี่ยน Mind Set เริ่มดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และสร้างความมั่นใจให้กับเราได้มากยิ่งขึ้น

3.เปลี่ยนให้ทันโลก ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังทำลายล้างทุกสิ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง โลกเปลี่ยนไปเยอะมาก ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินมาตลอดว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ตอนนี้ มันได้เปลี่ยนมาเป็น ปลาเล็กกินปลาใหญ่แล้ว เพราะปลาเล็กจะมีความคล่องตัว ปรับตัวเร็ว แต่ปลาใหญ่ ชะล่าใจ ย่ามใจ จะเห็นว่าปัจจุบันบริษัทใหญ่พากันล้มหายตายจากจำนวนมาก เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เห็นตัวอย่างได้จาก โนเกีย โกดักส์ ที่วันนี้ได้หายไปจากสารระบบธุรกิจแล้ว

สิ่งที่ “วิเชียร “ มักจะให้ความสำคัญและตอกย้ำเป็นพิเศษ คือ การเรียนรู้และทำความรู้จักกับโซเชียลมีเดีย การเรียนรู้จากการคบกันคนที่มีอายุน้อยกว่าเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและเรียนรู้โลกกว้างจากคนรุ่นใหม่ โดยมี 3 ภาค ได้แก่

1.โลกโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดกลุ่ม Community ใหม่ๆ

2.New Media โซเชียลมีเดียทำให้คนค้นพบช่องทางสื่อใหม่ๆ ตอนนั้นลองขายของผ่านเฟสบุ๊ก พร้อมทั้งสร้างกระแสเกิดการแชร์ต่อ โซเชียลมีเดียทำให้เกิด New Chanel Media

3.สามารถ Direct ไปถึงลูกค้าได้โดยตรง โดยการใช้โซเชียลมีเดีย

4.สื่อทุกวันนี้รูปแบบกลับตาลปัตร ดังนั้น จึงต้องทำให้เขาหา ใช้สื่อดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายเดินมาหา จุดสำคัญของการทำสื่อโซเชียลมีเดีย คือ การทำตัวเราให้มีเสน่ห์ ดึงดูดให้เขาเข้ามาให้ได้ การสร้างตัวเองให้มีแฟนคลับ มีผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของเรา และจะกลายเป็นผู้สนับสนุนเรา สุดท้ายเขาจะทำการประชาสัมพันธ์ให้กับเราโดยที่ไม่ต้องร้องขอเลย เพราะเขาชอบเขาจะแชร์และบอกต่อ

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทำโซเชียลมีเดียแบบไม่ต้องจำเยอะ ทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกคนเป็นแฟนคลับเรา ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ คือ 1.ดึงคนเข้ามาในแฟลตฟอร์มของเราให้ได้มากที่สุด ดึงเขาเข้ามาสู่โซเชียลมีเดียของเราให้เยอะที่สุด หลายครั้งอาจจะเริ่มด้วยการแจก การให้ฟรี เพื่อเปิดใจเขาก่อน 2.จากผลสำรวจพบว่า 93 % ของการตัดสินใจซื้อได้รับอิทธิพลมาจากโซเชียลมีเดีย ถ้าหากสามารถสร้างความสัมพันธ์ได้นั่นก็หมายความว่าคุณจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น ห้ามมองข้ามถ้ายังมีไฟอยู่”

ทั้งหมดคือแนวทางการบริหารงานของวัยเก๋าผู้นี้ ปัจจุบันเขากลายเป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจให้กับวัยเก๋าอีกหลายคน ซึ่งทุกครั้งที่เขาได้ถ่ายทอดประสบการณ์จะมีแง่คิดและทำให้ผู้ได้รับฟังเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ทุกครั้ง นั่นเพราะสิ่งที่เขาทำไม่ได้เกิดประโยชน์เพียงแค่ตัวเขาเองเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับส่วนรวม และนั่นคือ ความสุข ของผู้ชายคนนี้ที่ยังมีไฟอยู่เสมอแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปกี่ยุคแล้วก็ตาม