ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เจาะใจความสำเร็จ “ธงรบ ด่านอำไพ” ปีแรกทำกำไร 400 ล้าน พร้อมปูทางนำ “ไอแอม” ก้าวต่อด้วยแผนระยะยาว 10 ปี


หากเอ่ยถึง ไอแอม หรือ IAM หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นชื่อหรือรู้จักมากนัก แต่ถ้าหากเอ่ยชื่อ บสอ. หรือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด เชื่อได้เลยว่าจะต้องรู้จักแน่นอน ซึ่งหากจะเอ่ยถึงบทบาทขององค์กรนี้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งที่มีหน้าที่ซื้อทรัพย์ NPL จากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ Ibank มาบริหารเพื่อนำมาซึ่งรายได้และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs ถือว่าหน่วยงานนี้มีความสำคัญไม่น้อย

วันนี้ ชี้ช่องรวย ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้บริหารคนเก่งผู้มีประสบการณ์และความสามารถจนทำให้ไอแอมสามารถฝ่าวิกฤตมาได้ ซึ่งก็คือ “ธงรบ ด่านอำไพ” ในฐานะผู้จัดการบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารและโชว์ผลงานครึ่งปีแรกด้วยการกวาดกำไรแล้วกว่า 400 ล้านบาท พร้อมทั้งได้วางแผนระยะยาวมุ่งสู่การเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เติบโตอย่างยั่งยืนยึดหลักธรรมาภิบาล พร้อมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สังคมและประเทศชาติ ก่อนที่ท่านจะเกษียณอายุการทำงาน และยังเป็นที่ปรึกษาและผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จต่อไป

ภาพรวมการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา (พ.ค. 2561 – มิ.ย. 2562) เป็นอย่างไร

ภาพรวมตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผมเข้ามาทำหน้าที่บริหารซึ่งจากเดิมบริษัทฯ ประสบปัญหาขาดทุนมีหนี้สินรวมแล้วกว่า 4,500 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเราสามารถชำระหนี้ได้แล้วร่วม 2,000 ล้านบาท ซึ่งบทบาทหน้าที่ของไอแอม คือ การซื้อทรัพย์ที่เป็น NPL ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมาบริหาร และช่วยเหลือลูกค้าโดยการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยุติธรรม ปัจจุบันลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่ใช่มุสลิม ตั้งแต่รายย่อย จำนวน 2,800 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ไปจนถึงรายกลางและรายใหญ่ จำนวน 170 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของเหล่าพนักงานไอแอมทุกคน ที่ทุ่มเทเสียสละให้กับการงาน สร้างสรรค์องค์ความรู้ และสร้างสรรค์องค์กรที่มีคุณภาพ มีผลงานน่าประทับใจ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานทันที ตั้งแต่ปีแรก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2561 ถึงเดือนมิถุนายน 2562 ตลอดระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน เราเรียกเก็บหนี้ได้ทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท ทำกำไรทั้งจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิได้มากกว่า 1,200 ล้านบาท และดำรงรักษาคุณภาพผลประกอบการก้าวสู่ปีที่สองต่อไป โดยมีกำไรต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน องค์กรถูกออกแบบให้เป็นองค์กรที่มั่นคง ยั่งยืน ด้วยคุณภาพที่ประกอบด้วยองค์ความรู้ และประสบการณ์ของพนักงาน และวิสัยทัศน์ของบุคลากรที่กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็นอุดมการณ์ในการทำงาน มุ่งสู่องค์กรต้นแบบของสังคมไทย”

ผลงานครึ่งปีแรก 2562 เป็นอย่างไร

ในครึ่งปีแรกของปี 2562 (ม.ค. – มิ.ย. 2562) บริษัทฯสามารถเรียกเก็บหนี้ได้มากกว่า 1,300 ล้านบาท มีกำไรจากผลการดำเนินงาน 591 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิหลังหักภาษี 490 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการก่อนการตรวจสอบ) โดยบริษัทฯ มีแนวทางในการบริหารจัดการลูกหนี้ มุ่งเน้นการเจรจาลูกหนี้รายใหญ่ ให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้เพื่อหาข้อยุติร่วมกันในการพลิกฟื้นธุรกิจ ในลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้และเรียกเก็บหนี้เพื่อปิดบัญชีลูกหนี้ด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินหลักประกันหรือการหาผู้ร่วมลงทุนใหม่ ควบคู่ไปกับการดำเนินคดี บังคับคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว สำหรับลูกหนี้รายย่อย ได้ใช้แนวทางในการบริหารประสิทธิภาพการติดตามรับชำระหนี้จากบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญภายนอก (Outsource) กับลูกหนี้รายย่อยบางกลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งรัดการติดตามทวงถามให้ได้ผลรวดเร็ว

ทิศทางครึ่งปีหลัง (ก.ค. – ธ.ค. 2562) และแผนระยะยาว 10 ปี

สำหรับทิศทางใน 6 เดือนต่อจากนี้ (ก.ค. – ธ.ค. 2562) จะเป็นภารกิจที่ท้าทายในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ไอแอมได้ตั้งเป้าหมายที่จะต้องเรียกเก็บหนี้ให้ได้ผล หรือใกล้เคียงตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ไม่น้อยกว่าปีละ 2,500 ล้านบาท เพื่อรวบรวมรายได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงค์) ซึ่งจะครบกำหนดเริ่มต้นชำระในเดือนมิถุนายนของปี 2563 เป็นต้นไป และชำระต่อเนื่องทุกปีจนถึงปี 2567 โดยก่อนหน้านี้เราสามารถชำระตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับไอแบงค์ได้ก่อนกำหนด จำนวน 2,000 ล้านบาท (จากจำนวนเต็ม คือ 4,500 ล้านบาท) ซึ่งชำระไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

“นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 10 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุภารกิจและสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตในการนำองค์กรก้าวสู่องค์กรแห่ง Digitalization ที่มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์ความรู้ให้มีความพร้อมควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานอย่างมีธรรมาภิบาล โดยในแผนดังกล่าว บริษัทฯ มีแนวทางในการขออนุมัติกระทรวงการคลังเพื่อขอรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินภาครัฐทั้งหมด (SFI) มาบริหารจัดการ โดยไม่จำกัดเฉพาะธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากไอแอมเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์เพียงหนึ่งเดียวที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% และมีระบบบริหารสินทรัพย์ที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีศักยภาพ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าบริษัทฯ สามารถทำกำไรในปีแรกและปีที่สองติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง”

ในส่วนของโครงการ CSR & KM ภารกิจเพื่อสังคมเป็นอย่างไร

ในระยะเวลาที่ผ่านมาไอแอมได้มีส่วนในการช่วยพลิกฟื้นธุรกิจให้ลูกหนี้กลับคืนสู่อิสรภาพและมีความสามารถทางการเงินอีกครั้ง แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะมีสภาพคล่องน้อยก็ตาม โดยได้ให้ข้อแนะนำที่เป็นความรู้และให้กำลังใจ ให้ลูกหนี้เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตและปรับตัวแก้ไขด้วยความเป็นจริงอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของไอแอม (CG & CSR) ในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับลูกหนี้ในการประกอบธุรกิจอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งสอดรับตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติของรัฐบาล ภายใต้โครงการ Business Turnaround ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกหนี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งจะสะท้อนไปยังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกด้วย

“ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้ให้ความสำคัญกับการแสดงออกต่อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR โดยมีกำหนดจัดโครงการ การแสดงออกความรับผิดชอบต่อสังคม ในรูปแบบ CSR in Process คือการส่งเสริมสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการลงนามร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการเข้าไปช่วยเหลือ ฟื้นฟู ให้ความรู้ และสร้างชุมชนของมุสลิม และชุมชนอื่นๆ ให้เป็นชุมชนตัวอย่างที่เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันด้านการเป็นหนี้ มีองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจ และสร้างเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ มอบทุนการศึกษา ตามแนวทางการช่วยเหลือโดยการแบ่งปัน ภายในแนวคิด “ซะกาต” หรือแบ่งปันตามคำสอนของศาสนาอิสลาม เนื่องจาก ไอแอมเป็นองค์กรที่รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทรัพย์สินดังกล่าวส่วนหนึ่งควรจะกลับคืนสู่สังคมมุสลิม แต่กระนั้นเราก็ไม่มองข้ามในการช่วยเหลือสังคม ชุมชน ศาสนาทุกศาสนา อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นในการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management : KM) โดยการใช้การจัดการความรู้ที่มีอยู่ในตัวพนักงานทุกระดับ ทำให้องค์กรมีกระบวนการเรียนรู้และบันทึกความรู้อย่างเป็นระบบ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานไปสู่ระดับมาตรฐานสากล มีการค้นหา สร้าง รวบรวม กลั่นกรอง จัดเก็บความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้บุคลากรที่ต้องการใช้ เข้าถึงความรู้นั้นได้ตลอดเวลา และพัฒนาความรู้นั้นๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง”

เกี่ยวกับแผนการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่สังคมและประเทศชาติเป็นอย่างไร

ไอแอมมีโครงการในการศึกษา ประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการดำเนินงานบริษัทฯ รวมทั้งศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดต่างๆ อันจะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาหนี้เสียทั้งระบบของประเทศไทยตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1.เพื่อประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

2.เพื่อศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัด ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ และเสนอแนวทางเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

3.เพื่อศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัด ในการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งระบบของประเทศและเสนอแนวทางเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งระบบของประเทศ

ฝากผลงานเพื่อสานต่อ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 เป็นวันเกษียณอายุของผม รวมเวลาทำงานในการจัดตั้งบริษัทฯและวางรากฐานให้กับบริษัทฯ 1 ปี 3 เดือน 24 วัน งานที่ตั้งใจทำให้ดีที่สุดเพื่อประเทศชาติ ก็ถึงเวลาต้องส่งมอบ ให้รุ่นน้องรับผิดชอบสานงานต่อไป ผมมั่นใจว่าพนักงานทุกคนจะมั่นคงต่อหลักการ อุดมการณ์ และเป้าหมาย ของตนเองและองค์กรตลอดไป