ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เทสโก้ โลตัส ตั้งเป้าลด “อาหารขยะ” ตามนโยบายองค์กร ให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030


ตามคำประกาศนโยบายการดำเนินกิจการเพื่อสังคม 1 ใน 7 ข้อของเทสโก้ โลตัส คือ เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในประเทศไทย ที่วัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหาร (food waste data) อย่างโปร่งใส ตามปณิธานกลุ่มเทสโก้ ที่เชื่อมั่นว่าการวัดและเปิดเผยข้อมูล รวมถึงรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างได้ผลที่สุด ทั้งนี้ เป้าหมายของกลุ่มเทสโก้ ซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจในประเทศไทย คือการช่วยลดปริมาณขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อ 12.3 (Target 12.3)

โดยจากข้อมูลตลอดทั้งปีงบประมาณ 2561/62 (1 มีนาคม 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2562) พบว่าจากปริมาณอาหารที่เทสโก้ โลตัส จำหน่ายทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว 0.52% กลายเป็นอาหารส่วนเกินที่จำหน่ายไม่หมด ในปริมาณนั้น อาหารที่ยังสามารถรับประทานได้ประมาณ 160 ตัน หรือเท่ากับ 380,000 มื้ออาหาร ได้ถูกบริจาคให้กับองค์กรการกุศล ส่วนอาหารที่รับประทานไม่ได้แล้วบางส่วนถูกนำไปเลี้ยงสัตว์และทำปุ๋ยอินทรีย์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ในฐานะธุรกิจค้าปลีกที่จำหน่ายอาหารปริมาณมาก กลุ่มเทสโก้ ตระหนักดีถึงบทบาทและความรับผิดชอบของเราในการช่วยลดปริมาณขยะอาหาร (food waste) และได้ตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับ SDG ในการช่วยลดปริมาณขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 การที่จะสามารถลดปริมาณขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เราจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยใช้แนวทาง Target, Measure, Act ในการลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจของเราเอง Target คือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและประกาศให้เป็นสาธารณะ Measure คือการวัดผลอย่างต่อเนื่องและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และ Act คือการลงมือทำเพื่อลดปริมาณขยะอาหารให้ได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เทสโก้ ในสหราชอาณาจักร เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในโลกที่เปิดเผยข้อมูลขยะอาหารที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2016 เทสโก้ ในไอร์แลนด์ และยุโรปกลาง ก็ได้เริ่มวัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหารเช่นกัน และในปีนี้ จะเป็นปีแรกที่เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย และเทสโก้ มาเลเซีย ได้เริ่มวัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหาร”

“เทสโก้ โลตัส ได้ประกาศเจตนารมณ์ในปี พ.ศ. 2560 ในการเป็นผู้นำลดปริมาณขยะอาหารในประเทศไทย โดยได้บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังรับประทานได้ให้กับมูลนิธิและผู้ยากไร้ผ่าน ‘โครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งปัจจุบันไฮเปอร์มาร์เก็ต 40 สาขาของเทสโก้ โลตัส บริจาคอาหารที่ยังรับประทานได้ให้ผู้ยากไร้ ส่วนอาหารที่รับประทานไม่ได้แล้วบางส่วนถูกนำมาทำปุ๋ยและอาหารสัตว์

นอกจากนั้นแล้ว เทสโก้ โลตัส ยังมีนโยบายลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่แหล่งเพาะปลูก กระบวนการขนส่ง การจัดการอาหารในร้านค้าของเทสโก้ โลตัส ไปจนถึงในระดับผู้บริโภค การที่เราจะทราบถึงความคืบหน้าในการบรรลุตามเป้าหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวัดผล ดังนั้นเทสโก้ โลตัส จึงได้เริ่มกระบวนการวัดปริมาณอาหารที่จำหน่ายทั้งหมด (food sales) ปริมาณอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย (surplus food) และปริมาณขยะอาหาร (food waste) ตลอดทั้งปีงบประมาณโดยเทสโก้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแรกในทวีปเอเชียที่วัดและเปิดเผยข้อมูลนี้ และในประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูล food waste ในระดับประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลในปีงบประมาณ 2561/62 แสดงให้เห็นว่า เทสโก้ โลตัส จำหน่ายอาหารทั้งหมดกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งในปริมาณนี้ 0.52% หรือประมาณกว่า 10,000 ตันจำหน่ายไม่หมด ในจำนวนนี้อาหารที่ยังรับประทานได้ปริมาณ 160 ตัน หรือเทียบเท่า 380,000 มื้อ บริจาคให้ผู้ยากไร้ ในขณะที่อาหารที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้วบางส่วนถูกนำไปทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตาม ยังมีอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้ที่ถูกทิ้งเป็นขยะอาหาร เป้าหมายในระยะสั้นของเรา คือการขยายโครงการกินได้ไม่ทิ้งกันให้ครอบคลุมไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 160 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะอาหารได้มากขึ้น อีกทั้งจะนำอาหารที่รับประทานไม่ได้แล้วไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ และจะทำการเปิดเผยข้อมูลของปีต่อๆ ไปเพื่อให้สังคมรับทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของเรา

“เทสโก้ โลตัส ในฐานะร้านค้าปลีก เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อาหารเท่านั้น ซึ่งประกอบไปด้วยเกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ ตลาดสด ร้านอาหาร โรงแรม ไปจนถึงในระดับครัวเรือน เราอยากเชิญชวนให้ภาคส่วนอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องในการผลิต จำหน่าย และบริโภคอาหาร หันมาให้ความสำคัญกับการลดขยะอาหาร เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีผลกระทบในระดับโลกและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เรายินดีในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการวัดและจัดเก็บข้อมูลให้กับองค์กรอื่นๆ เพื่อที่จะได้ร่วมกันเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” นางสาวสลิลลา กล่าวสรุป