ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

แนะนำปลูกต้น “ภาชนะธรรมชาติ” ติดบ้านไว้ หากใส่ใจสิ่งแวดล้อม


ณ เวลานี้ไม่ว่าจะหันหน้าหรือเดินทางไปสถานที่ไหนๆ เรามักจะพบเห็นผู้คนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และรักธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ตามห้างร้าน ตลาด แหล่งชุมชน หรือแม้แต่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็หันมาใส่ใจกับเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดีที่จะทำให้ลดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายยากมากขึ้น หันมาใช้วัสดุจากธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งการนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้นั้นจะช่วยส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ ที่สำคัญยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายให้เราอีกด้วย เพราะไม่ต้องไปหาซื้อจากที่ไหน หากปลูกติดบ้านไว้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก

ชี้ช่องรวย วันนี้จึงอยากจะมาแนะนำต้นไม้ที่ผู้คนนิยมนำส่วนทั้งหมดของต้นมาใช้เป็นภาชนะอาหารหรือเครื่องดื่ม เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า ถือเป็นเอกลักษณ์ของร้านเรียกลูกค้าเข้าร้านได้แบบสบายๆ หรือถ้าหากจะปลูกขายก็มีรายได้ถึงหลักหมื่นกันเลยทีเดียว เราไม่ดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

1.เล็บครุฑลังกา

ต้นเล็บครุฑลังกา เป็นไม้ประดับต้นที่นิยมปลูกทั้งในกระถางและแปลงจัดสวน เนื่องจากมีลำต้นและทรงพุ่มไม่สูง เพียง 3 เมตร ใบมีลักษณะแปลก มีลวดลายสวยงาม ในบางตำราบอกว่า ต้นเล็บครุฑลังกา เป็นไม้มงคลที่ถือตามความเชื่อว่า จะช่วยให้รอดพ้นจากภยันตราย

นอกจากจะเป็นไม้ประดับแล้ว ส่วนใบของต้นเล็บครุฑลังกาก็ยังสามารถนำมาเป็นภาชนะใส่อาหารทดแทนการใช้จานเซรามิก หรือกล่องโฟมได้ดีเยี่ยม และยังสามารถนำไปทำอาหาร อย่าง ห่อหมก แทนการใช้ใบยอได้ด้วย เนื่องจากใบมีกลิ่นหอม ให้รสเผ็ดร้อน นำมาต้มดื่มแก้อาการปวดหัว หรือปวดเมื่อยอื่นๆ ตามร่างกายได้อีกด้วย
สำหรับการเพาะพันธุ์ต้นเล็บครุฑลังกานั้น เริ่มต้นจากการเตรียมดินปักชำ สามารถใช้ดินผสมที่มีวางจำหน่ายทั่วไปได้ จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม ใช้ไม้หรือเหล็กแทงนำก่อนจะทำให้ปักง่ายและกิ่งไม่ช้ำ กดดินให้แน่นพอประมาณเพื่อไม่ให้กิ่งโยกคลอน จากนั้นวางถุงปักชำไว้ในร่มรำไร รดน้ำให้ชุ่ม อย่าขยับถุงบ่อยๆ พยายามรดน้ำอย่าให้ดินแห้ง ประมาณ 2 สัปดาห์จะเริ่มมียอดแทงออกมา หากอยากให้โตเร็วสามารถใส่ปุ๋ยสูตรเสมอได้
ข้อควรระวัง ถ้าปลูกเพื่อนำใบไปเป็นภาชนะใส่อาหาร ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะขึ้นอยู่กับแสง น้ำ และความชื้น ต้นไม้ชนิดนี้ชอบดินร่วนปนทราย ถ้าปลูกในป่าทึบ ไม่ค่อยโดนแดดใบจะแบไม่เป็นรูปถ้วย แต่ถ้าแดดจัดใบจะเล็กและเหลือง ฉะนั้น ควรปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ โดนแดดรำไร จะได้ใบสีเขียวสดมันเป็นรูปถ้วย

สำหรับใบที่นำมาเป็นภาชนะ ส่วนใหญ่มีสามขนาด ถ้วยเล็กถึงกลางมีขนาดประมาณ 5 นิ้ว ส่วนถ้วยใหญ่มีขนาด 8-10 นิ้ว แต่จะให้ได้ถ้วยใหญ่ต้องเป็นต้นที่มีอายุ 7-8 ปี หากจะเก็บใบขายต้องปลูกหลายๆ ต้น เพราะในหนึ่งต้นไม่สามารถเก็บใช้ได้ทุกใบ แต่ในการปลูกหนึ่งครั้ง หากดูแลดีๆ สามารถเก็บผลผลิตได้เป็นสิบปี

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : มีสาระ (เล็บครุฑ)

2.ใบตอง (จากต้นกล้วย)

แน่นอนว่าไม่มีใครเลยที่จะไม่รู้จัก “กล้วย” เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจเก่าแก่ที่คนไทยเราใช้มาไม่รู้ต่อกี่ยุคกี่สมัย เพราะความพิเศษของเจ้ากล้วยนี้ สามารถนำทุกส่วนไปใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ผล ดอก ลำต้น ใช้เป็นอาหาร กาบกล้วย ใบ ใช้สำหรับเป็นภาชนะหรือแปรรูปเป็นสิ่งประดิษฐ์ได้หลากหลาย เป็นต้น

การปลูกกล้วยให้ได้ผลผลิตที่ดี ต้องเริ่มจากปรับสภาพพื้นที่ปลูกให้มีความเหมาะสมเสียก่อน โดยปรับสภาพพื้นที่ขนาดความกว้าง 4 เมตร หลังจากเตรียมแปลงปลูกแล้วก็หว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดิน จากนั้นจึงค่อยนำหน่อพันธุ์กล้วยน้ำว้า มาปลูก ในระยะห่าง 2×4 เมตร หากใครต้องการปลูกกล้วยน้ำว้ายักษ์ แนะนำให้ปลูกในระยะห่าง 3×4 เมตร หากใครอยากได้กล้วยหวีใหญ่ๆ ควรกำหนดระยะห่างระหว่างต้นให้มากสักหน่อย เพื่อช่วยในเรื่องคุณภาพของกล้วย

การปลูกกล้วยของแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน บางคนอาจปลูกกล้วยไว้บนคันนาสัก 1-2 กอ หรือหากใครมีผืนนาก็ปลูกกล้วยล้อมรอบคันนา ก็จะมีโอกาสสร้างรายได้ก้อนโตให้กับคุณได้ จากการขายหน่อกล้วย ขายผลกล้วย หรือทำกล้วยแปรรูปป้อนเข้าตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป กลายเป็นรายได้ก้อนใหญ่เข้ากระเป๋าของคุณได้อีกทางด้วย

3.ใบบัว (บัวหลวง)

สำหรับพันธุ์ของบัวที่นิยมใช้ใบนำมาเป็นภาชนะ ก็คือ บัวหลวง เนื่องจากสามารถนำทุกส่วนมมาใช้ทำประโยชน์หลายด้านด้วยกัน อาทิ ประโยชน์จากดอก ใบ เมล็ด และเป็นไม้ประดับ เป็นต้น ปัจจุบันมีการปลูกเพื่อการค้าในประเทศ และส่งออกต่างประเทศด้วย

บัวหลวงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ในระดับน้ำไม่ลึกมากเกิน 1 เมตร มีความอ่อนไหวต่อคุณภาพน้ำสูง ชอบแหล่งน้ำธรรมชาติ สะอาด น้ำไม่เน่าเสีย ดังนั้น ระดับน้ำ และคุณภาพของน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกๆที่ต้องพิจารณาสำหรับการปลูกบัวหลวง

การปลูกบัวหลวง พื้นที่ปลูกควรเป็นพื้นที่ราบลุ่ม หรือพื้นที่มีความสูงต่ำสม่ำเสมอและใกล้แหล่งน้ำ ลักษณะของดินควรเป็นดินร่วนหรือดินเหนียว หน้าดินเป็นโคลนตมไม่หนามาก สำหรับดินร่วนปนทรายจะให้ผลผลิตของดอกน้อย ใบจะมากกว่า การเตรียมแปลงปลูกบัวหลวงจะมีลักษณะคล้ายกับการทำนา แต่จะขุดแปลงลึกกว่า ประมาณ 1-1.5 เมตร เพื่อให้กักเก็บน้ำสูง 0.5-1 เมตร หากเป็นแปลงเก่าหรือบ่อเก่าให้สูบน้ำออกให้หมด พร้อมไถ และปรับพื้นที่ให้เรียบ และกำจัดวัชพืช จากนั้น หว่านปูนขาว เพื่อฆ่าเชื้อ และปรับสภาพดิน พร้อมตากแดดบ่อประมาณ 1-2 อาทิตย์ ส่วนการหว่านปุ๋ยใช้สูตร 12-12-24 อัตรา 30 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยคอก 200 กก./ไร่ พร้อมทำการไถ และปรับหน้าดินอีกครั้ง

ขั้นตอนการปลูก แบ่งเป็น 1.การปลูกในแปลงดินแห้ง มักใช้สำหรับแปลงใหม่หรือต้องการปลูกในลักษณะของดินแห้งหลังจากการเตรียมบ่อ การปลูกในแปลงลักษณะนี้จะใช้วิธีการขุดหลุมด้วยเสียมหรือจอบลึกประมาณ 15-20 ซม. พร้อมฝังเหง้าบัว โดยให้เหลือส่วนที่เป็นตาบัวเหนือผิวดินประมาณ 1-2 ข้อ หลังจากนั้นจึงทำการปล่อยน้ำเข้าแปลง 2.การปลูกในแปลงดินโคลน เป็นวิธีการที่นิยมปลูกเนื่องจากง่าย และสะดวกกว่าวิธีแรก ด้วยการปล่อยน้ำเข้าแปลงเพียงเล็กน้อยหรือสูงกว่าผิวดิน 3-5 ซม. เพื่อให้ดินเป็นโคลนตม หลังจากนั้นจะให้เหง้าบัวเสียมลงแปลง โดยให้เหลือส่วนเหนือผิวดินประมาณ 1-2 ข้อ เมื่อปลูกเสร็จจึงทำการปล่อยน้ำให้ท่วมแปลง

การดูแล 1.การปล่อยน้ำ จะปล่อยน้ำหลังปลูกเสร็จให้ท่วมแปลงในระดับสูงกว่าปลายเหง้าบัวเพียงเล็กน้อย เมื่อต้นอ่อนบัวเริมงอก และตั้งตัวได้แล้วจึงทำการปล่อยน้ำเข้าแปลงอีกครั้ง 2.การใส่ปุ๋ย จะทำการใส่ปุ๋ยครั้งแรกเมื่อเห็นต้นอ่อนของบัวงอกแล้วประมาณ 1-2 อาทิตย์ โดยใช้สูตร 16-16-8 และอีกครั้งในระยะก่อนบัวออกดอกในสูตร 12-12-24 ทั้งสองครั้งใส่ประมาณ 30 กก./ไร่ นอกจากนี้ในระยะแรกอาจใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ร่วมด้วยในอัตรา 100 กก./ไร่ ไม่ควรใส่ปุ๋ยชนิดนี้มากเพราะอาจทำให้น้ำเน่าเสียได้

การเก็บผลผลิต

1.ดอก ถือเป็นผลผลิตหลักของการปลูกบัวหลวง เนื่องจากมีความต้องการทางตลาดมากที่สุด การเก็บดอกสามารถเก็บได้ตลอดอายุของบัว ด้วยการตัดก้านดอกยาว 30-40 ซม.

2.ใบ เป็นผลพลอยได้จากการปลูกบัว นิยมตัดใบอ่อนนำมาใช้ในการห่อข้าวของ หรือพิธีกรรมต่างๆ เช่น งานบวช

3.ฝักบัว ถือเป็นผลผลิตที่มีการจำหน่ายในท้องตลาดชนิดหนึ่งที่นิยมกันมาก เนื่องจากสามารถรับประทานสดได้ หรือนำมาทำของหวานในรูปของเมล็ดบัวเชื่อม การเก็บฝักบัวจะเก็บในระยะฝักแก่

4.เหง้าบัวหรือรากบัว นิยมนำมาทำรากบัวเชื่อมหรือนำมาปรุงเป็นอาหาร การเก็บรากบัวจะเก็บเมื่อต้นบัวมีปริมาณถี่มากเกินไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : puechkaset.com

4.กระบอกไม้ไผ่ (จากต้นไผ่)

ไผ่จะขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทรายมีการระบายน้ำค่อนข้างดี ดินเป็นกรด ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักใหญ่ ๆ คือ พันธุ์ที่เหมาะสม อุณหภูมิและดินฟ้าอากาศ, ดิน ด้านลาดของดิน ชนิดพันธุ์ไม้ที่ ใช้วิธีการขยายพันธุ์หรือวิธีปลูก 3 วิธีด้วยกัน คือ ใช้เมล็ดในการขยายพันธ์ การย้ายชำ การวิธีใช้ปล้องกิ่งตัด และใช้ส่วนของตอกับเหง้าในการขยายพันธุ์ สำหรับฤดูปลูกนั้น โดยทั่ว ไปการปลูกมักจะอาศัยธรรมชาติโดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนเป็นหลักมากกว่าอาศัยระบบการชลประทาน เพราะฉะนั้นฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุด ก็คือฤดูฝน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกันยายนของทุกปี เพราะในช่วงฤดูดังกล่าวสามารถช่วยให้ทุ่นค่าใช้จ่ายในการรดน้ำได้มาก และเป็นช่วงระยะที่ไผ่กำลังแตกหน่อดีที่สุดอีกด้วย

5.กะลา (จากมะพร้าว)

กะลา ปัจจุบันเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีผู้คนนิยมใช้บรรจุอาหารมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับลูกค้าได้ด้วย ขึ้นอยู่กับการครีเอทของเจ้าของร้าน โดยเจ้ากะลานี้สามารถใช้ใส่อาหารได้ทั้งร้อนและเย็น เช่น ไอศกรีม ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวานไทย และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ ในส่วนอื่นของมะพร้าว อย่างลำต้น ใช้ทำที่อยู่อาศัย ยอดมะพร้าวให้ทำอาหาร เนื้อมะพร้าว ใช้ทำอาหารคาวหวาน น้ำมะพร้าวก็มีรสชาติหอมหวาน นอกจากนี้ บนยอดมะพร้าวยังสามารถผลิตน้ำตาลมะพร้าวรสชาติดีได้อีกด้วย

มะพร้าว ขึ้นชื่อว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างเม็ดเงินให้กับชุมชนได้ อีกทั้งยังเป็นพืชทนแล้งได้ดี สามารถปลูกกับดินชนิดใดก็ได้ จึงไม่แปลกใจว่า ทั่วทุกสารทิศทุกภาคของไทยจะมีมะพร้าวในพื้นที่ชุมชนแทบจะทุกบ้านทุกครัวเรือนนั่นเอง ดังนั้นการจะชะลามะพร้าวมาเป็นภาชนะใส่อาหารนั้น เรียกว่าแทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย หรือถ้าหากหาซื้อก็ซื้อได้ตามชุมชน ถือว่าช่วยให้ชุมชนมีรายได้อีกด้วย

6.กาบหมาก

ปัจจุบันมีการคิดค้นนำเอากาบหมากมาแปรรูปให้เป็นจานและชามสำหรับใส่อาหาร ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น และในปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการหลายรายนำเอากาบหมากนี้มาผลิตเป็นสินค้าโดยใช้ชื่อแบรนด์เป็นของตนเอง บางรายถึงขนาดส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย
สำหรับสนนราคาขายจานกาบหมากขึ้นอยู่กับการดีไซน์และออกแบบ ซึ่งสามารถขายได้ถึงใบละ 5 – 9 บาทเลยทีเดียวโดยจุดเด่นของภาชนะจากกาบหมากนี้นั้น แน่นอนว่ามาจากธรรมชาติ 100 % ที่สำคัญยังปราศจากสารเคมีและการฟอกสี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่แตกหักง่าย น้ำหนักเบา ใส่อาหารได้ทุกเมนู ใส่ของเหลวได้ ไม่อ่อนตัว ทนความร้อนได้ดี มีกลิ่นหอม และลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ย่อยสลายได้เองใน 45 วัน